เรามีกฎหมายมากเกินไปหรือเปล่า (จบ)

เรามีกฎหมายมากเกินไปหรือเปล่า (จบ)

การที่รัฐธรรมนูญ องค์กรทั้งหลายทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGO เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้มีการแสดงออกของประชาชน

ในเรื่องต่างๆอย่างมากมายเป็นเรื่องดี เพราะเท่ากับเป็นทางออกช่วยระบายความคับแค้นของประชาชนในบางเรื่องที่ไม่มีทางออก แต่ถ้ามากเกินไป บ้านเมืองก็ยุ่งเหยิง อย่างทุกวันนี้

ที่พูดมาทั้งหมดนี้แค่กฎหมายหลักๆที่ออกเป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา เท่านั้น ซึ่งก็นับเป็นพันๆฉบับแล้ว ถ้ารวมกฎหมายลำดับรองเช่นประกาศกระทรวง ประกาศรัฐมนตรี คำสั่ง ข้อบังคับ ก็เป็นอีกกว่าแสนฉบับ

ถ้าบ้านเมืองเรายังอยู่ด้วยการออกกฎหมาย การกระทำผิดเพราะขัดต่อกฎหมายนั้นจะมีแต่เพิ่มมากขึ้น ไม่มีทางลดลงได้เลย แตะตรงไหนก็ขัดต่อกฎหมายไม่ฉบับใดก็ฉบับหนึ่งเสมอ แล้วก็ตามมาด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งแพ่ง อาญา ปกครอง ผู้บริโภค ภาษี แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา และอีกมากมายมหาศาล

เฉพาะศาลยุติธรรม ในปัจจุบันมีคดีขึ้นสู่ศาลประมาณปีละกว่า 1,000,000 (หนึ่งล้าน) คดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีประมาณ 3,000 คน โดยเฉลี่ยก็ต้องพิจารณาคดีปีละประมาณ 300 กว่าคดี หรือวันละคดี และคดีความนั้น ไม่ใช่พิจารณาวันเดียวจบ กินเวลานับเดือนนับปีหรือหลายปี จำนวนคดีความที่ล่าช้าออกไปก็มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นดินพอกหางหมู แม้ว่าจะตั้งศาลปกครอง ก็ช่วยลดแค่จำนวนแสนคดี ยังเหลือคดีที่ขึ้นศาลยุติธรรมนับล้านคดี

การลดคดีความในศาลเป็นเรื่องปลายเหตุ ต้นเหตุมาจากการออกกฎหมายพร่ำเพรื่อมากมายเกินความจำเป็น เรื่องเล็กเรื่องน้อยก็ออกเป็นกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเฉพาะ ทุกวันนี้มีผู้เสนอกฎหมายเฉพาะเยอะมาก เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริโภค หลายเรื่องมีคดีขึ้นสู่ศาลไม่กี่ร้อยคดีต่อปี ก็พยายามออกกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่นกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ที่แต่ละปีมีคดีขึ้นสู่ศาลแค่ 400-500 คดี ขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็จะออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพทย์ และกฎหมายตั้งศาลพิจารณาคดีแพทย์

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงต้องมีกฎหมายคดีผู้เสียหายผู้ซื้อบ้าน ผู้เสียหายผู้ซื้อรถยนต์ ผู้เสียหายผู้ซื้อโทรศัพท์มือถือ ผู้เสียหายซื้อกะปิน้ำปลา

รัฐบาลต้องหาทางออกเรื่องนี้จริงจังมากกว่านี้ กฎหมายเฉพาะนั้นออกมาเพื่อตอบโจทย์เฉพาะ ไม่สามารถนำไปใช้กับเรื่องอื่นได้ กฎหมายที่ใช้ประโยชน์ได้คือกฎหมายที่เป็นหลักเช่น ประมวลกฎหมายแพ่ง พาณิชย์ อาญา ที่ดิน รัษฎากร กฎหมายพวกนี้สามารถตีความใช้กับทุกเรื่องได้อยู่แล้ว ถ้าใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่จ้องแต่จะออกกฎหมายใหม่ แก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง

และไม่ช้าไม่นานก็กลายเป็นกฎหมายขยะเพราะลืมไปแล้ว ไม่ได้นำมาใช้ รวมทั้งบริบททางสังคมเปลี่ยน พฤติกรรมของประชาชนในสังคมเปลี่ยน กฎหมายใช้ไม่ได้อีกต่อไป

สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจคือทางเลือกในการยุติข้อพิพาท ที่ไม่ต้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาล เช่นกระบวนการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม อนุญาโตตุลาการ สกัดกั้นจำนวนคดีที่จะสู่ศาลตั้งแต่ต้น

ยิ่งคดีลดลง ค่าใช้จ่ายก็ลดลง ประชาชนก็เหลือเงินในกระเป๋ามากขึ้นมีเวลาทำมาหากินมากขึ้น

ไม่ใช่วันๆไม่ต้องทำอะไร รอขึ้นศาลโน้นศาลนี้ ไม่ต้องทำมาหากินอะไร

เทคโนโลยีหลายอย่างในปัจจุบันก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการยุติข้อพิพาทได้ การพิจารณาคดีที่คู่ความไม่ต้องมาศาล ต่อหน้าศาล การใช้เทเลคอนเฟอร์เรนซ์ ยิ่งในขั้นไกล่เกลี่ยยิ่งทำได้ดี

ฝากให้รัฐบาลคิด