สงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ

สงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ

สงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ

ชั่วโมงนี้ถ้าไม่คุยเรื่องสงครามการค้าคงไม่ได้ เรื่องนี้ต้องยอมรับเลยว่าเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์แทบทุกสำนัก ผมเองก็คิดว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ หลังจากที่ไตร่ตรองข้อดีข้อเสียแล้วคงจะไม่ทำจริง เพราะเว้นระยะเวลาไปเกือบปี หลังจากที่ช่วงเดือนแรกๆ หลังจากการชนะเลือกตั้งใหม่ ทรัมป์ดูเอาจริงเอาจังกับการเดินหน้าทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เช่น การเซ็นคำสั่งถอนตัวจากสนธิสัญญาหุ้นส่วนเศรษฐกิจข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า TTP (Trans – Pacific Partnership) และเซ็นคำสั่งห้ามมุสลิมจาก 7ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯ ซึ่งทั้งฝ่ายตุลาการและฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ก็ออกมาคัดค้านนโยบายของประธานาธิบดีกันตลอด พอผ่านไปสักพักเข้าปี 2017 ก็ดูเงียบแผ่วไป ทรัมป์หันไปผลักดันการลดภาษีเงินได้ให้บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกก็ขายรับวิ่งขึ้นกันถ้วนหน้าในปี 2017 ที่ผ่านมา

แต่แล้วตลาดก็คาดผิด โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม ซึ่งทีแรกก็ดูเผินๆ เหมือนไม่ได้พุ่งเป้าหมายไปที่จีนโดยตรง เพราะมีประเทศอื่นส่งเหล็กและอลูมิเนียมไปสหรัฐฯ มากกว่าจีนหลายประเทศ เช่น แคนาดา เกาหลีใต้ เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น แต่ยังไม่ทันไรสหรัฐฯ ก็ประกาศยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าดังกล่าวกับประเทศที่สหรัฐฯ เป็นพันธมิตร เหลือแต่จีนที่โดนไปเต็มๆ อีกทั้งยังประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซล่าเซลล์จากจีนอีก ถือเป็นการพุ่งเป้าไปที่จีนอย่างชัดเจน ผู้ที่รู้จักจีนดีก็คงพอจะทราบว่าจีนนั้นมองตัวเองทัดเทียมสหรัฐฯ และจะไม่ยอมให้มาเอาเปรียบหรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งจะต้องมีการโต้ตอบอย่างแน่นอน สงครามการค้าที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงกันดูเหมือนจะถูกจุดชนวนขึ้นแล้ว 

ภาพใหญ่ของการค้าระหว่างสองประเทศนี้ ก็คงพอเดาได้ว่าสหรัฐฯ นั้นขาดดุลการค้าติดต่อกันมาหลายปี โดยที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่าที่สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนถึง 3เท่า ลองมาดูลึกลงไปกันว่าสินค้าหลักที่แต่ละฝ่ายส่งออกมีอะไรกันบ้าง สินค้าหลักที่สหรัฐฯ ส่งออกไปจีน คือ เมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลือง เครื่องบินพาณิชย์ เครื่องจักร ยานพาหนะ ส่วนที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ คือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์กีฬา รองเท้า และยิ่งถ้าเจาะลงไปอีกเราจะพบว่ากว่า 90% ของคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และของเล่นที่วางขายอยู่ในสหรัฐฯ นั้นผลิตที่จีนทั้งหมด! เมื่อรัฐบาลสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า ราคาของสินค้าดังกล่าวที่วางขายในสหรัฐฯ ก็จะแพงขึ้นทันที เพราะไม่สามารถนำเข้าจากประเทศอื่นมาทดแทนได้เนื่องจากเป็นปริมาณที่สูงมาก ไม่มีประเทศใดมีกำลังการผลิตเหลือเพียงพอจึงยังคงต้องนำเข้าจากจีนอยู่ดี ประชาชนสหรัฐฯ ก็จะต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทางกลับกันสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลือง ยานยนต์ นั้นเป็นสัดส่วนไม่สูงมากเทียบกับสินค้าที่วางขายอยู่ทั้งหมดในประเทศจีน และเป็นสินค้าที่จีนสามารถนำเข้าจากประเทศอื่นมาทดแทนได้ไม่ยาก

สรุปง่ายๆ คือ ในช่วงแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนนั้น ประชาชนสหรัฐฯ น่าจะเดือดร้อนมากที่สุด เพราะสินค้าที่นำเข้าจากจีนนั้นเป็นสินค้าหลักที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปใช้สินค้าจากที่อื่นได้ ส่วนจีนนั้นสามารถเลือกไปนำเข้าจากแหล่งอื่นทดแทนได้จึงไม่เดือดร้อนเท่า ส่วนในระยะยาวแล้วนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ต้องการให้เกิดการผลิตการจ้างงานในสหรัฐฯ หากผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เปลี่ยนจากการนำเข้าจากจีนไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทนก็ไม่ตอบโจทย์ สหรัฐฯ เองก็คงต้องตั้งกำแพงภาษีกับอีกหลายประเทศรวมทั้งประเทศพันธมิตรอื่นของสหรัฐฯ ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงกว่า มีค่าแรงต่ำกว่า จนกระทั่งบริษัทต่างๆ หันไปตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ แทน สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากจะใช้เวลานานในการปรับตัวแล้วก็จะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียพันธมิตรอีกด้วย มิหนำซ้ำในระยะยาวบริษัทที่มีแนวโน้มจะเข้าไปตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ ก่อน ก็คือบริษัทจีนที่มีเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าดังกล่าวอยู่แล้ว

ส่วนผลกระทบต่อตลาดการลงทุนนั้น น่าจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและเข้ามาในหลายมิติ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างอาจจะนำมาตรการใหม่ๆ มาโต้ตอบกันอย่างยากจะคาดเดา ที่จะพอคะเนได้ในช่วงแรกนอกจากราคาสินค้าในสหรัฐฯ ที่จะสูงขึ้น ทั้งยังกดดันเงินเฟ้อเริ่มให้สูงขึ้นเช่นกัน เฟดก็คงต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็จะถูกแรงกดดันให้อ่อนค่าต่อเนื่อง ราคาหุ้นของบริษัทที่สินค้าโดนกำแพงภาษีมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ เช่นบริษัทโบอิงที่ผลิตเครื่องบิน และมอนซานโตผู้จำหน่ายเม็ดพันธุ์ของสหรัฐฯ ก็ปรับตัวลงนำไปแล้ว แต่ไม่เพียงแค่นั้นห่วงโซ่การผลิตของสินค้าเช่น ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ ก็จะโดนกระทบไปด้วย 

ในช่วงเวลาที่ตลาดยังผันผวนอยู่นี้ ผมก็อยากแนะนำนักลงทุนให้ปรับพอร์ตลดความเสี่ยงลง ลดน้ำหนักสัดส่วนการถือครองหุ้นโดยเฉพาะหุ้นต่างประเทศ เพิ่มการถือครองสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่นพวกตลาดเงิน ตราสารหนี้ระยะสั้นๆ จนเมื่อความผันผวนเริ่มลดลงและเห็นภาพชัดเจนขึ้น อย่าลืมนะครับในสงครามไม่มีคำว่าชนะ แม้จะเป็นฝ่ายมีชัยแต่ก็บาดเจ็บล้มตายอยู่ดี สงครามการค้าก็เช่นเดียวกันครับ