เรามีกฎหมายมากเกินไปหรือเปล่า (1)

เรามีกฎหมายมากเกินไปหรือเปล่า (1)

ด้วยชีวิตทำงานที่เป็นทั้งผู้สอนกฎหมายบางเรื่องและเป็นผู้ใช้กฎหมายมาตั้งแต่จบมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2515 เว้นแต่ในช่วง 14 ปีที่ไม่ได้อยู่ในประเทศ

แต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายเพราะเป็นการไปศึกษากฎหมายที่ต่างประเทศ กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวตลอดเวลา

เมื่อกลับมาเมืองไทย ก็ทำงานใช้กฎหมายทั้งในสถานะ in-house lawyer และตั้งสำนักงานกฎหมายของตัวเอง จนกระทั่งปิดกิจการหลังน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 แต่ก็มีส่วนในการทำงานที่รัฐสภาหลายครั้งตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 และ 2557 และแม้ไม่เคยเป็นกรรมาธิการในคณะใดเลย แต่ก็ทำหน้าที่ทั้งในฐานะผู้เชี่ยวชาญ อนุกรรมาธิการ และที่ปรึกษากรรมาธิการบางคณะ วนเวียนอยู่กว่ายี่สิบปี

แม้ว่าจะใช้วิชาชีพด้านกฎหมาย แต่ก็รู้สึกอยู่เสมอว่า บ้านเรามีกฎหมายมากเกินไป เกินความจำเป็นหรือเปล่า

เมื่อทำงานช่วยงานร่างกฎหมายและศึกษากฎหมายพบว่าทุกยุคทุกสมัย รัฐสภาจะมีการผ่านกฎหมายมากขึ้นทุกปี และเกือบจะไม่มีการยกเลิกกฎหมายเก่าเท่าไร ยิ่งบางรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นรัฐบาลช่วงสั้นๆ ก็ออกกฎหมายจำนวนมากกว่า 200 ฉบับ จนถึงกับยกเป็นผลงานเด่นของรัฐบาลอย่างหนึ่ง และแม้ในขณะปัจจุบัน รัฐบาล คสช.ชุดนี้ ก็ออกกฎหมายมิใช่น้อย ซึ่ง ณ วันนี้มีกฎหมายใหม่และแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติและที่กำลังพิจารณาเกือบ 300 ฉบับ

จากการศึกษาและประสบการณ์คิดว่า ยิ่งประเทศมีกฎหมายมากเท่าไร ก็แสดงถึงความด้อยพัฒนามากเท่านั้น

เพราะอะไร

ก็เพราะว่า แสดงว่าบ้านเมืองไม่ได้มีการพัฒนาในด้านจิตใจ ไม่ได้พัฒนาด้านวินัย ไม่ได้พัฒนาด้านจิตสำนึก จึงต้องออกกฎหมายฉบับแล้วฉบับเล่า เพื่อบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม

แต่ยิ่งออกกฎหมายมากเท่าไร การทำผิดกฎหมายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ก็เมื่อกฎหมายมีมากมายขนาดนั้น ไม่ว่าทำอะไรก็ต้องขัดกฎหมายไม่ฉบับใดก็ฉบับหนึ่ง เพียงแต่ว่าจะมีใครหยิบยกมาฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่ ถ้าไม่มีผู้เสียหาย ไม่มีการฟ้องร้อง ก็ไม่เป็นคดี แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนที่คิดว่าเสียหาย ก็เป็นเรื่องเป็นคดีความ

รัฐธรรมนูญบ้านเราจะว่าพัฒนาก็พัฒนา จะว่าไม่พัฒนาก็ไม่พัฒนา เพราะเรามีบทบัญญัติจำนวนมากเรื่องสิทธิเสรีภาพตั้งแต่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน จนถึงสิทธิเสรีภาพเฉพาะเรื่องไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน การแสดงความเห็น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การแสดงออก และอีกมากมาย บทบัญญัติเหล่านี้เปิดช่องให้มีการใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญของเราก็เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ง่ายๆ แค่ 20,000 หรือ 30,000 หรือ 50,000 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แล้วก็ยื่นต่อรัฐสภา

การหารายชื่อจำนวนหมื่นคนนี้ เมื่อก่อนอาจไม่ง่ายนัก แต่ในปัจจุบันเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะเพียงใช้เทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์ก็ถึงคนทั้งประเทศ รวมตลอดถึงสื่อสาธารณะและสื่อธุรกิจก็เข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลาง เกิดแหล่งระดมการเข้าชื่อเช่น change.org จึงเห็นเดี๋ยวกลุ่มโน้นเสนอร่างกฎหมายพร้อมรายชื่อ 20,000 อีกฝ่ายก็เสนอมาบ้างพร้อมรายชื่อ 30,000 รายเดิมก็ไปหารายชื่อเพิ่มเป็น 50,000

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร