หลงใหลได้ปลื้มราคา ระวังระบบจะล่มสลาย

หลงใหลได้ปลื้มราคา ระวังระบบจะล่มสลาย

เมื่อวันมอบนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศชัดในการขับเคลื่อนเศรษกิจฐานราก

โดยในส่วนของการดูแลราคาสินค้าเกษตรนั้น จะจัดทำแผนรับมือสินค้าเกษตรเป็นรายตัว และวางแผนช่วยเหลือเป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านการตลาดที่จะต้องดำเนินการก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด

ทว่าในรายการของสินค้าเกษตร ในลำดับแรกๆ ไม่มีสินค้าภาคปศุสัตว์อย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือไข่ไก่ รวมอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่เป็นส่วนที่มีความเกี่ยวพันกับเกษตรกรจำนวนมาก

เวลาล่วงเลยเกินกว่า 3 เดือนแล้ว สิ่งที่เกิดอย่างเป็นมรรคเป็นผลกับสินค้าปศุสัตว์คือ ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเนื้อหมู ที่มีราคาตกต่ำมาตั้งแต่กลางปี 2560 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสินค้าต้นน้ำอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่เป็นวัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเริ่มแรกที่โรงงานอาหารสัตว์ให้ความ "ร่วมมือกันรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาขั้นต่ำ ที่กิโลกรัมละ 8 บาท แต่ปลายปี 2558 รัฐบาลยังได้เพิ่มมาตรการกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลีต้องรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน

เวลาผ่านไปเพียง 2 ปี ภาครัฐที่เกี่ยวข้องดูเหมือนว่าจะสรุปไปแล้วว่าการ "ร่วมมือนี้กลายเป็น "หน้าที่ของโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกษตรกรภาคปศุสัตว์ไปแล้ว

ที่สำคัญการที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ได้กลายเป็นช่องทางให้พ่อค้าคนกลางเริ่มพฤติกรรมกักตุน เพราะประเมินได้ว่ามาตรการ 3 : 1 จะทำให้ราคาให้สูงขึ้น และก็ได้ผล โดยราคาล่าสุดในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 10.40 บาทแล้ว โดยคำนวณง่ายๆ ได้ว่าจำนวนขาดหายไป 1 ล้านตัน พวกเขาจะได้กำไรเพิ่ม 2,400 ล้านบาท (จากจำนวนที่ขาดหายไป 2 ล้านตัน และเป็นที่ชัดเจนว่าเงินจำนวนนี้ไม่ได้ตกถึงเกษตรกร เพราะผ่านฤดูไปเรียบร้อยแล้ว) และยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งความชื่นมื่นของภาครัฐที่สามารถช่วยทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูงขึ้น ทั้งๆ ที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 7 บาท

ภาครัฐสามารถกำหนดราคาขั้นต่ำในการรับซื้อผลผลิตได้ แต่กลับไม่กำหนดเพดานขั้นสูงไว้ จึงเป็นผลให้เกิดแรงจูงใจอย่างสูงในการทำกำไรเกินควร การที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล ได้กลายเป็นภาระของเกษตรกรภาคปศุสัตว์ไปโดยปริยาย เพราะนั่นหมายความว่าต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จะต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญเป็นการสวนทางกับราคาจำหน่ายเนื้อสัตว์ในประเทศ

การเลี้ยงหมูของประเทศไทย 97% เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ แต่ราคาที่เกษตรกรสามารถขายได้ไม่เพียงไม่กระเตื้องขึ้น กลับมีราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาหมูขุนหน้าฟาร์ม ตามราคาประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ อยู่ที่กิโลกรัมละ 45-52 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 58-60 บาท

จากปัญหาข้างต้นทำให้เกษตรกรที่สายป่านไม่ยาวพอต้องประสบกับการขาดสภาพคล่อง หลายรายต้องยอมขายขาดทุน ตามราคาที่พ่อค้าคนกลางกำหนด ซึ่งราคาที่มีการขายจริงตกต่ำมากเหลือเพียงกิโลกรัมละ 38-44 บาท เงินที่สามารถนำมาใช้หมุนเวียนในฟาร์ม จึงลดลงไปโดยปริยาย และต้องลดจำนวนการนำหมูเข้าเลี้ยง

ส่วนสินค้าส่งออกอย่างเนื้อไก่ ที่สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละ 100,000 ล้านบาท ก็เริ่มมีปัญหาไม่แพ้กัน โดยสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ระบุว่า ต้นทุนการผลิตไก่ อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 34 บาท แต่ราคาขายหน้าฟาร์ม อยู่ที่กิโลกรัมละ 28-30 บาท และยังต้องประสบกับการแข็งค่าของเงินบาท ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนการส่งออกสูงขึ้นไปด้วย

ยิ่งในปี 2561 การแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งจากประเทศบราซิล และจากประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่พยายามผลักดันการส่งออก หลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ส่งเข้าญี่ปุ่นได้ ทำให้การส่งออกไก่ของไทยมีแนวโน้มการแข่งขันที่สูงขึ้น เรียกว่าต้องเผชิญกับปัญหาทั้งในประเทศและนอกประเทศ

ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นสวนทางกับตลาดโลก คงไม่ต้องคิดหวังที่จะก้าวเป็นครัวของโลก เพราะแค่ฝันคงเป็นไปได้ยาก

ภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ก่อนที่กลายเป็นปัญหาเหมือน กรณี IUU ประมง เพราะหากไม่เร่งปรับเปลี่ยนอาจส่งผลให้การส่งออกติดหล่ม และล่มสลายภายใน ปีจากนี้ สำหรับภาคเอกชนนั้น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยระบุว่า ปัจจุบันผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีจำนวนไม่กี่ไร่ที่ได้พัฒนาให้เข้าสู่ระบบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP (Good Agricultural Practices) เทียบเท่าสากล สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้พยายามประสานกระทรวงเกษตร พ่อค้าคนกลาง ให้เพิ่มจำนวนอย่างน้อย 2 ล้านไร่ใน 5 ปี แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง 

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป การรับซื้อจากภาคเอกชนจะต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน เช่น จะรับซื้อเฉพาะผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สามารถยืนยันแหล่งที่มาได้ เพื่อเป็นการป้องกันการรุกพื้นที่ป่า เผาป่าในการเริ่มปกป้องสิ่งแวดล้อมทางหนึ่ง

2 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรฯ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดทำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เสร็จแล้ว และพร้อมที่จะใช้ได้ทันที จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันพัฒนาวิธีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยให้เป็นวัตถุดิบที่มีมาตรฐานขั้นสูงขึ้นไป แทนที่จะมัวแต่ปกป้องรักษาเฉพาะราคาอย่างเดียว หากเราไม่สามารถพัฒนาห่วงโซ่นี้แล้ว ทั้งกลุ่มปศุสัตว์จะล่มสลายในที่สุด เมื่อถึงวันนั้นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดก็จะกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความปลื้มปีติของท่านรัฐมนตรีพาณิชย์ในราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สามารถสูงขึ้นกว่าราคาที่กำหนดไว้ ได้ทำลายความสามารถในการแข่งขันของปศุสัตว์ ควบคู่ไปกับการทำลายอาชีพของเกษตรกรภาคปศุสัตว์ไปแล้ว

งานนี้คงต้องฝากถึงท่านนายกรัฐมนตรีเร่งทบทวนนโยบาย และสั่งให้เกิดการบูรณาการเพื่อให้เกิดความสมดุล เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงในรายได้ และความยั่งยืนในอาชีพของเกษตรกรอย่างถ้วนทั่ว

โดย... สมเจตน์ ศรีมาตร