Trade War ส่งผลต่อเศรษฐกิจแค่ไหน?

Trade War ส่งผลต่อเศรษฐกิจแค่ไหน?

ช่วงนี้เรื่องที่ฮอตฮิตไม่แพ้ออเจ้า เห็นจะหนีไม่พ้นสงครามการค้า หรือ Trade War ที่น่าสนใจคือ ทิศทางการตอบโต้

และโอกาสการเกิดสงครามการค้าแบบเต็มรูปแบบ และขนาดความเสียหายด้านเศรษฐกิจจากสงครามการค้า ในส่วนแรก โดยย่อๆ ผมว่าค่อนข้างชัดที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้กำแพงภาษีนำเข้ามูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นตัวขู่ให้จีนเปิดเสรีภาคการเงินและนำเข้าชิ้นส่วนสินค้าไฮเทคจากสหรัฐมากขึ้น ในบทความนี้ผมขอแชร์มุมมองในส่วนหลัง จากมุมมองในเชิงวิชาการ ด้วยการคาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสงครามการค้า จะไล่เลียงว่าบรรดาเหล่ากูรูตั้งแต่รุ่นใหญ่และรุ่นกลาง ประเมินสิ่งนี้กันอย่างไร

เริ่มจากบิดาของวิชาการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ ในความเห็นของผม อย่าง พอล ครุกแมน ซึ่งหลังๆ หันไปเอาดีด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ประจำ นสพ.นิวยอร์ค ไทมส์ ได้ใช้วิชาเรขาคณิตพิสูจน์ว่า การค้าขายแบบเสรีระหว่างประเทศภายใต้แบบจำลองการค้า ส่งผลดีต่อความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบต่อทุกประเทศ แม้ว่าในระยะหลังที่กระแสของปริมาณการค้าที่ลดลง ได้ลดความขลังของความเชื่อดังกล่าวไปมากก็ตาม ซึ่งจากที่เคยคิดว่าจะ win-win เริ่มมีบางประเทศเกิดไม่ win ขึ้นมา จึงส่งผลให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มโวยวายว่าอุตสาหกรรมที่เคยรุ่งเรืองในสหรัฐอย่างเหล็กและอะลูมิเนียม ถูกจีนใช้การอุดหนุนของรัฐบาลในการตัดราคาจนบริษัทสหรัฐต้องเสียประโยชน์

ทรัมป์คงหวังว่า บริษัทจีนจะลดราคาลงเพื่อให้ยังสามารถส่งออกมาที่สหรัฐได้ ซึ่งจะทำให้สหรัฐและทุกคน win เพราะรัฐบาลสหรัฐยังได้รายได้จากภาษีดังกล่าวเพิ่มมาอีกด้วย อย่างที่เขาเคย tweet ไว้ว่า ชนะสงครามการค้านั้นง่ายสำหรับสหรัฐ เพราะเราขาดดุลการค้าบานเบอะ

ฟังดูแล้วเป็นตรรกะแบบสงครามไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ ทว่าในความจริง ประเทศเล็กๆ ต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากภาษีนี้ และสหรัฐเองก็ต้องเจอกับการค้าที่ซบเซาลง เนื่องจากเมื่อการนำเข้าลด การส่งออกก็จะลดตาม แถมยังจะเจอจีนตอบโต้ทางการค้า โดยภาษาในเชิงวิชาการ เรียกว่าทั้งจีนและสหรัฐ กำลังพาตนเองไปสู่สถานภาพที่ทั้งคู่เสียประโยชน์ จากความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันหรือ Prisoners’ Dilemma

คราวนี้หันมาประมาณการตัวแปรทางเศรษฐกิจว่าจะแย่ลงมากน้อยแค่ไหน

เริ่มต้นจากแบบจำลองของเคนส์ ที่ระดับราคาคงที่ ให้คำอธิบายว่าหากทรัมป์ขึ้นกำแพงภาษีเหล็ก ผู้ที่ได้ประโยชน์คือโรงงานเหล็กในสหรัฐและรัฐบาลสหรัฐ ส่วนผู้เสียประโยชน์คือโรงงานจีน นี่คือสิ่งที่ทรัมป์มองเกม ทว่ายังมีผู้เสียประโยชน์อีกคือชาวสหรัฐที่จะได้ใช้เหล็กที่คุณภาพลดลง เนื่องจากโรงงานในสหรัฐมีความสามารถเชิงเปรียบเทียบสู้จีนไม่ได้ ท้ายสุดชาวสหรัฐที่เสียประโยชน์จะใช้เงินน้อยลง ในขณะที่โรงงานเหล็กสหรัฐก็ไม่ได้ใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ โรเบิร์ต มันเดล ยังบอกว่าภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐจะแข็งค่าจากการส่งออกสุทธิที่สูงขึ้น ท้ายที่สุดจึงทำให้ดุลการค้าของสหรัฐจะกลับไปขาดดุลเช่นเดิม ทำให้ผลผลิตรวมสหรัฐลดลง

มาถึงนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหญ่ใน พ.ศ.นี้ อย่าง มัวริซ ออปสเฟลด์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ได้เคยออกบทวิจัย IMF ในปี 2016 ว่าหากสหรัฐตั้งกำแพงภาษีนำเข้า 20% กับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก โดยไม่มีการตอบโต้คืน จะไปเพิ่มค่าเงินดอลลาร์ 5% และลดจีดีพีสหรัฐ 0.6% ในช่วงเวลา 5 ปีถัดไป

Trade War ส่งผลต่อเศรษฐกิจแค่ไหน?

ด้าน OECD พบว่าหากทุกประเทศตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าเพื่อตอบโต้สหรัฐด้วยอัตรา 10% สินค้าที่ค้าขายระหว่างประเทศทั่วโลกก็จะมีราคาสูงขึ้น 10% แบบยกแผง สถานการณ์นี้ถือเป็น Trade War แบบสมบูรณ์แบบ ซึ่งในขณะนี้ ค่าเฉลี่ยของอัตรากำแพงภาษี 2% สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อัตราภาษีสินค้านำเข้าอยู่ที่ 9%

โดยงานศึกษาที่เกี่ยวกับสงครามการค้านั้น OECD ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่แสดงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก หากเกิดการตั้งกำแพงภาษีนำเข้า 10% ในปี 2016 ไว้ดังนี้

การเพิ่มภาษีดังกล่าวสามารถประมาณได้ว่าจะไปลดปริมาณการค้าทั่วโลกประมาณ 6% และลดจีดีพีที่แท้จริง ระหว่าง 1.7-2.2% ดังรูป อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวน่าจะกินเวลาหลายปี จึงทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจดังกล่าว อาจจะมีเวลาให้กับทีมเศรษฐกิจของประเทศออกมาตรการผ่อนคลายต่อแรงกระเพื่อมดังกล่าว ความน่ากลัวจึงอาจจะน้อยกว่าสิ่งที่นักลงทุนคาดว่าจะเป็นจริง ความจริงยังมีประมาณการของแบงก์ฝรั่งชื่อดังบางแห่ง อาทิ โกลด์แมน ซัคส์ ที่ทำตัวเลขไว้ว่าหากมีการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าทั่วโลกอัตรา 10% และตลาดหุ้นร่วงลงมา 20% จะส่งผลให้จีดีพีสหรัฐลดลง 0.9% และของจีนลดลง 0.5%

โดยสรุป หากเกิดสงครามการค้าแบบเต็มรูปแบบ จีดีพีของสหรัฐ จีน และยุโรป หรือช้างสาร จะลดลงระหว่าง 1.7-2.2% ส่วนหญ้าแพรกอย่างบ้านเรา จีดีพีน่าจะลดลงราว 0.5% ส่วนด้านปริมาณการค้า บ้านเราอาจจะลดลงระหว่าง 2-4%