ข้อเสนอ “พื้นที่การศึกษาพิเศษ”

ข้อเสนอ “พื้นที่การศึกษาพิเศษ”

ทุกคนรู้ว่าการศึกษาไทยมีปัญหามากและพยายามแก้ไขกันในหลายรูปแบบอยู่ในปัจจุบัน ได้ผลบ้าง ยังไม่ได้ผลบ้าง ส่วนใหญ่เป็นโครงการระดับย่อยนำร่อง

 ทั้งนี้เนื่องจากเรามีโรงเรียนในความดูแลของ สพฐ.ประมาณ 30,000 โรงเรียน มีนักเรียนที่ต้องรับผิดชอบกว่า 9 ล้านคน การแก้ไขทันทีทั้งระบบจึงเป็นเรื่องที่ยากและมีความซับซ้อนเป็นอันมาก ขณะนี้มีข้อเสนอใหม่เป็นโครงการนำร่องในระดับจังหวัดซึ่งน่าสนใจมาก

โครงการนี้มีลักษณะที่เรียกว่าเป็น sandbox สำหรับปฏิรูปการศึกษาไทย กล่าวคือเป็นการทดลองโดยที่จะไม่มีผลกระทบต่อส่วนอื่นของการศึกษา sandbox คือ กล่องทรายที่เด็กเล่นตามจินตนาการ โดยทรายกระเด็นอยู่ภายใต้กล่องเท่านั้น ปัจจุบันทั่วโลกใช้วิธีนี้ในการทดลองโครงการใหม่ในระดับหนึ่งก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงใหญ่แล้วจะประสบผลสำเร็จ เช่นธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตผ่อนปรนให้บางธนาคารทำธุรกรรม โดยใช้ระบบ prompt pay ผ่าน QR code และเมื่อเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์ก็ขยายไปยังทุกธนาคาร

ข้อเสนอนี้จะมี sandbox ปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นหลักใน 6 จังหวัด จาก 6 ภาค โดยมุ่งให้มีกฎระเบียบอย่างแตกต่างจากที่เหลือ หากได้ผลก็จะนำไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป แผนการต่างๆ ได้ลงไปถึงรายละเอียดพอควร ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่ง TDRI และผู้ห่วงใยสนใจการศึกษาไทยหลายคน ได้หารือขัดเกลาและหารือ “ผู้ใหญ่” ของบ้านเมืองไปแล้วบ้าง ตอนนี้อยู่ที่ความเห็นของสังคมไทยว่าจะเอาด้วยหรือไม่

โครงการนี้เป็นไปตามวิธีคิดของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาฯ) คนปัจจุบัน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ที่ต้องการนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาการศึกษา ซึ่งกระทรวงก็ได้ทำไปแล้วหลายเรื่อง ข้อเสนอนี้แท้จริงมีมานานพอควร แต่เพิ่งได้รับการขัดเกลาให้เป็นรูปร่างจากงานศึกษาวิจัยของ TDRI ใน 4-5 ปีที่ผ่านมา ขอนำเสนอตามประเด็นต่อไปนี้

(1) เหตุที่ต้องมีกฎหมายพิเศษเพื่อสร้างพื้นที่การศึกษาพิเศษใน 6 จังหวัด ต้องการหลักประกันความต่อเนื่อง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลทดลองสร้างระบบใหม่โดยไม่ติดขัดกฎหมายเดิมที่มีอยู่ หากไม่เป็นกฎหมายใหม่กฎระเบียบเดิมจะโยงใยเป็นอุปสรรคมากจนทำไม่ได้ ให้แรงจูงใจแก่ผู้มาเข้าร่วมโครงการ และสำคัญที่สุดคือ เป็นการส่งสัญญาณความเอาจริงของรัฐบาลโดยมีการสนับสนุนระยะยาว มีธุรกิจร่วมระดมทุน ผู้คนในพื้นที่พร้อมร่วมมือและสังคมก็จะมีความหวังว่าการปฏิรูปการศึกษามีโอกาสสำเร็จ

(2) เงื่อนไขเวลา ถ้ากฎหมายผ่านได้สำเร็จในช่วง ก.ย.-พ.ย.นี้ ก็เริ่มโครงการได้ ระหว่างนี้ก็สรรหาโรงเรียน เตรียมความเข้าใจ สร้างแผนพัฒนาร่วม มีงานเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยประเด็นว่าต้องแก้ไขอย่างไร และถอดบทเรียนเพื่อการขยายต่อไป หัวใจสำคัญ คือ การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน

(3) โครงสร้างบริหารพื้นที่การศึกษาพิเศษ มีคณะกรรมการนโยบายพื้นที่การศึกษา ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรมว.ศึกษาฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ และย่อยลงมาในแต่ละพื้นที่การศึกษาพิเศษ จะมีคณะกรรมการบริหารพื้นที่ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน มีผู้แทน ผอ.ในพื้นที่ ผู้แทนครูในพื้นที่ ภาคธุรกิจในพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิและ ผอ.พื้นที่การศึกษาพิเศษ ร่วมเป็นกรรมการ ในแต่ละพื้นที่ก็จะมี ผอ.พื้นที่การศึกษาพิเศษ และล่างสุดก็คือ โรงเรียนของ สพฐ. โรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนเอกชน

(4) ระบบการศึกษาใหม่ในพื้นที่กฎหมายที่ออกจะกำหนดให้ระบบใหม่สอดคล้องกับ พ...การศึกษาแห่งชาติในเรื่องหลักสูตร การประเมินการเรียนรู้ บุคลากรการเรียนการสอน การประเมินโรงเรียน และการเงิน

(5) หลักสูตรปัญหาปัจจุบัน คือ เน้นเนื้อหามากไป บางตัวชี้วัดไม่สอดคล้องกับทักษะศตวรรษที่ 21 ตัวชี้วัดตามชั้นปียากแก่การบูรณาการ มีความเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่อง ‘หลักการและแนวทางในการปรับใช้หลักสูตรสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ’ การแก้ไขในช่วงแรกคือ (ก) ปรับปรุงจากหลักสูตรแกนกลาง (ข) ทำแผนที่ตัวชี้วัดใหม่สู่ตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลาง (ค) พัฒนาครูให้สร้างหลักสูตรเป็น (ออกแบบการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ยืดหยุ่นได้เอง) กฎเกณฑ์ใหม่จะระบุว่า “พื้นที่ฯ อนุมัติหลักสูตรใดถือว่าหลักสูตรนั้นเป็นหลักสูตรแกนกลาง”

(6) การประเมินการเรียนรู้-ข้อสอบ : ปัญหาปัจจุบันคือ การใช้ข้อสอบ O-NET ในการประเมินสัมฤทธิผลการศึกษา ทัศนคติ “เรียนเพื่อสอบ” มีการวัดผลที่มีขีดจำกัด โดยละเลยการวัดผลเชิงการนำไปประยุกต์ใช้ การแก้ไขในระยะแรกคือ (ก) ยังมีการสอบ O-NET โดยเทียบเคียงกับโรงเรียนนอกพื้นที่ (ข) พื้นที่ฯ ทำคลังข้อสอบและระบบรับฟังโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้โรงเรียนได้ใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ว่านักเรียนมีปัญหาในเรื่องใด (ค) พื้นที่ฯ ช่วยโรงเรียนพัฒนาความสามารถออกข้อสอบและการประเมินทักษะคุณลักษณะ (ข้อสอบยากง่ายอย่างเหมาะสมเป็นการวัดการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างแท้จริง) กฎหมายใหม่จะ “ให้พื้นที่ฯ ออกแบบการทดสอบนักเรียน”

(7) สื่อการเรียนการสอน : จากปัญหาปัจจุบันสู่แนวทางแก้ไข คือ อนุมัติซื้อสื่อตามเกณฑ์ใหม่ที่อิงตัวชี้วัดใหม่ตามหลักสูตรของพื้นที่ฯ กฎหมายใหม่ “สามารถใช้เงินอุดหนุนรายหัวซื้อสื่อการเรียนการสอนตามที่เขตพื้นที่ฯ อนุมัติ”

(8) ประเมินคุณภาพ : จากปัญหาสู่แนวทางแก้ไขคือ (ก) สร้างตัวชี้วัดบอกความเสี่ยงเพื่อแบ่งกลุ่มโรงเรียนและประเมินโรงเรียนตามลำดับความเสี่ยงและให้ข้อแนะนำในการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ (ข) สนับสนุนโรงเรียนให้ประเมินตนเองโดยพัฒนาวิจัยและเครื่องมือเพื่อพัฒนาคุณภาพภายใน กฎเกณฑ์ใหม่ “ให้การประเมินของพื้นที่ฯ เน้นการประเมินตามแผนการศึกษาแห่งชาติ”

(9) การเงิน : แนวทางแก้ไข คือจัดสรรงบพัฒนาโรงเรียนโดยการทำแผนพัฒนาและขออนุมัติจากพื้นที่ฯ โดยได้รับงบพัฒนาต่อแห่ง ทัดเทียมกับงบโครงการเฉลี่ย (ข) กำหนดแนวทางการใช้เงินบริจาคของโรงเรียนในพื้นที่ฯ ให้ครอบคลุมและยืดหยุ่นเพียงพอ กฎเกณฑ์ใหม่ “ให้จัดสรรงบพัฒนาให้ไม่น้อยกว่างบเฉลี่ยของโรงเรียน สพฐ.และพื้นที่ฯ เป็นผู้อนุมัติงบประมาณสำหรับแผนพัฒนาที่เสนอโดยโรงเรียน”

(10) การบริหารบุคลากร : แนวทางแก้ไข (ก) การประเมินเลื่อนวิทยฐานะยังเน้นการตรวจเอกสาร (ข) การโยกย้าย ผอ.ทำให้ขาดความต่อเนื่อง (ค) การจัดสรรบุคลากรจากส่วนกลางล่าช้า ขาดช่วง และบุคลากรที่ได้มาไม่พร้อมต่อการสอน หนทางแก้ไข (ก) ใช้เกณฑ์การประเมินเลื่อนวิทยฐานะใหม่โดยการประเมินความสามารถด้านการสอนมากขึ้น (ข) ใช้เกณฑ์พิเศษในการคัดเลือก ผอ. (หารือกระทรวงฯ ในการประยุกต์เกณฑ์พิเศษในพื้นที่ฯ) กฎเกณฑ์ใหม่ “พื้นที่ฯ สามารถกำหนดเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะขึ้นใหม่ได้”

การเลือกโรงเรียนของแต่ละภาคเพื่อเข้าร่วมโครงการเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องเลือกกลุ่มโรงเรียนที่ต้องการปฏิรูป มีกลไกขับเคลื่อนการศึกษาภายในที่เข้มแข็ง มีฐานการทำงานด้านพัฒนาอยู่แล้วและคนในจังหวัดเห็นชอบ และให้คำมั่นในการร่วมขับเคลื่อน

ข้อเสนอนี้มาจากความคิดที่ตกผลึกแล้วข้ามระยะเวลาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเข้าใจว่าสามารถเพิ่มเติมแก้ไขได้ ตราบที่มุ่งสู่เป้าหมายสำคัญ คือ การใช้พื้นที่เป็นหลักโดยให้ความอิสระในการบริหารเงินและคนหลักสูตรและการประเมิน