ไอคิวของผู้นำ

ไอคิวของผู้นำ

ท่านผู้อ่านได้เคยสงสัยไหมครับว่าบรรดาผู้นำที่เก่งๆ และสามารถนำพาองค์กรจนประสบความสำเร็จนั้นจะมีไอคิวสูงซักเพียงใด?

 โดยสัญชาตญาณเรามักจะคิดว่ายิ่งคนมีระดับไอคิวที่สูง ก็ควรจะยิ่งเป็นผู้นำที่เก่งมากขึ้น อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งค้นพบในทางที่กลับกัน

งานวิจัยชิ้นนี้ปรากฏขึ้นในวารสาร Journal of Applied Psychology ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการวิจัยในประเทศยุโรปและพบว่า โดยส่วนใหญ่แล้วผู้นำจะมีระดับไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 111 (โดยเฉลี่ยแล้วคนทั่วไปมีไอคิวอยู่ที่ 100) และโดยปกติแล้วความสามารถของผู้นำจะแปรตามระดับไอคิวของบุคคลผู้นั้น แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะสิ้นสุด และจะเริ่มแปรผกผัน (จุดจุดนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับไอคิวประมาณ 120) และยิ่งถ้าระดับไอคิวของผู้นำคนนั้นสูงถึงระดับ 128 หรือสูงกว่า จะพบว่าความสามารถของผู้นำดังกล่าวจะสวนทางการระดับไอคิวที่เพิ่มขึ้น

สรุปง่ายๆ คือ ผู้นำโดยเฉลี่ยจะมีระดับไอคิวที่สูงกว่าคนทั่วๆ ไป และความสามารถของผู้นำจะแปรผันตามระดับไอคิวที่สูงขึ้น แต่เมื่อถึงระดับไอคิวที่ประมาณ 120 ความสามารถของผู้นำนั้นจะไม่เพิ่มขึ้นเมื่อไอคิวเพิ่ม แถมถ้าผู้นำคนนั้นไอคิวสูงกว่า 128 เมื่อใด ระดับความสามารถในการนำของผู้นำคนนั้นจะลดน้อยลง

ในรายงานวิจัยดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เมื่อผู้นำที่มีไอคิวสูงๆ กลับมีความสามารถในการบริหารที่ไม่สูงตามไอคิวไปด้วย อย่างไรก็ดีได้มีการสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ที่มีไอคิวสูงมากๆ (ระดับเกิน 120 ขึ้นไป) จะมีความฉลาดมาก ความฉลาดดังกล่าวก็จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในตนเองที่สูง และนำไปสู่การขาดความเข้าใจในผู้อื่น ทำให้เกิดปัญหาในการเข้าถึง การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น

ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็สอดคล้องกับรายงานวิจัยของ McKinsey ที่ได้มีความพยายามในการศึกษาหาพฤติกรรมของผู้นำที่ดี โดย McKinsey ได้ระบุพฤติกรรมที่สำคัญของผู้นำออกเป็น 20 ประการ (อาทิเช่น นำการเปลี่ยนแปลง พัฒนาผู้อื่น ประสานการทำงานร่วมกันของทีม ชื่นชมผู้อื่น เป็นต้น) และพบว่าสำหรับผู้นำองค์กรที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมีพฤติกรรมอยู่ 4 ลักษณะที่โดดเด่นและแตกต่างจากผู้นำในองค์กรทั่วไป ประกอบด้วย 1.การสนับสนุนผู้อื่น หรือ be supportive2.มุ่งเน้นผลลัพธ์ หรือ operate with strong results orientation 3.มองหามุมมองใหม่ๆ หรือ seek different perspective และ 4.แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผล หรือ solve problems effectively

ปัญหาของคนที่มีระดับไอคิวสูงมากๆ (ซึ่งน่าจะนำไปสู่ความฉลาดมากๆ ด้วย) และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ก็คือ จะเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองสูง และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของคนเหล่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์จากการเรียนหนังสือ) ผู้ที่มีระดับไอคิวสูงจะพบว่าสิ่งที่ตนเองคิดนั้นจะถูกต้อง ทำให้เกิดพฤติกรรมและความเชื่อมั่นที่ติดตัวมาจนกระทั่งมาทำงานและก้าวขึ้นเป็นผู้นำ (ไม่ว่าจะในระดับใด)

ความเชื่อมั่นในตนเองที่สูงดังกล่าว มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับ 2 ใน 4 พฤติกรรมของผู้นำจากการศึกษาของ McKinsey นั้นคือ การสนับสนุนผู้อื่น และการมองหามุมมองใหม่ๆ เนื่องจากการจะสนับสนุนผู้อื่นได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากการแสดงออกถึงความสนใจอย่างจริงใจต่อบุคคลรอบข้าง การเข้าใจต่อปัญหาและความต้องการของผู้อื่น รวมทั้งความสามารถในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้อื่นก้าวหน้า สำหรับการมองหามุมมองใหม่ๆ นั้น จะต้องเริ่มจากการเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น และยอมรับในความคิดเห็นและมุมมองที่อาจจะแตกต่างจากของตนเอง และตัดสินใจโดยยึดจากประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก ไม่ใช่จากความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีไอคิวสูงมากๆ จะเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ หรือเราไม่ควรจะแสวงหาผู้นำที่มีไอคิวสูงๆ แต่ผู้นำที่ดีนอกจากไอคิวแล้ว ที่สำคัญคือจะต้องเปิดใจ รับฟัง และทำความเข้าใจในบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดีด้วย