เด็กและเยาวชนไทยนับล้านคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เด็กและเยาวชนไทยนับล้านคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

นายกประยุทธ์เคยพูดเรื่องว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ถ้าเขาเข้าใจและเชื่อคำพูดประโยคนี้ (ที่ยืมมาจากคนอื่น) จริง ผมขอเรียกร้องให้เขา

อ่านบทความนี้ และหาทางแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนไทยนับล้านคนที่กำลังถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง อย่างถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนลำดับต้นๆ

ผมขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสตรีและเด็กที่เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้เด็กตั้งแต่เกิดถึง 6 ขวบทุกคน เพื่อที่แม่จะได้นำไปพัฒนาเด็กได้เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง ปัจจุบันรัฐบาลให้เฉพาะคนมีรายได้ต่ำจนถึงอายุ 3 ขวบ เดือนละ 600 บาท ซึ่งมีเงื่อนไขในการรับรอง และต้องไปขอลงทะเบียนคนจนรายได้ต่ำ ทำให้คนจำนวนมากไม่ได้รับสิทธิ์นี้ การจ่ายเงินให้เด็กทุกคน จะแก้ไขปัญหาการตกหล่นได้ดีกว่า เพราะส่วนใหญ่ 80% คือคนมีรายได้ต่ำและค่อนข้างต่ำ การจ่ายให้คนรวยด้วย จะบริหารได้ง่ายกว่า ป้องกันการโกงได้ด้วย ถือเป็นการคืนภาษีให้ทุกคนเท่าเทียมกัน และให้พ่อแม่ตระหนักว่ารัฐให้ความสำคัญเรื่องพัฒนาเด็ก ควรให้ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ด้วย

นอกจากนี้รัฐควรแก้ไขปัญหาอื่นๆ ตามข้อมูลที่ผู้เขียนสรุปมาจากรายงานสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 ขององค์กรยูนิเซฟ (องค์กรเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ)ดังต่อไปนี้

มีเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 4 ปี ราว แสนคน (หรือเกือบ 20% ของเด็กวัยเดียวกัน) ที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ทั้งที่บุคคลทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ส่วนใหญ่คือเด็กในกลุ่มจนมากและจน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะพ่อแม่ย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ ทำให้เด็กเศร้า ไม่ได้รับความอบอุ่น มีปัญหาทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การเรียนและพัฒนาการใช้ชีวิต ถ้ารวมเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 17 ปี มีเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ (ที่ยังมีชีวิตอยู่) มีถึง 3.1 ล้านคน ควรสร้างงานในชนบท และกระจายการพัฒนาสู่ท้องถิ่น พ่อแม่จะได้ลดการย้ายถิ่นลง

ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางฐานะรายได้สร้างปัญหาให้กับเด็กจากครอบครัวยากจนที่เห็นได้ชัดในหลายเรื่อง เช่น ได้รับโภชนาการที่ไม่สมดุล น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ได้เข้าเรียนการศึกษาปฐมวัยและมัธยมเป็นสัดส่วนน้อยกว่า เข้าเรียนประถมหนึ่งช้ากว่า พ่อแม่มีการศึกษาต่ำกว่าและมีความรู้ความเข้าใจความสามารถในการเลี้ยงดูมีน้อยกว่า มีหนังสือและของเล่นในบ้านน้อยกว่า มีโอกาสเรียนรู้เข้าศูนย์การศึกษาปฐมวัยต่ำกว่า

แต่ปัญหาของเด็กบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เกิดจากการที่พ่อแม่ขาดความรู้ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ หรือพ่อแม่ต้องใช้เวลาทำงานเพื่อหาเงินเป็นหลัก ไม่ว่าร่ำรวยหรือจน อยู่เขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาล ก็ทำให้เด็กไทยมีปัญหาคล้ายๆ กัน และหลายเรื่องเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขได้ ถ้ารัฐบาลตั้งใจ ใช้สมอง และความหวังดีต่ออนาคตของประเทศ มากกว่าหาเสียงหรือหาทางกินเศษกินเลยจากงบประมาณ

เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน ที่ได้กินนมแม่ (ซึ่งดีต่อสุขภาพและพัฒนาการทางจิตใจสูงกว่านมวัวมาก) มีเพียงร้อยละ 10 ส่วนเด็กที่ได้กินนมแม่หลังอายุ 6 เดือนไปแล้ว ยิ่งลดลงอย่างมาก ยูนิเซฟเสนอให้แม่ลาคลอดได้ 6 เดือน และจัดให้มีที่เลี้ยงเด็กในที่ทำงานเพื่อที่แม่จะได้แวะมาให้นมลูกได้

เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานปานกลางและรุนแรงมีถึงราว 2.5 แสนคน (ราว 10.5% ของเด็กวัยเดียวกัน) จะมีผลเสียต่อทั้งเรื่องสุขภาพและการพัฒนาสมอง ขณะเดียวกันเด็กวัยเดียวกันที่มีภาวะอ้วน (น้ำหนักตัวสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเทียบกับส่วนสูง มีราว 10% พอกัน การอ้วนเกินไปก็สร้างปัญหาสุขภาพและพัฒนาการขั้นต่อไปอีกแบบหนึ่ง ภาวะโภชนาการไม่สมดุลนี้ จะมีผลเสียหายต่อพัฒนาการของเด็กต่อไปมาก เป็นเรื่องที่ควรแก้ไขที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง พี่เลี้ยง ครู โรงเรียน โดยเร่งด่วน เช่น ควรควบคุมเรื่องอาหารที่มีแต่แป้ง น้ำตาลมาก ในโรงอาหารของโรงเรียนอย่างจริงจัง

เด็กที่มีวัยควรได้เรียนชั้นมัธยมศึกษาแต่ไม่ได้เข้าเรียน มี แสนคน (14.1%) ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน การไม่ได้เรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาส่งผลถึงปัญหาอื่นตามมา เช่น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การขาดความรู้ เช่นการป้องกันโรคเอดส์และเรื่องอื่นๆ เป็นแรงงานที่ผลิตภาพต่ำหรือไม่มีงาน เพิ่มปัญหาวัยรุ่น สถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งขาดความพร้อมที่จะเป็นแม่ที่มีคุณภาพค่อนข้างสูงกว่าหลายประเทศ ตามข้อมูลของยูนิเซฟระบุว่า อัตราเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 51 คนต่อผู้หญิง 1,000คน

การเลี้ยงดูลูกอย่างไม่มีความรู้เรื่องจิตวิทยาพัฒนาการของเด็กเป็นปัญหาคนไทยทั่วไป โดยเฉพาะครอบครัวที่พ่อแม่การศึกษาต่ำ ยากจน ยิ่งมีปัญหามากแต่พ่อแม่ที่มีการศึกษาสูง รายได้สูง บางส่วนก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน กลุ่มพ่อแม่ที่ตอบสัมภาษณ์มีเกือบครึ่งหนึ่งที่เชื่อว่าการลงโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงดูและสอนเด็ก และการสำรวจเด็กอายุ 1-14 ปี ของยูนิเซฟพบว่า เด็กกว่าครึ่งเคยได้รับการอบรมโดยทำร้ายทางร่างกายและถ้ารวมการใช้ความรุนแรงหรือการทำร้ายด้านจิตใจด้วย มีถึง 75.2% เด็กในช่วงวัย 3-9 ปี ถูกพ่อแม่ผู้ปกครองใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างวินัยสูงกว่าช่วงวัยอื่น

ข้อมูลนี้มีผลต่อปัญหาด้านพัฒนาการของเด็กและวัยรุ่นไทยมาก ที่วัยรุ่นไทยก่อปัญหาความรุนแรงต่อรุ่นน้องในโรงเรียนและคนอื่นๆ ในสังคม ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากประสบการณ์วัยเด็กของพวกเขา ความเชื่อและการเลี้ยงดูเด็กแนวการใช้ความรุนแรงนี้จะส่งผลเสียหายด้านพัฒนาทางการเมืองและสังคมด้านต่างๆ ด้วย เช่นมองคนอื่นอย่างระแวงสงสัย มองแบบ 2 ขั้วสุดโต่งแบบถ้าไม่ขาวก็ต้องดำ พร้อมที่จะวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเกลียดชังต่อต้านคนที่คิดว่าเป็นคนละพวกอย่างไม่ใช้วิจารณญาณ เหตุผล และไม่มีความอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างเท่าที่ควร

ปัญหาเด็กและสตรีมีรายละเอียดมากกว่า ทางยูนิเซฟได้อธิบายว่าเป็นปัญหาอย่างไร และจะแก้ไขได้อย่างไร อ่านรายงานได้จาก www.unicef.org/thailand/tha/resources.html