“อยากให้ ครม. อ่านบทความนี้ เรื่อง พ.ร.บ. เงินฝาก”

“อยากให้ ครม. อ่านบทความนี้ เรื่อง พ.ร.บ. เงินฝาก”

อาทิตย์ที่แล้ว มีการผลักดันการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่เคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน พ.ศ.... ให้คณะรัฐมนตรี

 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ในปีนี้

เรื่องนี้ ละเอียดอ่อน เพราะรัฐบาลต้องการใช้กฎหมายฉบับนี้ โอนหรือริบเงินฝากประชาชนที่เปิดบัญชีไว้กับสถาบันการเงินที่ไม่เคลื่อนไหวมาเป็นของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายที่ลดและทำลายสิทธิ์ของประชาชนที่เป็นเจ้าของเงิน ซึ่งโดยหลักแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะเงินที่อยู่ในบัญชีผู้ฝากเป็นเงินประชาชน ที่ฝากไว้กับสถาบันการเงิน เป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างประชาชนกับสถาบันการเงิน เป็นการออกกฎหมายผิด ทั้งในแง่การไม่เคารพสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลต้องดูแล และผิดในแง่ของการทำนโยบายสาธารณะที่ควรต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ลดหรือทำลายเพื่อให้รัฐบาลได้ประโยชน์

หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ให้ข่าวว่าได้พิจารณาทั้งผลดีและผลเสีย โดยผลดีที่พูดถึงคือ การสร้างความตระหนักให้ประชาชนรู้ว่าเงินของตนสำคัญ ผลเสียคือ อาจมีความเข้าใจผิดในความหมายของเงินฝาก ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญทั้ง 2 ประเด็น วันนี้ก็เลยจะให้ความเห็นเรื่องนี้อีกครั้ง จากที่เคยให้ความเห็นไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อให้ ครม.รับทราบเหตุผลต่างๆ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  คือ กระทรวงการคลังจะทำหน้าที่ดูแลเงินฝากที่ประชาชนฝากไว้กับสถาบันการเงินที่บัญชีเงินฝากไม่มีการเคลื่อนไหวเกิน 10 ปีขึ้นไป โดยโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินคงคลังของรัฐบาล เพื่อเก็บรักษาไว้แทนสถาบันการเงิน ซึ่งจะลดภาระสถาบันการเงินในการต้องดูแลรักษาบัญชีดังกล่าว และประชาชนเองจะไม่เสียค่าธรรมเนียม (เพราะไม่มีเงินแล้ว) โดยกระทรวงการคลังจะออกขั้นตอนเพื่อให้ประชาชนเจ้าของบัญชี หรือทายาทตามกฎหมาย สามารถขอคืนเงินดังกล่าวได้ โดยจะใช้เฉพาะบัญชีเงินฝากที่มีเงินในบัญชีไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท

เรื่องนี้ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องเบาๆ อะไรของประชาชนที่เจ้าของเหมือนไม่สนใจ ก็โอนมาเป็นของรัฐ เพื่อดูแลและหาทางใช้ประโยชน์ เป็นเรื่องการจัดระบบ แต่ถ้าพิจารณาลึกลง โดยเฉพาะในแง่นโยบายสาธารณะ มีหลายประเด็นที่ ครม.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการตัดสินใจ

1.การบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ประชาชนมีกับสถาบันการเงิน เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของสถาบันการเงิน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล เพราะการฝากเงินของประชาชนที่ธนาคารพาณิชย์ เป็นธุรกรรมเชิงพาณิชย์ระหว่างผู้ฝากกับธนาคาร ผู้ฝากนำเงินมาฝาก เพราะต้องการเก็บรักษาเงินฝากนี้ไว้ในที่ที่ปลอดภัย มีความมั่นคง และได้ผลตอบแทน เช่นเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์รับฝากเงิน เพราะสามารถนำเงินฝากเหล่านี้ไปหาประโยชน์ โดยการปล่อยกู้ หารายได้จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก 

ดังนั้นในระหว่างที่เงินฝากยังอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารจึงมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลเงินฝากเหล่านี้ให้อยู่ครบถ้วน เพราะเงินฝากมีเจ้าของ พร้อมต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากตามสัญญา รัฐบาลเองก็ได้ประโยชน์จากภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้ฝากเงินจ่ายให้รัฐบาลจากดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากเงิน นี่คือพันธสัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างธนาคารพาณิชย์กับลูกค้า

“อยากให้ ครม. อ่านบทความนี้ เรื่อง พ.ร.บ. เงินฝาก”

แม้ผู้ฝากเงินจะไม่ได้เบิกถอนเงินหรือไม่มีการฝากเงิน บัญชีก็จะยังต้องเดินต่อ ดอกเบี้ยยังต้องจ่าย ยังต้องหักภาษี และเงินดังกล่าวก็ยังเป็นของประชาชน แม้จะไม่มีธุรกรรมนานกว่า 10 ปี ก็ยังเป็นเงินที่มีเจ้าของ แต่เรื่องนี้สถาบันการเงินมักจะมองว่าการดูแลบัญชีเหล่านี้ มีต้นทุน มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายและมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาบัญชี หลายธนาคารจึงเก็บค่าธรรมเนียมบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว จากเงินฝากที่ค้างอยู่ในบัญชี ผลคือตัวเลขเงินฝากที่ค้างอยู่ในบัญชีจะลดลง และในที่สุดยอดเงินในบัญชีจะเท่ากับศูนย์ กลายเป็นบัญชีที่จะไม่เป็นภาระในแง่ดอกเบี้ย นี่คือวิธีที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ใช้

ในบางประเทศ เช่น อินเดีย มีแนวปฏิบัติให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องประกาศให้เจ้าของบัญชีสามารถรับทราบ พร้อมพยายามติดต่อเจ้าของบัญชีมาใช้หรือปิดบัญชีที่มีอยู่ ซึ่งถ้าพยายามจริงๆ ประมาณ 70% ของบัญชีเหล่านี้จะกลับมาเคลื่อนไหว เพราะสาเหตุหลัก คือ ลืม ย้ายที่อยู่อาศัย ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้บัญชีนั้นอีก หรือเสียชีวิต ในเรื่องนี้ตามข้อเท็จจริง การทำให้บัญชีเงินฝากลูกค้ากลับมาเคลื่อนไหวจะมีต้นทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับการเปิดบัญชีใหม่ ดังนั้น ปัญหาบัญชีไม่เคลื่อนไหว จึงเป็นปัญหาของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องแก้ไขตามหน้าที่ (fiduciary duty) ด้วยวิธีต่างๆ แต่ที่เป็นปัญหาก็เพราะธนาคารพาณิชย์บางแห่งอาจไม่พยายามติดต่อลูกค้า จึงจำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแล เช่น แบงก์ชาติหรือ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ต้องออกเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่เคลื่อนไหว

2.เมื่อเป็นปัญหาที่สถาบันการเงินต้องดูแลตามหน้าที่ ก็ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว ที่ต้องออกกฎหมายเพื่อให้มีอำนาจริบหรือโอนเงินฝากมาอยู่ในบัญชีคงคลังของรัฐบาล การกระทำดังกล่าวจะไม่มีเหตุผลอธิบายที่ดี และมักสร้างปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น

2.1 เป็นการเอาภาระดูแลบัญชีมาเป็นภาระของรัฐบาล ทั้งดอกเบี้ยที่คงค้างอยู่ ค่าบริหารจัดการ รวมถึงการกำหนดขั้นตอนต่างๆ เพื่อสืบหาเจ้าของบัญชี คำถามคือ ทำไมรัฐต้องเอาภาษีของประชาชนมาแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้แทนสถาบันการเงิน

2.2 ในต่างประเทศที่ทำแบบนี้ มักถูกโจมตีว่า รัฐบาลทำเพราะกำลังหาเงินมาแก้ปัญหาการคลัง รัฐใช้อำนาจอย่างมิชอบเพื่อเอาเงินฝากของประชาชนมาใช้ประโยชน์ เกิดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องว่าไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เป็นกระแสที่สร้างปัญหาต่อรัฐบาล

2.3 สร้างความไม่มั่นใจต่อกระบวนการออกกฎหมายของประเทศ ว่าทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือส่วนรวมหรือไม่ และเป็นตัวอย่างของการออกกฎหมายที่มีเหตุมีผลหรือไม่ เพราะการออกกฎหมายเพื่อโอนเงินฝากดังกล่าวชัดเจนว่าเป็นการออกกฎหมายที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ประโยชน์จึงตกอยู่กับรัฐบาลที่ได้เงินฝากของประชาชนไป และสถาบันการเงินที่ไม่ต้องมีภาระในการดูแลบัญชีเหล่านี้ตามหน้าที่ ที่กลัวกันก็คือ หากมีการใช้อำนาจในลักษณะเดียวกันกับทรัพย์สินอื่นๆ ที่ประชาชนมี เช่น บ้าน ที่ดิน และพันธบัตรรัฐบาล ประชาชนและนักลงทุนก็จะไม่มั่นใจในระบบการออกกฎหมาย กระทบความน่าเชื่อถือของระบบการเงิน

ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปยุ่งกับปัญหาที่เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงิน เป็นการออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ์ประชาชน ที่สำคัญ ความจำเป็นหรือเร่งด่วนในเรื่องนี้ก็ไม่มี เหตุผลทางวิชาการที่จะสนับสนุนก็ไม่มี และมีความเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะการคลังของประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นในหลักการดำเนินนโยบายสาธารณะของรัฐบาล

จึงขอเขียนและเผยแพร่บทความนี้ให้ทราบทั่วกัน