สงครามการค้ายังกดดันหุ้นไทย

สงครามการค้ายังกดดันหุ้นไทย

สงครามการค้ายังกดดันหุ้นไทย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งในวันนี้ทาง ASL Research จะมาสรุปให้ผู้อ่านได้เข้าใจกันครับ

เริ่มกันที่ประเด็นทางเศรษฐกิจของไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน ก.พ.2561 ส่งออกได้ 102,217 คัน เพิ่มขึ้น 4.05% จากเดือน ก.พ. 2560 โดยมีมูลค่าการส่งออก 52,273.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.72% จากเดือน ก.พ. 2560 โดยตลาดตะวันออกกลาง และตลาดอเมริกากลางและอเมริกาใต้เป็นบวกมา 4 เดือนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ตลาดออสเตรเลียยังคงเติบโตได้ดี ทั้งนี้ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – ก.พ. 2561) มีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 184,284 คัน เพิ่มขึ้น 3.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 94,287.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน ซึ่งทางฝ่าย Research มองว่ากลุ่มยานยนต์ในประเทศไทยจะสามารถเติบโตต่อไปได้ต่อเนื่องจากปี 2560

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.พ. 2561 อยู่ที่ 89.9 จาก 91.0 ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา สาเหตุที่ลดลงมาจากธุรกิจ / อุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลางปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สาเหตุจากความกังวลต่อต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างขั้นต่ำที่เตรียมปรับขึ้น รวมทั้งตลาดมีการแข่งขันสูง

ต่อมาเราขอพูดถึงภาพรวมการส่งออกไทยในเดือน ก.พ. 2561 ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในเดือน ก.พ. 2561 โดยการส่งออก มีมูลค่า 20,365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.3% ทั้งนี้ยอดขายภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวด้วยการส่งออกที่เติบโตมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เอกชนลงทุนเพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังคงเติบโตดี  การถือครองรถยนต์คันแรกครบ 5 ปี การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล 

นอกจากนี้ยังประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 2561 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ 3.9% ซึ่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์โลก และการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามด้วย

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรโลกที่มีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศด้วย

และอีกประเด็นอย่างสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวของไทยที่ในเดือน ก.พ. 2561 เติบโตได้สูงถึง 15%YoY จากนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยเรามองว่าเป็นการช่วยพยุงค่าเงินบาท และสามารถลดความกังวลด้านเงินทุนไหลออกที่จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนค่ามากเกินไป

และสุดท้ายทางฝ่าย ASL Research คาดการณ์แนวโน้มตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มผันผวนระยะ 1 – 2 สัปดาห์ในกรอบ แนวรับระยะสั้น 1,780 และแนวรับหลัก 1,761 การปรับตัวลงคาดจะมีแรงซื้อกลับเข้ามา และเป็นจุดรับสำหรับระยะกลางในลักษณะเพิ่มการลงทุนเมื่อทดสอบแนวรับ 1,761 ทั้งนี้ความผันผวนหลักขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ ในขณะที่รัฐบาลจีนออกมาตอบโต้ด้วยการเตรียมมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐวงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์ โดยพุ่งเป้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐจำนวน 128 รายการ หากไม่มีการตอบโต้ที่เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกจะบรรเทาลง

การปรับตัวของ SETเป็นโอกาสในการถือครองความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามลำดับแนวรับดังกล่าว(1,780 / 1,761จุดซื้อถือระยะกลางบางส่วน) และมีโอกาสที่จะกลับตัวขึ้นเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานรายหลักทรัพย์ไม่เปลี่ยนแปลงในทางลบ กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร มีความผันผวนสูงตามภาวะปัจจัยข้างต้น จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายขอการเข้าซื้อ โดยแนวต้านของ SETอยู่ที่ระดับ 1,796-1,800 แนวต้านระดับเดือน มี.ค. 1,825-1,830 ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 2/2561 ในวันที่ 28 มี.ค. นี้ โดยเฉพาะแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทย

กล่าวโดยสรุป ปัจจัยสนับสนุนต่อเศรษฐกิจไทยประกอบไปด้วย การเติบโตของการส่งออกไทย ที่ขยายไปในทุกตลาดอย่างมีนัยยะ พร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่มีกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นจากนโยบายท่องเที่ยวเมืองรอง ตลอดจนผลดีของการแข็งค่าของเงินบาทที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมที่จะสามารถปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีความทันสมัยมากขึ้นและการคงตัวของอัตราดอกเบี้ยในไทยที่อยู่ในระดับต่ำ เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยกดดันประกอบไปด้วย การใช้มาตรการลดค่าเงินของคู่ค้า ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ หนี้ภาคครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน