Everybody Lies

Everybody Lies

มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

โกหกไม่ดี แต่ในยุค 4.0 คนชอบเรื่องโกหกมากกว่าเรื่องจริง

Soroush Vosoughi, a data scientist at MIT ศึกษาข้อมูลการแชร์ทาง Twitter ตั้งแต่ปี 2013 ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Science ว่า ข่าวโกหก false news มีอำนาจทะลุทะลวงในโลกโซเชียลมีเดียชนิดที่ทิ้งเรื่องจริงไม่เห็นฝุ่น

ข่าวปลอมไปถึงผู้รับเร็วและกว้างกว่าข่าวจริง 6 เท่า

คนชอบแชร์ข่าวปลอมในทุก ๆ เรื่อง ธุรกิจ ท่องเที่ยว บันเทิง กระทั่ง วิทยาศาสตร์ แต่ที่เป็นอันดับ 1 คือข่าวโกหกเรื่องการเมือง

แม้กระทั่งรู้ทั้งรู้ว่าข่าวนั้นน่าจะโกหก คนส่วนมาก 70% ยังเลือกที่จะแชร์มากกว่าข่าวที่เป็นเรื่องจริงและมีสาระ

ข่าวปลอมไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ AI ไม่สามารถคัดกรองเรื่องจริงจะเรื่องมั่ว หุ่นยนต์ส่งต่อข่าวจริงในอัตราส่วนเท่าๆกับข่าวปลอม แต่มนุษย์เป็นคนทำให้เกิดผลนี้ขึ้น เพราะสมองเราชอบเรื่องปลอมมากกว่าเรื่องจริง

Vosoughi และอาจารย์ Sinan Aral อธิบายว่า การแชร์ข่าวมีลักษณะไม่เหมือนกัน เช่น หากดาราสักคนเช่น อั้ม โพสต์อะไรออกไป อาจจะได้รับการแชร์ 1,000 ครั้งโดยคนหลักแสนคนที่ตามฟอลโลว์เธออยู่ แบบนี้เป็นการแชร์แบบกว้างแต่ตื้น

ในขณะบางเรื่อง อาจได้รับการแชร์แบบแคบแต่ลึก เช่น ข่าวสัตว์สงวนถูกฆ่าตายโดยผิดกฎหมาย คนเริ่มแชร์ไม่ใช่อั้มอาจมีเพื่อนเพียงไม่กี่คน แต่การแชร์นั้นได้รับการแชร์ต่อ ๆ ไปโดยเพื่อนของเพื่อนของเพื่อน ก็อาจจะไปถึง 1,000 ครั้งได้เช่นเดียวกัน

แต่ไม่ว่าจะแชร์กว้างหรือแชร์ลึก ข่าวปลอมเอาชนะข่าวจริงได้ในทั้งสองมิติ มันไปถึงคนจำนวนมากกว่า และเจาะทะลวงได้ไกลกว่า

ความน่ากลัวคือ ในโลกที่ uber-connected และ uber-populated อย่างทุกวันนี้ ทุก ๆ คนมี WMD – Weapon of Mass Destruction อยู่ในมือตัวเอง สามารถเขียนอะไรก็ได้ที่ส่งผลต่อโลกอีก 99%

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? และควรทำอย่างไรในโลกยุคนี้ที่ “ใคร ๆ ก็โกหก”

ข้อคิดของผู้นำสมอง

1. Why do we prefer fake news อันนี้ตอบง่าย เพราะสมองเราชอบเรื่องสนุกมากกว่าเรื่องสำคัญ KPI ของสมองคือ survival การเอาตัวรอดของมนุษย์ในยุคหลังสุด ขึ้นอยู่กับการอยู่รวมเป็นกลุ่ม และการได้รับการยอมรับของคนอื่น ๆ ในสังคม ฉะนั้นมันเรียนรู้ให้ทำอย่างไรก็ได้ให้ “มีตัวตน” จะได้ไม่เป็นม้าลายตัวสุดท้ายของฝูง ข่าวปลอมมีข้อได้เปรียบข่าวจริงหลายด้าน มันสร้างอารมณ์ร่วม สร้างบทสนทนา สร้างความแปลกใหม่ให้สมอง เราจึงเห็นการกระทำของคนในยุคปัจจุบันหลายครั้งที่ไม่แคร์ว่าจะเป็นเรื่องไม่จริง ขอแค่ให้เป็นข่าว เมื่อมีผลลัพธ์ทางลบก็ใช้ทางออกง่าย ๆ ว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์”

2. Executive Function เรื่องที่ง่ายและเรื่องที่สนุกอาจไม่ใช่เรื่องที่ดี หากมองเป็นครั้งคราวเราอาจคิดว่าแชร์ข่าวขำ ๆ บ้างไม่เห็นเป็นไร แต่ผู้นำต้องฝึกมองในภาพใหญ่และมองให้ไกลออกไปในอนาคต จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อการนินทาโกออนไลน์? จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมนุษย์ไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างความจริงกับเรื่องโกหก? จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนเสื่อมศรัทธาในระบบ? เมื่อพนักงานยินดีเชื่อข่าวทางเน็ตมากกว่าสารจาก CEO? สังคมจะเป็นอย่างไรเมื่อคนไร้ซึ่ง trust ในกันและกัน? ทางออกคือเราต้องฝึกสมองส่วนหน้าให้เข้มแข็งสู้กับสมองส่วนหลัง ได้รับข่าวอะไรมาจงถามตัวเองว่า What should I do to not make the situation worse? เพราะบางทีการไม่ทำอะไรอาจเป็นทางออกที่มีประโยชน์ที่สุด

3. Be Mindful ผมเปิดเรื่องวันนี้ด้วยศีล วิธีรักษาศีลนั้นคือการมีสติ สิ่งที่ผู้นำในโลก Open Source ต้องทำคือการฝึกสมาธิ คำอธิบาย Mindfulness Practice ที่ผมชอบที่สุดคือมันเหมือนการออกกำลังสมอง ผู้นำสมัยนี้หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากกว่าสมัยก่อน หลายคนเข้าฟิตเนสเล่นโยคะทุกวัน บางท่านวิ่งมาราธอนปั่นจักรยานเป็นร้อย ๆ กิโล นั่นคือการออกกำลังร่างกาย ยุค 21st Century ผู้นำต้องออกกำลังสมองด้วย ฝึกมันให้ช้าลงสักนิด เหมือนเวลาเรายกเวตหนัก ๆ เพื่อให้ยามปกติเราเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่วขึ้น สมองส่วน EF ทำงานได้ดีขึ้นเมื่อมันได้รับการฝึกเช่นนี้

โลกที่คนแชร์ข่าวปลอม ๆ และเรื่องโกหกออกไปคงไม่มีทางควบคุมให้หายไปได้ วิธีเดียวในการสู้กับมันคืออย่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา อย่าคิดง่าย ๆ แค่ว่าสนุกและเรียกไลค์เรียกแชร์

สิ่งที่ทำให้มนุษย์เอาชนะในการพัฒนาเหนือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในโลกคือสมองส่วนหน้า อย่าปล่อยให้สมองส่วนหลังพาเรากลับไปอยู่ในยุคที่อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลครับ!