มองหาหุ้นด้วย Quantitative

มองหาหุ้นด้วย Quantitative

ความกังวลของตลาดหุ้นในเรื่องสงครามการค้า อาจส่งผลให้ราคาหุ้น และดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอีกครั้ง

ตลาดหุ้นไทยกลับมาเข้าช่วงเวลาของความผันผวนอีกครั้ง เมื่อประเทศสหรัฐพยายามลดดุลการค้าด้วยมาตรการกีดกันด้านภาษีกับประเทศต่างๆ โดยมุ่งเน้นไปที่การลดดุลการค้าจากจีน แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากหลายประเทศว่า การกีดกันการค้าเป็นแนวความคิดที่ย้อนยุค และตัวเลขในอดีตแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกนั้นไม่มีใครได้ประโยชน์จากการกีดกันการค้าก็ตาม

อย่างไรก็ดี เรายังคงคาดการณ์ว่า การตอบโต้ด้านการกีดกันการค้าน่าจะอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากรัฐบาลทุกประเทศน่าจะมีการเปิดโต๊ะเจรจาในเชิงสร้างสรรค์ และพยายามสร้างสมดุลการค้าระหว่างประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ และ เทคโนโลยี หากการโต้ตอบด้านภาษีนำเข้ารุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มุมมองของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อแย่ลง ซึ่งสุดท้าย ธนาคารกลางสหรัฐคงพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 3 ครั้งอย่างที่หลายคนคาด

อย่างไรก็ดี ความกังวลของตลาดหุ้นในเรื่องสงครามการค้า อาจส่งผลให้ราคาหุ้น และดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้เราสามารถมองเป็นโอกาสของการซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแรงในมูลค่าที่ต่ำลง แต่ปัญหาคือ เราจะพิจารณาหุ้นบริษัทไหนดี เมื่อความกลัวเข้าครอบงำจิตใจ
จากข้อมูลสถิติในอดีต เราพบว่าอัตราการขยายตัวของกำไรบริษัท (EPS growth) อัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (Return on equity) และอัตราการทำกำไร (Profitability) เป็นสามปัจจัยที่มีน้ำหนักอย่างมากต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนโดยทั่วไป แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านประเมินข้อมูล เพราะจำนวนบริษัทจดทะเบียนมากมายในตลาดหลักทรัพย์

บล.บัวหลวง ได้พัฒนาระบบการช่วยกลั่นกรองหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ซึ่งจะทนต่อแรงเสียดทานได้ดีในภาวะตลาดหุ้นผันผวน พร้อมรวบรวมไว้ในรายงาน Quantitative strategy ทำให้เราสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างเป็นระบบ ท่ามกลางจิตใจที่นิ่งสงบมากกว่าการนั่งดูราคาหุ้นแกว่งตัวในกระดาน การเตรียมตัวเลือกหุ้น และ วางแผนลงทุนล่วงหน้าก่อนที่ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงแรง ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนประสพผลสำเร็จปฎิบัติกัน มากกว่าการพิจารณาการซื้อขายหุ้นด้วยการวิธีทางเทคนิคเท่านั้น

คำถามคือ เราจะเปรียบเทียบหุ้นในกลุ่มธุรกิจแตกต่างกันอย่างไรบนมาตรฐานเดียวกัน เช่น การเปรียบเทียบธุรกิจโรงแรม กับธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในทางปฎิบัติ ฝ่ายวิจัยฯของบล. บัวหลวง จำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านสถิติมาช่วยเพื่อทำให้เราสามารถพิจารณาเปรียบเทียบได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถเข้าไปดูได้ใน เวปไซค์ของ บล. บัวหลวง (www.bualuang.co.th)

สำหรับการใช้รายงานดังกล่าว หากท่านเป็นนักลงทุนที่สามารถวิเคราะห์ทางเทคนิคได้ด้วยตัวเอง เราจะใช้ประโยชน์จากรายงานนี้โดยการเข้าไปที่ตาราง Fundamental approach และพิจารณาหุ้นที่เปรียบเทียบเชิงปัจจัยพื้นฐาน และท่านเลือกจังหวะเข้าซื้อขายหุ้นด้วยตัวท่านเอง แต่หากท่านนักลงทุนรายใหม่ที่ไม่เข้าใจการวิเคราะห์หุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน และเทคนิค ผมแนะนำให้ท่านพิจารณาหุ้นในตาราง Fundamental-Cum-Technical approach โดยหุ้น 10 อันดับแรก จะโดดเด่นสุดทั้งด้านปัจจัยพื้นฐานและเทคนิค

การพัฒนาตารางวิเคราะห์เปรียบเทียบหุ้นดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้อย่างมาก และเมื่อเราควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตเราได้ดีขึ้น ระยะยาวพอร์ตการลงทุนของท่านจะสามารถได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นได้ต่อเนื่อง และทำให้บรรลุเป้าหมายลงทุนของท่านได้ในที่สุด