เก็บภาษีคริปโต เรื่องยุ่งๆที่...กำลังจะเกิดขึ้น

เก็บภาษีคริปโต เรื่องยุ่งๆที่...กำลังจะเกิดขึ้น

วันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล

ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยจะมีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของเงินปันผล ผลกำไรหรือส่วนต่างกำไรจากการซื้อขาย (แคปปิตอลเกน) โดยเสียภาษีไปก่อน และเมื่อถึงเวลาปลายปีให้นำมาคำนวณรวมเป็นรายได้เพื่อยื่นชำระภาษี ถ้ารายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษี ถ้าไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งผมมองว่าหลังจากการประกาศบังคับใช้จริงๆ คงจะนำมาซึ่งเรื่องยุ่งๆ ที่จะตามมาอีกมากมายดังนี้ครับ

1. การเก็บภาษีจากส่วนต่างกำไรจากการซื้อขาย...ไม่ใช่เรื่องง่าย

ผมเองมองว่า ประเทศไทยไม่ค่อยคุ้นเคยกับการเก็บภาษีจากส่วนต่างกำไรจากการซื้อขาย เช่น การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อขาย ทำให้ไม่มีใครคอยไปตามดูว่า ใครขายหุ้นได้กำไรเท่าไร ส่วนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเราก็ไม่มีระบบเก็บภาษีจากราคาขายจริง แต่เก็บค่าโอน ภาษีอากร และภาษีธุรกิจเฉพาะโดยการนำราคาประเมินมาใช้คำนวณ ดังนั้นการจัดเก็บภาษีกำไรจากส่วนต่างกำไรจากการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล...จึงไม่น่าจะทำได้ง่ายๆ ในเวลาที่ค่อนข้างจำกัดเช่นนี้

ผมคิดว่า ในช่วงแรกที่จะเก็บภาษีประเภทนี้ ทางเจ้าหน้าที่คงจะใช้ฐานข้อมูลจากรายงานการซื้อขายของบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลเป็นหลัก โดยไม่น่าจะมีระบบการตรวจสอบว่า การซื้อขายนั้นๆ ตรงตามความเป็นจริงหรือไม่? ซึ่งการที่จะมีระบบการตรวจสอบการซื้อขายจริงๆ เกิดขึ้นนั้น ผมเองก็มองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะต้องออกสเปค ประกวดราคา รวมถึงการตรวจสอบระบบว่าใช้ได้หรือไม่ 

ขณะเดียวกันก็ต้องกำหนดสเปคของระบบฐานข้อมูลของเอกชนให้ปฎิบัติตามข้อกำหนดของทางการ เพื่อให้ฐานข้อมูลสามารถถ่ายโอนและยืนยันความเป็นจริงได้ ทั้งหมดนี้คงกินเวลาไม่น่าจะต่ำกว่า 3-5 ปี แต่รัฐบาลจะรีบบังคับใช้ในเวลาใกล้ๆนี้แล้ว คุณผู้อ่านก็คงมองออกว่า มันจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายซักเพียงใด?

2. ระบบนิเวศของเงินสกุลดิจิทัล...ไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศไทย

คุณผู้อ่านหลายท่านคงคุ้นเคยกับระบบนิเวศน์ (Ecosystem) เป็นอย่างดี หุ้นไทยระดมทุนและเริ่มต้นขายในประเทศไทย ซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดหลักทรัพย์ของเมืองไทยเท่านั้น ดังนั้นระบบหุ้นไทยจึงเป็นระบบปิด และนั่นหมายถึงว่า เราสามารถจะตรวจสอบได้ว่านักลงทุนท่านใดซื้อมาเท่าใด...ขายไปเท่าใด...และได้กำไรเท่าใด

ในขณะที่ระบบนิเวศน์ของเงินสกุลดิจิทัลเป็นระบบเปิด เท่าที่ผมเห็นมา เงินสกุลดิจิทัลทุกสกุลออกและเริ่มระดมทุนในต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ยกเว้น JFin Coin ของค่ายเจมาร์ทสกุลเดียวเท่านั้นที่ระดมทุนและเริ่มต้นขาย (Initial Coin Offering-ICO) ในประเทศไทย คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ถ้าเรานำเงินสกุลดิจิทัลสกุลใหม่ๆ มาจากต่างประเทศแล้วนำมาขายในเมืองไทย จะเก็บภาษีอย่างไร? 

ผมคิดว่า คำถามนี้...อีกไม่นานก็ต้องเกิดขึ้นแน่ เอาแค่...การตรวจสอบและยืนยันการซื้อและขายเงินสกุลดิจิทัลตามข้อแรก...ก็นับว่าสาหัสสากรรจ์มากแล้ว ถ้าคิดว่าจะไปตรวจสอบต้นทุนที่แต่ละคนซื้อมาจากนอกประเทศ ผมมองว่า...ชาตินี้คงจะไม่มีทาง จึงไม่ทราบว่าทางผู้ออกนโยบายได้คิดไตร่ตรองปัจจัยข้อนี้ไว้ด้วยหรือเปล่า?

ทั้งนี้ เรายังไม่ได้รวมถึงเงินสกุลดิจิทัลบางสกุลที่เกิดมานานแล้ว แต่นักลงทุนได้โอนมาจากต่างประเทศ จะตรวจสอบต้นทุนของนักลงทุนอย่างไร? ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็คงจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคงจะต้องแก้ปัญหากันจนหัวฟูแน่

3. การนำเงินสกุลดิจิทัลที่ซื้อในไทยไปลงทุนหรือไปใช้ในต่างประเทศ

ต่อเนื่องจากหัวข้อที่ 2 ที่ผมกล่าวไปแล้วว่า เงินสกุลดิจิทัลอยู่ในระบบเปิด นั่นหมายถึงว่า เราไม่สามารถที่จะปิดกั้นคนไทยไม่ให้โอนเงินสกุลดิจิทัลที่ซื้อในไทยออกไปต่างประเทศได้ ดูตัวอย่างง่ายๆ เช่น ซื้อด้วยเงินบาทแล้วนำไปเทรดที่เว็บไซต์ต่างประเทศ โดยเฉพาะเว็บไซต์ประเภทที่รับแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลกับเงินสกุลดิจิทัล (Crypto-to-Crypto Exchange) เช่น www.binance.com, huobi.pro และอีกมากมาย ซึ่งจะทำให้เราต้องเจอกับ 2 ปัญหาด้วยกันคือ 

1. เงินบาทไหลออกไปนอกประเทศ และ 2. เราคงจะสามารถเก็บภาษีจากธุรกรรมเงินสกุลดิจิทัลได้น้อยมาก

ในประเทศญี่ปุ่น วันที่ 1 เม.ย. 2560 รัฐบาลได้ประกาศให้เงินสกุลดิจิทัลบิทคอยน์สามารถชำระเงินได้ถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นการค้าขายสินค้าต่างๆ ด้วยบิทคอยน์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ซึ่งมักจะพบชาวต่างประเทศนำบิทคอยน์ของตนไปซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะย่านอากิฮาบาราในกรุงโตเกียว ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นย่านร้านค้าที่ขายสินค้าประเภทอิเลทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ก็มีป้ายต้อนรับการใช้บิทคอยน์แทบจะทุกร้าน 

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงบรรดาเว็บไซต์ออนไลน์อีกมากมายหลายแห่งที่ยังขายสินค้าโดยใช้บิทคอยน์และเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งกฎหมายที่จะออกนี้คงไม่สามารถยับยั้งไม่ให้โอนเงินสกุลดิจิทัลที่ซื้อในไทยไปซื้อสินค้าในต่างประเทศได้

และนี่คือส่วนหนึ่งของปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายเก็บภาษีเงินสกุลดิจิทัล ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ หลังการบังคับใช้ ประเทศไทยเราคงจะได้ภาษีประเภทนี้ไม่มากนัก แต่ไทยเองกลับสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และอาจจะถึงขั้นทำให้เสียโอกาสที่จะนำพาประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างที่มุ่งหวังไว้

อ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ www.doctorwe.com

โดย... 

ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์