Sharing Economy เศรษฐกิจ “ติดยืม”

Sharing Economy เศรษฐกิจ “ติดยืม”

Sharing Economy เศรษฐกิจ “ติดยืม”

วันนี้นั่ง Grab bike มาทำงานครับ ด้วยต้องการหนีรถติดกลางกรุงและที่สำคัญเมื่อมองสตางค์ในกระเป๋าแล้วก็เหลือเยอะกว่าการขับรถอยู่พอควรทีเดียว ระหว่างนั่งมาด้วยความเป็นคนทำธุรกิจก็พลันให้นึกถึง model ธุรกิจที่บรรดา “นักจับคู่” สร้างรูปแบบการ “ยืม” มาให้พวกเราใช้งาน คิดแล้วก็เห็นดีด้วย แต่อีกมุมก็มีส่วนที่ยังเห็นต่าง เอาละในเมื่อความคิดยังคงคั่งค้างอยู่ในหัวก็ขอร้อยเรียงเป็นตัวอักษรให้ท่านผู้อ่านคิดตามกันดังนี้ครับ

Sharing Economy คำนี้ไม่ได้เป็นคำที่สดใหม่แต่อย่างใด มีการพูดถึง Sharing Economy และมีการสร้างธุรกิจที่ใช้แนวคิด Sharing Economy ให้ประสบความสำเร็จกันแล้ว เช่น Uber Airbnb ซึ่งเป็น case ที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดกันอยู่เสมอ ก็ในเมื่อมันสามารถสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ ก็หมายความว่ามันก็มีจุดดีที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภครวมถึงผู้ต้องการให้บริการ ผมนั่งคิดอยู่นานว่าจะยกเรื่องใดมาเล่าความให้ผู้อ่านเข้าใจ โดยไม่อิง case Uber หรือ Airbnb เพราะเข้าใจว่าเบื่อแล้ว (ผมก็เช่นกัน) เรื่องนั้นต้องเป็นเรื่องที่ผู้อ่านต้องสามารถเข้าใจได้ทันที และถ้าให้ดีต้องเคยมีประสบการณ์ในอดีต (past experience) ร่วมด้วย อ่อพอจะนึกออกอยู่เรื่องหนึ่ง...

สมัยเด็กเป็นคนชอบอ่านหนังสือครับ มีทั้งซื้อเองบ้าง (เฉพาะเล่มที่ชอบ) อ่านห้องสมุดบ้าง แต่ส่วนใหญ่ “ยืม” ครับ เพราะคิดว่าอ่านครั้งเดียว ไม่คุ้มที่จะซื้อ มีแบบที่ยืมเพื่อนบ้าง ยืมร้านหนังสือบ้าง (เมื่อก่อนมีร้านให้เช่าหนังสือเยอะนะครับสำหรับคนที่ไม่ทัน) ข้อดีคือประหยัดครับ หนังสือเล่นหนึ่งมีราคาตั้งแต่ร้อยกว่าบาทถึงหลายร้อยบาท เราอ่านจริงๆ 2-3 วันก็จบ ค่าเช่าวันละ 5 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง ก็ถือว่าคุ้มมากครับ บางเล่มอ่านแล้วไม่ชอบก็คืนจ่ายแค่วันเดียว แบบนี้ก็ประหยัด ส่วนเล่มที่ื้ซื้อบางเล่มหน้าปกดีแต่ซีลไว้ เราก็วัดใจครับซื้อมา อ่านไปได้ไม่กี่หน้าก็วางไว้เป็นของประดับโต๊ะ อ่านมาถึงตรงนี้ก็จะดูว่า Sharing Economy ดีไปเสียหมด แต่เดี๋ยวครับ ประสบการณ์การยืมหนังสือไวเด็กสอนไว้ว่า Sharing Economy ไม่ได้ดีไปเสียหมดอย่างที่คิด

จำได้ว่ามีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งต้องรอนานมากกว่าจะมีคนมาคืนด้วยความที่ร้านหนังสือมีเล่มเดียวต้องรอคนยืมก่อนหน้าเอามาคืน เลิกเรียนก็ต้องแวะไปเพื่อถามไถ่ว่าหนังสือมาหรือยัง เกือบอาทิตย์ครับกว่าที่เราจะได้มีโอกาสได้รับการ Sharing เป็นคืนวันอังคาร หลังจากถึงบ้านตั้งหน้าตั้งตาอ่านไปได้กว่า 200 หน้า จนมาถึงตอนสำคัญปรากฏว่า โดนฉีก!!! ตอนนั้นจำได้ว่าในใจคิดว่านี่เป็นวาระแห่งชาติอยากจะหาตัวผู้ที่ได้ดึงหน้าสำคัญหน้านี้ออกจากหนังสือ ถ้ามาในยุคนี้คงได้จ้างทนายคนดังทำคดีเป็นแน่แท้

ได้อะไรจากหนังสือขาดหน้านั้น ตอนนั้นเข้าใจครับว่าคนที่ “ยืม” เขาไม่ได้มีความเป็นเจ้าของ เขาไม่จำเป็นต้องรักษาของนั้นดังเช่นคนเป็นเจ้าของทั่วไปพึงกระทำ เราจึงมักพบว่าห้องเช่ามักเก่าเร็วกว่าห้องซื้อ รถเช่ายิ่งเน่ากว่ารถบ้าน เพราะคนใช่เหล่านั้น เขาแค่ใช่เพียงเพราะเขาอยู่ในสถานะของผู้ “ยืม” นี่อาจจะเป็นข้อพึงระวัง อีกประการที่ผมเห็นต่างในการใช้ Sharing Economy ในเชิงเศรษฐศาสตร์คือมักมีผู้ที่กล่าวถึง Sharing Economy  ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพราะเป็นการจับคู่กันระหว่างความต้องการและของที่เกินจำเป็น แต่ผมกลับคิดอีกมุมหนึ่งว่าแท้จริงแล้วการนำ “ของที่เกินจำเป็น” ไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริง คนที่นำทรัพยากรที่มีออกมาให้บริการในรูปแบบ Sharing ก็ทำเพื่อหวังรายได้ ลดการใช้ของตนเองเอารถออกมาทำอาชีพเสริม และอีกมุมหนึ่งการใช้ Sharing Economy อาจจะส่งผลให้ลดการซื้อทรัพสิน ในเศรษฐกิจที่้ต้องการการซื้อขาย เพราะเราอยู่ในโลกที่ไม่มีขาว ไม่มีดำ มีแต่เทาๆ มันจึงไม่มีอะไรดีร้อย...คุณว่าจริงไหม??