อนาคตยูโรและยุโรป (10)

อนาคตยูโรและยุโรป (10)

นักวิชาการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ดูวิวัฒนาการโครงสร้างของบริษัทขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจในหลายๆประเทศ พบว่าประเทศที่เจริญแล้ว

 เมื่อรายได้ต่อหัวสูงขึ้น ระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม บริษัทขนาดใหญ่จะมีบทบาทมากขึ้น มีการจัดกลุ่ม และเพื่อหาคำอธิบายว่าทำไมธุรกิจที่เริ่มต้นแบบครอบครัวในแต่ละประเทศมีความยากง่ายต่างกันในการเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทขนาดใหญ่ (Managerial Capitalism) นักวิชาการสายสังคมวิทยา อย่าง James Coleman, Robert Putnam และ Francis Fukuyama นำประเด็นเรื่องความสำคัญของครอบครัว และโยงใยกับผลของครอบครัวที่มีต่อขีดความสามารถของคนในสังคมที่จะปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน (Social Trust) โดยมีความเชื่อหรือค่านิยมเป็นหนึ่งเดียวกัน นักวิชาการเหล่านี้ใช้คำว่าทุนทางสังคม (Social Capital) มาอธิบายประเด็นปัญหาขั้นต้น 

เราพบว่าประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอาจจะเริ่มต้นใกล้เคียงกัน ในช่วงกลางและปลายศตวรรษที่ 19 เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก 

ในศตวรรษที่ 20 ประเทศเหล่านี้มีระบบเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ โดยบริษัทเอกชนมีความสำคัญสูง ความสำคัญและบทบาทของบริษัทขนาดใหญ่พบว่าต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ อเมริกา เยอรมันและญี่ปุ่นมีบริษัทขนาดใหญ่ของเอกชนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ รวมทั้งประเทศในเอเชียที่พัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่นจีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่งสามารถจัดอยู่เป็นประเทศที่มีเชื้อสายจีน ส่วนขนาดของประเทศไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดเสมอไป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน จะมีธุรกิจระดับโลกมากกว่าประเทศเชื้อสายสังคมจีน เป็นต้น

ในแง่เบื้องหลังหรือรากเหง้าของปรากฎการณ์ นักสังคมวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่า ทุกธุรกิจระบบครอบครัว การจะเปลี่ยนผ่านไปเป็นบริษัทสมัยใหม่ โดยเฉพาะเช่นที่พบในอเมริกา ปลายศตวรรษที่ 19 และต้นทศวรรษที่ 20 เมื่อมีการแยกความเป็นเจ้าของและอำนาจ ออกจากกันได้สำเร็จจะไม่ใช้เวลานาน สังคมนั้นๆ ต้องไม่ยึดติดกับสภาพครอบครัวนิยมจนเกินเลย และมีผลตามมาที่สำคัญคือ สร้างวัฒนธรรมของการไม่ไว้ใจผู้อื่น ไม่ต้องการสนิท ร่วมมือ หรือเข้าสมาคมกับคนแปลกหน้า แม้กระทั่งเพื่อนบ้านในหมู่บ้าน จะไว้วางใจเฉพาะครอบครัวหรือญาติเท่านั้น ในสังคมที่มีวัฒนธรรมนิยมครอบครัวสูง จะส่งผลให้สังคมนั้นๆ มีทุนทางสังคมต่ำ เชื่อว่ามีผลด้านลบอื่นๆ ตามมามากมาย 

ในกรณีของโครงสร้างอุตสาหกรรมก็พอจะเข้าใจได้ง่าย ในอเมริกา คนทั่วไปมักเอาภาพของสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะในยุค 1970 สังคมที่มีความเป็นปัจเจกชนสูง คำนึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวแบบแคบๆ ทุนทางสังคมไม่น่าจะสูง โดย Fukuyama พบว่าในศตวรรษที่ 19 บริษัทขนาดใหญ่ของอเมริกาเกิดขึ้นได้เพราะสังคมในขณะนั้นมีทุนทางสังคมสูง เห็นได้จากการมีสมาคมภาคประชาสังคมต่างๆ มากมาย บอกถึงความลุ่มลึกของภาคประชาสังคมอเมริกา ทำให้ประชาธิปไตยฝังรากลึกในอเมริกาได้ดีกว่าที่อื่น

ในกรณีสังคมจีน คำสอนของ ลัทธิขงจื๊อ ถือว่าครอบครัวสำคัญที่สุดในหน่วยของสังคม สูงกว่าผู้ปกครองหรือชาติด้วยซ้ำไป อิตาลีมีลักษณะคล้ายกับจีนมากที่สุด ฝรั่งเศสเมื่อเทียบกับเยอรมันจะมีวัฒนธรรมที่ไม่สนิท ไว้เนื้อเชื่อใจกับคนแปลกหน้า หรือคนระดับล่างกว่า ด้วยเหตุนี้ธุรกิจครอบครัวของจีน อิตาลี และฝรั่งเศส จะเปลี่ยนผ่านเป็นบริษัทสมัยใหม่ขนาดใหญ่ได้น้อยกว่าและใช้เวลานานกว่า สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเยอรมัน 

กรณีจีน อิตาลี และฝรั่งเศสนั้น จำเป็นต้องมีรัฐเข้ามาเป็นกลไกทดแทน อังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่สามารถปรับตัวแข่งกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเยอรมันในหลายอุตสาหกรรม เช่น เคมี อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ สาเหตุหนึ่งมาจากบริษัทอังกฤษยังยึดอยู่กับความเป็นครอบครัวและปรับตัวค่อนข้างช้า แน่นอนว่า แม้บริษัทจะใหญ่ขึ้น มีผู้บริหารที่เป็นบุคคลภายนอก มีการจัดการสมัยใหม่ก็ตามที แต่ความสำคัญของครอบครัวก็ยังมีอยู่ แม้บริษัทจะเอาหุ้นเข้าตลาดให้เป็นบริษัทมหาชน 

โดยการเกื้อหนุนของกฏหมายและวัฒนธรรม ในเยอรมันและในญี่ปุ่น การครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตรทำได้ยากเพราะการออกแบบกฏหมาย เช่นต้องมีหุ้นสูงกว่า 75% หรือการมีระบบการถือครองหุ้น โดยไม่มีสิทธิ์ออกเสียง การถือหุ้นไขว้กันไปมาระหว่างบริษัท รวมทั้งความร่วมมือระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันที่จะรวมพลัง โดยมีหุ้นเพียง 25% หรือไม่เกิน 1 ใน 3 ซึ่งล้วนเป็นวิถีปฏิบัติของทุนนิยมอิตาลี ในกรณีของเยอรมัน บริษัทขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ง่าย ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เพราะสังคมไม่รังเกียจ รัฐบาลก็มีกลไกสนับสนุน เช่นไม่ขัดขวางการรวมตัวของบริษัทขนาดใหญ่เหมือนกับการที่สหรัฐฯมี Anti-trust law โดยเฉพาะในต้นศตวรรษที่ 20 จึงไม่น่าแปลกใจว่าในปี 1913 ไม่มีบริษัทของอังกฤษหรืออเมริกา เช่น Dupont หรือ G.E. เทียบกับ Siemens ของเยอรมันได้เลย ทั้งในความใหญ่โตและความสลับซับซ้อน

อิตาลีมีความแตกต่างกันมาก ทั้งประเทศโดยรวมเป็นครอบครัวนิยมที่สูงแบบจีน คงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ของอิตาลีไม่เด่นเท่าอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมัน รวมทั้ง การมีเครือข่ายองค์กรหรือภาคประชาสังคมไม่หนาแน่นเหมือน 3 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งมีผลต่อทุนทางสังคม แต่อิตาลี มีถึง 3 อิตาลี ตั้งแต่อดีตพันปีจนถึงปัจจุบัน ภูมิภาคในอิตาลีเหนือ เช่น Lombardy, Piedmont, Liguria หรือเมืองหลวง เช่น Milan, Turin และ Genoa กับภูมิภาคในอิตาลีตอนกลางที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีชื่อเสียง เช่น Emilia-Romagna, Tuscany, Marche หรือ Umbria 

ครอบครัวนิยมอาจจะสูงแต่คนในภูมิภาค มีเครือข่ายทั้งทางธุรกิจและสังคมหนาแน่น ต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากโลกของอิตาลีใต้ หรือ Mezzogiorno เช่นภูมิภาค Campania, Basilicata, Puglia, Calabria รวมทั้ง Sicily ที่นี่จุดร่วมที่มีคล้ายกันมาตลอดเป็นพันปีเรื่อยมา 

แม้เมื่อมีการรวมชาติ ในปี 1871 ประวัติศาสตร์ของอิตาลีใต้เป็นสังคมศักดินาแนวดิ่ง ระหว่างกษัตริย์ เจ้าที่ดิน องค์กรศาสนา กับชาวนา ไม่มีองค์กรระดับกลางของภาคประชาชน ในรูปสมาคมประเภทต่างๆ สหกรณ์รูปแบบต่างๆ เหมือนที่เราพบในอิตาลีเหนือและกลางที่มีประชาชนมีความร่วมมือกัน มีเครือข่าย มีความเป็นอิสระ มี city-state ที่เราพบเช่นที่ Venice, Bologna หรือ Florence ซึ่งเป็นการปกครองแบบชุมชนสาธารณรัฐ (Communal Republic) 

การขาดองค์กรเอกชนตรงกลางขณะที่รัฐเป็นที่พึ่งไม่ได้ ใต้ทำให้เกิดกลุ่มองค์กรใต้กฏหมาย เช่นมาเฟียมาทดแทน ในภาคชนบทหรือการเกษตร ขณะที่ทางอิตาลีเหนือหรือกลางเป็นระบบสัญญาแบ่งผลผลิต ทำให้เกิดแรงจูงใจในการประหยัดจากขนาด เกิดครอบครัวขยาย ความร่วมมือระหว่างครอบครัวทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เรากลับได้เห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงในกรณีของอิตาลีใต้ ซึ่งเป็นระบบเจ้าที่ดินขนาดใหญ่ ใช้แรงงานรายวัน เป็นระบบของการขูดรีด คุณภาพของรัฐ ของครอบครัว ของเครือข่ายภาคประชาสังคมหรือทุนทางสังคม ช่างต่างกันแบบเทียบกันไม่ได้ระหว่างอิตาลีใต้กับอีก 2 อิตาลี

Emilia-Romagna ในอิตาลีกลางกับภูมิภาค Calabria ในอิตาลีใต้ไม่ได้ต่างกันมากในระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมในปีค.ศ. 1910 ร้อยละ 60 ของคนยังอยู่ในภาคเกษตร แต่ 70 ปีต่อมา Emilia-Romagna เป็นภูมิภาคที่เด่นที่สุดใน 20 ภูมิภาคของยุโรป นี่เป็นผลของความแตกต่างจากทุนทางสังคม