คืนความเข้มแข็งพุทธศาสนา ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ***

คืนความเข้มแข็งพุทธศาสนา ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ***

พระสงฆ์นับเป็นสถาบันที่ช่วยเยียวยา “สุขภาพใจ” แก่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า “สุขภาพกาย” ของพระสงฆ์ กลับตกอยู่ในภาวะ

กลับตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่ต้องเข้ารับการเยียวยาเสียเอง

สถิติของกรมอนามัยพบว่า พระสงฆ์ส่วนมากต้องรับการรักษาตัวด้วยโรคไขมันในเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และต้อกระจก ซึ่งล้วนเกิดจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและสารพัดปัจจัยต่างๆ รุมเร้า

แม้หลายหน่วยงานมีโครงการแก้ไขปัญหาแต่ยังขาดบูรณาการและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง มีข้อจำกัดเรื่องพระธรรมวินัยและความเกรงใจญาติโยมที่นำอาหารมาถวายสุดท้ายก็ไม่สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ล่าสุด พระพรหมวชิรญาณ ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มหาเถรสมาคม ได้แสดงเจตนารมณ์ต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 ประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ..2560ที่เกิดขึ้นตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั่วประเทศพร้อมใจกันเข้าร่วม

ขอให้ทุกฝ่ายดำเนินงานขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ..2560 บรรลุเป้าหมาย” คำกล่าวของพระพรหมวชิรญาณ นับเป็นการเริ่มศักราชใหม่ในการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ 3 แสนรูป ให้กลับมาสู่สถาบันที่เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งทางจิตใจคนไทยห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ!!

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ได้ผ่านกระบวนการยกร่างและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ โดยใช้เวลากว่า 1 ปี มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานฯ และได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่มหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2560 มีเนื้อหาครอบคลุมกรอบและแนวทาง 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาวะตัวเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม

ทพ.วีระศักดิ์ ยกตัวอย่างการแก้ปัญหา อาทิ การทำบุญตักบาตรของญาติโยม ปกติจะเลือกถวายของที่ดีที่สุด อร่อยที่สุด เมื่อพระสงฆ์ฉันอาหารประเภทนี้มานานและต่อเนื่อง นำไปสู่โรคไม่ติดต่อร้ายแรง (NCDs) แต่เมื่อมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ก็จะรณรงค์ให้ชุมชนเรียนรู้ว่าอาหารที่ดีที่สุดแต่รักษาสุขภาพด้วยนั้น จะมีอะไรบ้าง การใส่บาตรพระก็จะต้องระมัดระวังมากขึ้น

“ในอดีตคนไทยเคยใช้วัดเป็นแหล่งเรียนรู้สร้างภูมิปัญญา แต่ช่วงหลังๆ กลับละเลย ธรรมนูญสุขภาพฯ ฉบับนี้ จึงกำหนดบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะให้ชุมชนด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ทางกายเท่านั้น แต่รวมเรื่องจิตใจ สังคม ปัญญา ตรงนี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดว่าสถาบันพระสงฆ์จะเป็นเสาหลักและมีความสำคัญอย่างไร”

กระบวนการหลังจากนี้คือการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ไปสู่การปฏิบัติร่วมกันภายใต้การผนึกกำลังขององค์กรพันธมิตรหลายหน่วยงาน รวมถึงการ “รับไม้ต่อ” ระดับพื้นที่ อาทิ การจัดทำ ธรรมนูญสุขภาพชุมชน เพราะวัดวาอารามล้วนตั้งอยู่ในอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งแต่ละแห่งมีบริบทและสภาพแวดล้อมของตนเอง

“ธรรมนูญชุมชนจะกำหนดกฎกติกา เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติต่อพระสงฆ์ร่วมกัน ซึ่งแตกต่างออกไปในแต่ละพื้นที่” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ ระบุ

เวทีเสวนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม “ก้าวย่างที่ 2 สู่การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีพระครูพิพิธสุตาทร รองประธานคณะทำงานจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วยเครือข่ายพระสงฆ์จากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 50 รูป ได้นำตัวอย่างของพระนักพัฒนาสุขภาวะที่ขับเคลื่อนโครงการเพื่อสุขภาพพระสงฆ์ ชุมชน และประชาชน จนประสบความสำเร็จ

หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร ผู้ก่อตั้ง “อโรคยศาล” สถานที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคมะเร็งนับแสนคนต่อปี รวมถึงพระสงฆ์ก็ประสบโรคร้ายนี้เป็นจำนวนมาก สูญเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าการทำเคมีบำบัด การฉายแสง ฯลฯ จึงคิดว่าทำอย่างไรจะช่วยเหลือให้รอดพ้นจากวิกฤต ด้วยการเยียวยารักษาอย่างประหยัด และให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายตายแบบมีความสุข โดยทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ธรรมศาสตร์ และกรมการแพทย์แผนไทย ร่วมพัฒนาให้เกิดมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย

พระครูวิวิธประชานุกูล (ธนวรรธน์ วรรณลีย์) เจ้าอาวาสวัดหัวริน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ดำเนินโครงการ “ศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตในชุมชนวัดหัวริน อุทยานธรรมชัยมงคลประชานุกูล” มีระบบดูแลผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ให้เข้าถึงยาต้านไวรัส และผลักดันให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหันมาดูแลรักษาผู้ป่วยโรคร้ายนี้ ปัจจุบัน พระครูวิวิธยังช่วยเหลือผู้ป่วยติดยาเสพติดและสุราที่คุมความประพฤติได้แล้วให้พัฒนากาย จิต และปัญญา ส่งเสริมให้กลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ต่อไป

ขณะที่ พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม (มนัส ขนฺติธมฺโม) วัดโพธิ์ทอง ต.แสลง อ.เมือง จ.จันทบุรี ผู้ก่อตั้ง “กองบุญสุขภาวะ สังฆะเพื่อสังคม” เป็นเงินออมเพื่อสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลพระสงฆ์ยามป่วยไข้ มีเครือข่าย 4 ภาค หลังจากได้ดำเนินการมาแล้ว 10 ปี มีพระมากกว่า 100 รูป ฆราวาส 1,200 คน เข้าร่วมเป็นสมาชิกร่วมสมทบเงินประจำทุกปี

“พระที่มีปัจจัยมาก ก็ทำประกันชีวิตประมาณ 10-20% แต่พระสงฆ์ที่อยู่ต่างจังหวัดหรือกลุ่มชายขอบอีก 90% ไม่เคยมีหลักประกันอะไรเลย เวลาเจ็บป่วยก็ขาดปัจจัยรักษาตัว ไร้คนดูแล ดังนั้น ถ้าทุกจังหวัดมีกองทุนสุขภาวะ พระสงฆ์ก็จะมีโอกาสได้รับการดูแลสุขภาพ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่าจะรักษาตัวอย่างไรด้วย”

พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวว่า หลังจากนี้สถาบันพระสงฆ์จะต้องร่วมกับขับเคลื่อน ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่กรอบและแนวทางการดูแลสุขภาพเท่านั้น แต่มีผลไปถึงการสร้างความมั่นคงของพระพุทธศาสนาด้วย

ส่วนความเห็นของพระสงฆ์ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำแนวทางธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ไปขับเคลื่อนงานในพื้นที่ต่อ อาทิ กลุ่มหนใต้ สนับสนุนการให้องค์ความรู้แก่ญาติโยมเรื่องการถวายอาหาร ยกตัวอย่างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะมีพระสงฆ์มารักษาโรคเบาหวานจำนวนมาก

ขณะที่ กลุ่มพระสงฆ์หนกลาง มุ่งเน้นการสร้างวัดให้มีสุขภาวะ 3 ด้าน คือ สะอาด สงบ และร่มรื่น จะช่วยให้วัดกลับมาเป็นศูนย์กลางชาวบ้านในชุมชน ส่วนกลุ่มพระสงฆ์หนตะวันออก เสนอให้ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพฯ เชื่อมโยงระหว่างบ้าน วัด โรงพยาบาล

กลุ่มพระสงฆ์หนเหนือ เสนอให้มี “ธรรมทูต” เป็นสื่อกลางเผยแพร่ความสำคัญของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ พร้อมตั้งคณะทำงานติดตามโดยใช้กลไกสมัชชาจังหวัด ส่วนพระสงฆ์กลุ่มธรรมยุต แนะให้เร่งเปลี่ยนพฤติกรรมการฉันอาหาร ลดหวานมันเค็มแต่เพิ่มผักผลไม้ และสร้างพระอาสาสมัครประจำวัด (อสว.) ให้มากขึ้น เป็นต้น

การประกาศใช้ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 นับเป็นความสำเร็จ “ก้าวแรก” ของการปฏิรูปสุขภาวะในพระพุทธศาสนา จากนี้ไปในปี พ.ศ.2562 ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งพุทธศาสนิกชนและสถาบันสงฆ์ทั่วประเทศ

สาระสำคัญในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ..๒๕๖๐ ประกอบด้วย ๕ หมวดหลัก ได้แก่

หมวด 1 ปรัชญาและแนวคิดหลักของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มุ่งเน้นการมีสุขภาวะที่ดีของพระสงฆ์ใน 4 มิติ ได้แก่ สุขภาวะทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันพัฒนาตามกรอบและแนวทางเพื่อไปสู่เป้าหมาย

หมวด 2 พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย มุ่งให้พระสงฆ์มีความรู้ด้านสุขภาพดูแลตนเองได้ ทั้งเรื่องอาหาร การรักษาสุขภาพ การมีกิจกรรมทางกาย ฯลฯ การจัดระบบดูแลสุขภาพพระสงฆ์ การป้องกันปัจจัยเสี่ยงและภัยคุกคามสุขภาพภายในวัด ส่งเสริมให้มีพระคิลานุปัฏฐากเพื่อดูแลเสริมสร้างสุขภาพตามพระธรรมวินัย

หมวด 3 ชุมชนและสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย หน่วยงานรัฐส่งเสริมและรณรงค์ให้ผู้ผลิตและค้าอาหารบิณฑบาตช่วยสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงการถวายอาหารและนำ้ปานะ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามพระธรรมวินัย การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขครบวงจรและเหมาะสม รวมถึงชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การตรวจสุขภาพ คัดกรองโรคเป็นต้น

หมวด 4 บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้าใจเรื่องสุขภาพทางปัญญา เปิดกว้างให้พระสงฆ์มีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะทุกมิติ ใช้หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อปต.) เครือข่ายพระสงฆ์เพื่อสังคม รวมถึงเครือข่ายองค์กรทางพุทธศาสนาอื่นๆ เป็นกลไกบูรณาการหลักพุทธธรรมขับเคลื่อนการดูแลและเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

หมวด 5 การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ จัดให้มีกลไกระดับชาติประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนร่วมกำหนดทิศทาง บูรณาการและสนับนุนให้เกิดการขับเคลื่อน โดยทุกฝ่ายสามารถจัดทำธรรมนูญพื้นที่ การตั้งกองทุนระดับชาติเพื่อดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ การสื่อสารข้อมูลสุขภาพผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร เป็นต้น

โดย...

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

*** ชื่อเต็ม : ปฏิรูปสุขภาวะ..คืนความเข้มแข็งพุทธศาสนา

ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ..2560