เวลาไม่ช่วยอะไร

เวลาไม่ช่วยอะไร

การฝึกฝนบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้านการลงทุนโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นทางออกสำคัญ

อัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล(NPL) ในปีที่ผ่านมาอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่ทำให้เราเห็นความเข้มงวดของธนาคารในการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ ที่มีความรัดกุมเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการเข้มงวดเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุให้เงินหมุนเวียนในธุรกิจชะลอตัวลงได้

การลดต้นทุนของธนาคารและสถาบันการเงินจึงเป็นมาตรการถัดมาซึ่งเราเริ่มเห็นแนวโน้มดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และวิสัยทัศน์ของธนาคารชั้นนำแห่งหนึ่งที่ประกาศปรับลดบุคลากรลง 12,000 คนภายใน 3 ปี และลดจำนวนสาขาลงเหลือเพียง 400 สาขา จากเดิม 1,150 สาขาก็สะท้อนให้เห็นความเป็นไปของอุตสาหกรรมการเงินในบ้านเราได้เป็นอย่างดี

การตั้งเป้าเช่นนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของธนาคารจะปรับลดลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ โดยที่ยังคงความสามารถในการทำรายได้เท่าเดิม สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่บุคลากรที่หายไปก็คือระบบไอทีและแอพพลิเคชั่นสมัยใหม่ที่จะเข้ามาให้บริการทดแทน

ความสนใจของทุกธนาคารในเวลานี้จึงไม่ใช่การมุ่งเน้นแต่เพียงการหาเงินฝากกับการปล่อยเงินสินเชื่อเหมือนในอดีต แต่เป็นการเสาะหาระบบใหม่ๆ ที่จะเอื้อให้ลูกค้ามีความสะดวกในการใช้บริการมากขึ้น และมีเครื่องมือที่ช่วยสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นได้

การฝึกฝนบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้านการลงทุนโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงเป็นทางออกสำคัญเพราะธนาคารรู้ดีว่าสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

การโอนเงินของลูกค้ารายย่อยมีทางเลือกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนับตั้งแต่รัฐบาลประกาศส่งเสริมบริการพร้อมเพย์ซึ่งไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 บาท ในขณะที่การชำระเงินของระบบอีคอมเมิรซ์หลายๆ รายก็หันไปพึ่งพาผู้ให้บริการรายใหม่ๆ ไม่ได้ยึดติดกับธนาคารเหมือนในอดีต

เพราะอัตราส่วนผลกำไรที่ธนาคารเคยได้ส่วนหนึ่งมาจากการทำธุรกิจแบบนี้กำลังจะเปลี่ยนไป การปรับตัวสู่บทบาทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนจึงมีโอกาสทำรายได้ให้กับธนาคารได้สูงกว่าเดิมหลายเท่าแต่นั่นก็หมายถึงการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือสาขาที่ทำการของแต่ละธนาคารซึ่งเริ่มพบว่าราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกปีนั้นเริ่มไม่คุ้มค่ากับการทำรายได้ของสาขาแล้ว การขายที่ดินเพื่อนำเงินเข้ามาในระบบและขยายธุรกิจต่อยอดไปในแนวทางอื่นจึงอาจมีประโยชน์มากกว่า

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงการเงินการธนาคารแต่ขยายวงไปสู่ธุรกิจอื่นที่ล้วนเกี่ยวเนื่องเป็นห่วงโซ่อุปทานของธนาคารพาณิชย์ เพราะธนาคารเองก็ต้องทำธุรกิจอื่นกับหลายๆ บริษัทรอบตัวเช่นกัน

ทิศทางใหม่ดังกล่าวก็ไม่ได้มีแค่ธนาคารชั้นนำเพียงรายเดียว แต่ยังมีอีกหลายธนาคารที่ทยอยปรับตัวและมองหาระบบใหม่ๆ เข้ามาให้บริการแทนที่พนักงานเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้เราจึงเห็นผู้บริหารของธนาคารต่างๆ เดินทางไปดูงานด้านดิจิทัล แบงค์กิ้ง ในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

การปรับตัวครั้งนี้ดูเหมือนเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังเป็นโอกาสที่เอื้อให้กับหลายๆ ธุรกิจได้สร้างสรรค์ระบบใหม่ ให้บริการลูกค้าได้อย่างตรงใจ

และอย่าลืมว่านี่คืออุตสาหกรรมการเงินการธนาคารที่ถือกำเนิดมาบนโลกนี้กว่า 300 ปีที่แล้วและเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งมายาวนาน เมื่อถึงวันต้องเปลี่ยนแปลงก็ไม่อาจต้านทานอะไรได้นอกจากยอมรับและปรับตัวให้รวดเร็วที่สุด