ขับซีอีโอ “ไร้จริยธรรม” พ้นเก้าอี้ เทรนด์องค์กรใหญ่ทั่วโลก

ขับซีอีโอ “ไร้จริยธรรม” พ้นเก้าอี้ เทรนด์องค์กรใหญ่ทั่วโลก

สวัสดีค่ะ ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลายท่านคงมีโอกาสได้ติดตามข่าวคราวการล่าเสือดำของ “ซีอีโอ” บริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่ง

ได้ยินข่าวแล้วก็รู้สึกสะท้อนใจและหดหู่ใจ แต่ก็ยังดีที่มีอีกหลายคนที่ไม่ยอม “ปล่อยผ่าน” และเลือกที่จะกดดันในรูปแบบต่างๆ ทั้งพลังโซเชียลมีเดีย การนำเสนอข่าวสารจากสื่อ หรือกลุ่มศิลปินกราฟฟิตี้ที่รวมตัวกันวาดภาพทวงถามความเป็นธรรมให้เจ้าเสือดำตัวนั้น จนเป็นกระแสสังคมในวงกว้าง

ดิฉันเลยขอนำกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และสอดคล้องกับประเด็นดังกล่าวมาพูดถึงในฉบับนี้ค่ะ นั่นก็คือ...คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า ทุกวันนี้โลกเรามีซีอีโอที่ ไร้จริยธรรมจนต้องออกจากตำแหน่งมากขึ้น

การละเมิดจริยธรรม หรือ Ethical lapse ทำให้ “ซีอีโอ” หลายคนตกงานมากขึ้น ซึ่งไม่ได้จากการบริหารงานที่ผิดพลาด แต่มาจากความคาดหวังในตัวซีอีโอที่ต้องมีความรับผิดชอบ และมี “สามัญสำนักในหน้าที่” มากขึ้นค่ะ

การไร้จริยธรรมที่ว่านี้หมายถึงการมีพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสมหรือรับไม่ได้ จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวและเป็นข้อครหาในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการคดโกง รับสินบน การซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายใน (Insider trading) การสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น

โดยผลการศึกษา “CEO Success ”ที่จัดทำโดยทีมกลยุทธ์ของไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส หรือ PwC บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก ที่ได้สำรวจการออกจากตำแหน่งของซีอีโอ 2,500 คนจากบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกในปี 2017 พบว่า 20% ของการออกจากตำแหน่งของซีอีโอทั่วโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2012-2016) นั้นเป็นการถูกให้ออกหรือกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ลดลงจากปี 2007-2011 ที่อยู่ที่ 31%

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของซีอีโอที่ถูกให้ออกจากตำแหน่งเนื่องมาจากการขาด จริยธรรมนั้นกลับเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยมีสัดส่วน 5.3% เพิ่มจาก 5 ปีก่อนหน้านั้นที่อยู่ที่ 3.9% ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นถึง 36% โดยส่วนใหญ่มาจาก “การเข้าถึงและตรวจสอบได้โดยประชาชน” หรือ Public scrutiny ที่มีมากขึ้นในปัจจุบันต่อตัวผู้บริหารองค์กรต่างๆ

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบอีกด้วยว่า ผู้นำหรือซีอีโอในองค์กรใหญ่ๆ ยังมีแนวโน้มที่จะถูกไล่ออกจากการมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือไร้จริยธรรมมากกว่าบริษัทเล็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรชั้นนำที่มีมาร์เก็ตแคปติดอันดับต้นๆ ในอเมริกา แคนาดา รวมถึงยุโรปตะวันตกนั้น จำนวนซีอีโอที่ “ถูกบีบ” ให้ออกจากตำแหน่งอันเนื่องมาจากประเด็นทางจริยธรรมนั้นมีสัดส่วนมากกว่าเมื่อเทียบกับองค์กรที่มีขนาดเล็กลงมา โดยมีสัดส่วนสูงถึง 7.8% ในช่วงปี 2012-2016 เมื่อเทียบกับเพียง 4.6% ในช่วงปี 2007-2011หรือเรียกง่ายๆ ว่าซีอีโอบริษัทใหญ่ๆ มักถูกเพ่งเล็งมากกว่า

ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุถึงแนวโน้ม 5 ประการที่ทำให้ผู้นำองค์กรต้องมีจิตสำนึกและจริยธรรมมากขึ้นกว่าในอดีต ได้แก่

  1. ประชาชนจับตามองมากขึ้นวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ของโลกหรือ The Great Recession ในปี 2007-2008 ทำให้ความไว้วางใจและความมั่นใจที่ประชาชนมีต่อซีอีโอและบริษัทขนาดใหญ่เริ่มลดน้อยถอยลงนับตั้งแต่นั้นมา ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่จึงคอยจับพิรุธ วิพากษ์วิจารณ์ และไม่ให้อภัยต่อความผิดของบริษัทต่างๆ มากขึ้นกว่าในอดีต
  2. กฏหมายและข้อบังคับเข้มงวดขึ้นการวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมที่มีต่อซีอีโอและบริษัทต่างๆ ทำให้กฏหมายและข้อบังคับต่างๆ มีผลบังคับใช้มากขึ้น โดยปัจจุบันในหลายประเทศมีนโยบาย “Zerotolerance” นั่นคือการทนไม่ได้และจะไม่ยอมรับผู้นำที่มีพฤติกรรมไม่ดีอีกแล้ว
  3. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีความเสี่ยงมากขึ้นองค์กรระดับโลกหลายแห่งมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น อาทิ บางบริษัทแสวงหาการเติบโตด้วยการเข้าไปดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศ Emerging market ที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดจริยธรรมสูง จึงมีแนวโน้มการรับสินบนหรือคอร์รัปชั่นมากขึ้น เป็นต้น
  4. โลก ดิจิทัลทำให้มีหลักฐานมากขึ้นการสื่อสารด้วยดิจิทัลในทุกวันนี้ ทั้งทางอีเมล แชท และโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้นำองค์กรมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นหลักฐานได้อย่างดี หากมีผู้นำข้อมูลการทุจริตหรือความประพฤติมิชอบออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ
  5. ยุคข้อมูลข่าวสารตลอด 24 ชั่วโมงไม่เหมือนในอดีตแล้วที่ผู้บริหารสามารถทำตัว “โลว์โปรไฟล์” ได้ แต่ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารมีการรายงานอย่างรวดเร็ว ทำให้หากมีข่าวในแง่ลบก็จะสามารถกระจายไปในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ซึ่่งแน่นอนว่าบริษัทขนาดใหญ่นั้นได้รับผลกระทบจากเทรนด์ 5 ประการด้านบนมากกว่าบริษัทกลางและเล็กและเป็นที่ถูกจับตามองมากที่สุดเช่นกัน

“การที่ซีอีโอถูกให้ออกจากตำแหน่งกันมากขึ้นจากประเด็นทางด้านพฤติกรรมหรือจริยธรรมนั้นทำให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อความคิดเห็นของสาธารณชน เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นเป็นที่จับตามองและควรต้องได้รับการลงโทษ” “ดีแอนน์ อากูร์เร” หัวหน้าทีมกลยุทธ์ของ PwC สหรัฐอเมริกา กล่าว “และในขณะเดียวกัน ซีอีโอก็ต้องนำองค์กรด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งในระดับพฤติกรรมส่วนบุคคลและระดับการบริหารองค์กร และต้องมุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมความซื่อสัตย์และการมีจริยธรรมอย่างแท้จริง” 

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้บริหารคนหนึ่งจะก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดขององค์กรได้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานนับหมื่นนับแสน ตำแหน่ง ซีอีโอจึงเหมือนมีสปอร์ตไลต์ส่องทั้งการทำงานทั้งพฤติกรรมและจริยธรรม

เรียกว่ามีคนจับตาดูอยู่ทุกฝีก้าว (แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ) เพราะสมัยนี้โลกเรามี พลังจากฝูงชนไม่เหมือนสมัยก่อนแล้วค่ะ...