“ปฏิรูปตำรวจ” จะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ ต้องเดินให้สุดทาง

“ปฏิรูปตำรวจ” จะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ ต้องเดินให้สุดทาง

ภารกิจการปฏิรูปตำรวจที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มีคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเร่งรัดดำเนินการภายในกรอบเวลา

ที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เวลาได้ผ่านไปรวดเร็วเหมือนติดปีกบินอย่างที่ภาษิตว่า ทำให้ระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านไปกระทั่งจะครบตามรอบเวลา 1 ปี ในเดือนเม.ย.นี้ของคณะกรรมการเป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจทำหน้าที่อย่างแข็งขันกระทั่งได้สร้างผลงานเผยแพร่ให้สื่อและสาธารณชนได้รับทราบในทุกกระบวนการอย่างเปิดเผย

แต่หลายฝ่ายยังเข้าใจผิดว่า ในเดือนเม.ย.ที่จะถึงนี้ คือ วันที่ “บุคลากรตำรวจและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายภายใต้องค์กรตำรวจจะพลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างทันทีทันใด” ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจต้องขอเรียนว่า สิ่งที่ประชาชนคาดหวังอยากเห็นเป็นจริงเช่นนั้น ไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดหรือเกินความคาดหมาย เพราะปัญหาในองค์กรตำรวจเป็นสิ่งที่สั่งสมหมักหมมมายาวนาน การดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นกระทั่งถึงปัจจุบันของคณะกรรมการฯ ก็ปรารถนาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ

อย่างไรก็ดี แม้การปฏิรูปตำรวจจะใกล้ถึงกำหนดการส่งมอบรายงานให้กับทางนายกรัฐมนตรี สำหรับผมเองยังมองว่า นี่เป็นรายงานเบื้องต้นในการพยายามใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดในการถกแถลงแก้ปัญหาสำคัญๆ และเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แต่ปัญหาและกลไกอื่นๆ ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่คณะกรรมการฯ ไม่อาจใช้เวลาเพียง 8 เดือนจัดการกับทุกปัญหาได้ 

และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้หลายท่านซึ่งเฝ้าติดตามการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปฯ อาจดูเหมือนว่า ผลงานของพวกเรา “ยังไม่สะเด็ดน้ำ” “ยังไม่เห็นผลการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว” นี่คือความเป็นจริงและเป็นสิ่งที่ต้องยืนยันกับทุกท่านว่า คณะกรรมการฯ ได้เลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดในข้อจำกัดของเวลารวมทั้งการแก้ปัญหาเพื่อให้สมประโยชน์ของทุกฝ่ายให้มากที่สุด

“ปฏิรูปตำรวจ” จะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ ต้องเดินให้สุดทาง

ผมยังมีความเชื่อมั่นในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดที่มีท่านประธานชื่อ พล..บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นหัวเรือใหญ่ว่า เป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่สามารถผลิตผลให้เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด เนื่องด้วยคณะกรรมการฯ ได้นำบทเรียนหรือแนวทางการศึกษาของหลายๆ ชุดที่ได้มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้มาทำการศึกษาคัดกรองสิ่งที่มี “ความเป็นไปได้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงของสังคมไทย” เสริมด้วยนวัตกรรมทางความคิดที่คณะกรรมการฯ ได้รังสรรต่อยอดขึ้นมาอีกหลายประการ

จึงต้องการย้ำเน้นว่า “รู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่ง” หากคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะถูกยุบเลิกหรือถ่ายโอนภารกิจไปยังคณะกรรมการปฏิรูปชุดอื่น ซึ่งมิได้ริเริ่มดำเนินการในหลายๆ เรื่องมาแต่ต้น อีกทั้งไม่น่าจะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตำรวจเป็นการเฉพาะเหมือนเช่นคณะกรรมการชุดที่มีการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ 

โดยการกล่าวมาตั้งแต่ต้น ไม่อยากให้มองว่า คณะกรรมการฯ ต้องการรักษาสถานภาพหรือผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ เพราะแม้จะไม่มีเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนก็เชื่อว่ากรรมการหลายท่านก็ยินดีและถือเป็นเกียรติที่จะได้นำความรู้ความชำนาญและความมุ่งหมายในทางที่ดีที่ชอบมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจที่เป็นสถาบันทาง “ภาคราชการและการบริหารราชการแผ่นดิน” ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด”

ดังได้เคยเรียนก่อนหน้านี้ว่า “การเดินหน้าปฏิรูปตำรวจ” ยังมีปัญหาสำคัญอีกมาก การผลักดันความเปลี่ยนแปลงมาถึงจุดนี้ได้ด้วยความตั้งใจจริงของคณะกรรมการฯ ถือว่าเดินทางมาไกลมากและเป็นความสำเร็จในเบื้องต้น หากจะยุบ “นั่งร้าน” ทิ้ง ถ่ายโอนหรือไม่เร่งดำเนินการในเรื่องที่จำเป็นที่รออยู่เบื้องหน้า ก็ย่อมถือเป็นการเดินไปยังไม่สุดทาง

เชื่อมั่นว่า ท่านผู้เกี่ยวข้องน่าจะมีการมอบหมายภารกิจหรือขยายเวลาให้โอกาสคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนี้ ได้ทำหน้าที่ตามที่มีโครงร่างหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการชุดย่อยๆ แต่ละคณะเป็นเสมือนแขนขากลไกขับเคลื่อนอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง 

เพราะการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติน้ันมีระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี อีกทั้งคณะปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ อีก 11 ด้าน ก็มีการปฎิบัติหน้าที่อีกราว 5 ปีเต็ม การจัดประชุมส่วนใหญ่บ่อยครั้งกว่าชุดของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนี้ แต่ผลผลิตโดยภาพรวมของานที่ได้รับมอบหมายถือได้ว่าคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจทำหน้าที่ได้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งที่สามารถใช้เวลาน้อยกว่า 1 ปี ในการส่งมอบผลงานการปฏิรูปอย่างสร้างสรรเพื่อเป็นแผนแม่บทให้กับเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไปอีกหลายประการ