สื่อสารสร้างสรรค์ ส่งเสริมสังคม 4.0

สื่อสารสร้างสรรค์ ส่งเสริมสังคม 4.0

เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) การใช้ Smart phone ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มากกว่าการสื่อสารด้วยซ้ำ

แต่จะรู้เท่ารู้ทันหรือใช้มันอย่างมีสติและเกิดประโยชน์แก่ตัวเองมากน้อยแค่ไหน อันนี้ยังไม่แน่ใจนัก เพราะการมีอีกชีวิตหนึ่งในโลกออนไลน์เสมือนการอวตารตัวเองไปอยู่ในสังคมอันกว้าง ที่มีผู้คนที่เราไม่รู้จัก การใช้ถ้อยคำและการแสดงความคิดยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก บางครั้งข้อความสั้นๆที่เราแสดงออกไปอาจสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับใครบางคนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก

 แต่กระนั้นตอนนี้เราได้เห็นและรับรู้แล้วว่าโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย มันเก็บสิ่งต่างๆไว้ได้นานและถาวร ตรวจสอบย้อนกลับได้ง่าย ไม่ต่างจากกล้องวงจรปิดที่มีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ดังนั้นจะทำอะไรที่ไม่ดีหรือล่อแหลมก็อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่อาจจะกระทบคนอื่นหรือมีผลต่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นร้อน ประเด็นลับ และประเด็นละเอียดอ่อน ต้องพิจารณาให้มากก่อนที่จะสรุป

ที่จริงแล้วเราสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟนของแต่ละคน สร้างสรรค์สังคม สื่อสารแบบแบ่งปัน และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในทางที่เป็นคุณประโยชน์ได้อีกมากมาย

 เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าจากนักศึกษาระดับปริญญาโท ซึ่งกำลังทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อยู่ เขาเล่าว่าระหว่างที่ทำการศึกษาค้นคว้าอยู่นั้น ก็ได้ทำการประดิษฐ์อุปกรณ์แบบง่ายๆด้วยเงินลงทุนที่ไม่มาก เพียงนำเลนส์ขนาดเล็กที่แกะออกมาจาก laser pointer (อุปกรณ์ที่ใช้ชี้ตำแหน่ง หรือจอภาพตอนนำเสนอผลงาน) ที่เสียแล้ว ซึ่งมีกำลังขยายสูง มาติดเข้ากับหน้าเลนส์ของสมาร์ทโฟน พบว่ามันสามารถซูมภาพระยะใกล้ๆให้ใหญ่ขึ้น ทำหน้าที่เหมือนเลนส์มาโคร ที่สำคัญเมื่อมันขยายภาพสิ่งเล็กๆให้ใหญ่ขึ้นบนจอสมาร์ทโฟนและบันทึกภาพได้ มันก็ไม่ต่างจากกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

นักศึกษาท่านนั้นยังเล่าว่า ถ้าใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ นำเลนส์ดังกล่าวไปติดไว้กับสมาร์ทโฟน ก็สามารถถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กแบบขยายใหญ่ได้ เช่น ถ่ายใบไม้ หรือแมลงเล็กๆ เวลาไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติ หรือไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ได้ในโลกใบนี้ ภาพที่ถ่ายในแต่ละครั้งจะผนวกเอาพิกัดของสถานที่ไว้ด้วย ลองนึกดูว่าถ้าทุกคนอับโหลดภาพดังกล่าวขึ้นไว้ในแผนที่ หรือมีใครทำแอพที่สมาชิกเก็บภาพสิ่งมีชีวิตที่พบ แล้วให้ทุกคนสามารถอัพโหลดขึ้นไปเก็บไว้ได้ (บางที่อาจจะมีคนทำแล้ว แต่ผมไม่ทราบ) พร้อมใส่ keyword ให้ง่ายในการค้นหา มันก็ไม่ต่างจากแอพ pinterest หรืออื่นๆ

 สิ่งที่ได้คือเราจะอาจจพบสัตว์แปลกๆโดยไม่รู้ตัว หรือได้ข้อมูลทางชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตในสถานที่ต่างๆที่คนค้นพบ เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างดี และถ้ามีการเชื่อมข้อมูลอนุกรมวิธาน ก็จะทำให้เรารู้สปีชีส์ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ และคุณสมบัติอื่นๆ เป็นการแบ่งปันข้อมูลของคนในสังคมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

 แนวคิดและหลักการดังกล่าวนี้ ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆอีกมากมาย เพราะปัจจุบันสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อสู่โลกอินเทอร์เน็ต (Cyberspace) ที่มีขีดความสามารถสูงอยู่แล้ว ถ้ารณรงค์ส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือใครก็ตามที่ชอบการประดิษฐ์คิดค้น สร้างฮาร์ดแวร์ที่มีเซนเซอร์ตรวจจับอะไรก็ได้ ง่ายๆเล็กๆเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟน มันก็จะกลายเป็นอุปกรณ์เก็บบันทึกและแบ่งปันข้อมูลต่างๆได้เป็นอย่างดี

 Internet of Things หรือ IoT กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลและสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคมได้อีกมาก เพราะเมื่อมันได้กลายเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่าง physical world กับ digital world เข้าด้วยกัน เซ็นเซอร์ต่างๆทำหน้าที่แปลง physical data อาทิ อุณหภูมิ ความชื่น ความเป็นกรดด่าง ความเร็วลม ความเข้มแสง ให้กลายเป็น digital data เมื่อส่งผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็สามารถนำไปควบคุมสั่งการ หรือทำสิ่งต่างๆได้อีกมากมาย

 ปัจจุบันฮาร์ดแวร์ที่เป็นเซ็นเซอร์ต่างๆเริ่มมีราคาถูกลงมาก ถ้าใครจะพัฒนาอุปกรณ์ IoT ขึ้นมา หรือทำเป็นอุปกรณ์ต่อเสริมเข้าไปในสมาร์ทโฟนเพื่อให้ตรวจจับและวัดค่าต่างๆได้ในราคาที่ไม่แพง ทุกคนก็สามารถจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมยุคใหม่ สังคม 4.0 ที่แบ่งปันข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ที่สร้างสรรค์สังคม

 ลองนึกถึงสภาพอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อทุกคนทราบว่าสิ่งที่ตาเห็นไม่ใช่หมอก แต่เป็นฝุ่นควันที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ และทำให้หลายคนที่มีภาวะภูมิแพ้เกิดผลกระทบกับร่างกายได้

ประเด็นคือเราไม่ทราบว่าบริเวณใดมีสภาพอากาศอย่างไร ถ้ามีเซ็นเซอร์คุณภาพพอใช้ได้แต่ราคาไม่แพงนัก ที่คนพอซื้อหามาได้ติดเข้ากับสมาร์ทโฟน อ่านค่าพร้อมพิกัดตำแหน่ง และส่งผลขึ้นไว้ในแอพอะไรซักแอพหนึ่ง ทุกคนก็สามารถรู้ได้ว่าสถานที่ใดมีอากาศไม่ค่อยดี ถ้าหลีกเลี่ยงได้ไม่ไปก็ดี แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็หาผ้าปิดปากปิดจมูกไปด้วย นี่คือตัวอย่างที่ทุกคนในสังคมสามารถช่วยกันได้ในยุค 4.0