บัฟเฟตต์-ดิสนีย์ เลิฟสตอรี่ที่ไม่ใช่ 'เทพนิยาย'

บัฟเฟตต์-ดิสนีย์ เลิฟสตอรี่ที่ไม่ใช่ 'เทพนิยาย'

เป็นค่าเสียโอกาสมโหฬาร ชนิดที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้เลย

ตลอดชีวิตการลงทุนค่อนศตวรรษของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีกรณีศึกษาจำนวนมากที่น่าสนใจ แต่มีอยู่เคสหนึ่งซึ่งผมชื่นชอบโดยส่วนตัว นั่นคือการซื้อหุ้น วอลท์ ดิสนีย์ ธุรกิจบันเทิงชื่อก้องที่คงไม่มีใครในโลกนี้ไม่รู้จัก

ช่วงต้นปี 1966 หรือ 52 ปีที่แล้ว บัฟเฟตต์ในวัย 35 ได้เข้าซื้อหุ้นดิสนีย์ ณ ราคา 53 เหรียญ โดยเก็บหุ้นประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ใช้เงินไปราวๆ 4 ล้านเหรียญ หลังจากเดินทางไปพบ 'วอลท์ ดิสนีย์' ผู้ก่อตั้งบริษัท และดิสนีย์ก็พาเขาเยี่ยมชมธุรกิจด้วยตนเอง

เป็นการเจอกันของสองบุรุษ ซึ่งต่อมากลายเป็น 'ตำนาน' ด้วยกันทั้งคู่

แม้หุ้นดิสนีย์จะดูเหมือน 'ไม่ถูก' แต่ 'ปู่' ในวัยหนุ่มกลับ 'อ่านขาด' โดยเล็งเห็นว่า ณ ราคาดังกล่าว หากซื้อทั้งบริษัทจะใช้เงินเพียง 80 ล้าน เอาแค่ 'สโนวไวท์' และการ์ตูนอีกไม่กี่เรื่องก็น่าจะมีค่าเกินกว่านั้นแล้ว แถมดิสนีย์ยังมีการ์ตูนในคลังอีกกว่า 200 เรื่อง ทุกเรื่องต่างเอามา 'ผลิตซ้ำ' ได้เรื่อยๆ เรียกว่า 'เก็บกิน' กันไปยาวๆ เหมือน 'น้ำซึมบ่อทราย' อันเป็นโมเดลที่ถูกอกถูกใจปู่อย่างยิ่ง

ที่สำคัญก็คือ ภาพยนตร์ทั้งหมดของดิสนีย์ ในทางบัญชีกลับมีค่าเป็น 'ศูนย์' เพราะถูกตัดจำหน่ายไปจนหมด จึงเป็นมูลค่าที่ 'ซ่อนอยู่' โดยแท้!!

ปู่บอกว่า การเข้าซื้อดิสนีย์ขณะนั้น นอกจากจะได้หนังดีๆ มาผลิตเงินสดให้ ยังได้ครอบครอง 'ดิสนีย์แลนด์' สวนสนุกในฝันของเด็กๆ ทั่วโลก แถมยังได้อัจฉริยะอย่างวอลท์ ดิสนีย์ มาเป็นหุ้นส่วนอีกต่างหาก

ความรักระหว่าง 'บัฟเฟตต์-ดิสนีย์' น่าจะลงเอยแบบ 'together forever' ดั่งเทพนิยายทั่วไป ทว่าเรื่องจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะหลังจากถือครองไว้เพียงปีเดียว ปู่ก็ 'ใจเร็ว' ขายหุ้นทั้งหมดทิ้ง ได้เงินไป 6 ล้านเหรียญ ฟันกำไรเหนาะๆ 2 ล้าน หรือคิดเป็น 14 ล้านเหรียญ ณ ค่าเงินวันนี้ ซึ่งก็น่าพอใจมากแล้ว สำหรับนักลงทุนหน้าละอ่อนอย่างบัฟเฟตต์ในเวลานั้น

แต่กาลเวลาผ่านเลย ดิสนีย์กลับเติบโตต่อเนื่องและก้าวขึ้นมาเป็นมหาอาณาจักรบันเทิงสะท้านโลก การขายหุ้นครั้งนั้น จึงกลายเป็นความผิดมหันต์ของบัฟเฟตต์ บล็อก joshuakennon.com คิดหยาบๆ ว่า หุ้นที่ปู่ขายทิ้งไปเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน รวมปันผลและอื่นๆ น่าจะมีมูลค่าระหว่าง 7,000-12,000 ล้านเหรียญในปัจจุบัน

เป็นค่าเสียโอกาสมโหฬาร ชนิดที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้เลย

บทเรียนที่น่าจะเก็บเกี่ยวได้จากเรื่องนี้ก็คือ ถ้าเราเชื่อมั่นในสมมุติฐานของตนเอง ก็จงยึดมั่นอยู่กับการลงทุนนั้นๆ อย่าเปลี่ยนใจขายทิ้งเพราะคิดว่าได้กำไรเยอะแล้ว มิเช่นนั้น หากความคิดริเริ่มของเราได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง ตัวเราเองก็จะยิ่งเจ็บใจ เนื่องจากไม่ได้มีเอี่ยวอะไรในความก้าวหน้าของมันอีกต่อไป

ดั่ง 'เลิฟสตอรี่' บัฟเฟตต์-ดิสนีย์ ที่เป็นทั้ง 'ความสำเร็จ' และ 'ความผิดพลาด' ที่สุดในชีวิตของปู่นั่นเอง