มองประชานิยมในสังคมบางแห่ง

มองประชานิยมในสังคมบางแห่ง

ผู้ติดตามข่าวการเมืองในอเมริกาและยุโรปในช่วง 2-3 ปีมานี้ คงทราบดีแล้วว่า ผู้วิเคราะห์การชนะการเลือกตั้งแบบพลิกโผของโดนัลด์ ทรัมป์

และผู้นำอีกหลายคนมักอ้างว่า พวกเขาใช้หลัก ประชานิยม” (Populism) เพื่อเอาชนะคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม หากเราพยายามค้นหาว่า นักวิเคราะห์หมายความว่าอะไร ในการใช้คำนั้น เรามักจะพบว่าเราไม่สามารถเจาะจงลงไปได้ ทำให้ตกอยู่ในภาวะเสมือนอยู่ในหมอก นั่นคือ ทั้งที่ดูจะมีอะไรอยู่ข้างหน้า ทว่าเราจับมาดูไม่ได้ ความงุนงงอาจเพิ่มขึ้นเมื่อมองว่า รัฐบาลไทยถูกตราว่าใช้ประชานิยมมาตั้งแต่ปี 2544 และเป็นประชานิยมแนวที่ใช้อยู่ในละตินอเมริกา

ขอเรียนว่า มิใช่ผู้ติดตามข่าวทั่วไปเท่านั้นที่งุนงงกับความหมายและการใช้คำว่าประชานิยม ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์เองก็ดูจะงุนงงและเห็นไม่ตรงกัน ในกรณีของสหรัฐ บางท่านอาจทราบแล้วว่าในอดีตมีพรรคการเมืองชื่อ “พรรคประชานิยม” ซึ่งเสนอแนวนโยบายหลายอย่าง รวมทั้งการช่วยชาวไร่ชาวนาต่อสู้กับธนาคารที่พวกเขาอ้างว่าหน้าเลือด แต่การแข่งขันกับพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ซึ่งผลัดกันเป็นรัฐบาลมานับร้อยปี ไม่ประสบความสำเร็จจึงล้มเลิกไป หลังจากนั้น มีการตั้งพรรคการเมืองที่ใช้ชื่อในแนวเดียวกันหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ทรัมป์ประสบความสำเร็จในฐานะตัวแทนของพรรครีพับลิกัน การหาเสียงของเขาถูกตราว่า เป็นประชานิยมเพราะจุดยืนในด้านการต่อต้านนักการเมืองที่เขาอ้างว่ามีรากยาวฝังลึกอยู่ในกรุงวอชิงตันจนลืมความเดือดร้อนของชาวอเมริกันทั่วไป ในช่วงนั้น ชาวอเมริกันจำนวนมากยังตกงานจากผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มเมื่อปี 2551 และพวกที่มีงานทำจำนวนมากก็มักมีรายได้ต่ำ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำร้ายแรงยิ่งขึ้น 

จะเห็นว่าหลังชนะการเลือกตั้ง ทรัมป์มิได้ทำอะไรต่างไปจากนักการเมืองที่เขาต่อต้านมากนัก ล่าสุด เขาเอนไปตามความเห็นของสมาคมปืนซึ่งมีอิทธิพลมากต่อนักการเมืองรากยาวในกรุงวอชิงตัน ทั้งที่เพิ่งมีเหตุการณ์ใช้อาวุธสงครามยิงเด็กนักเรียนตายไปนับโหลอีกครั้ง

ในยุโรปก็เช่นกัน ผู้นำในหลายประเทศถูกตราว่าใช้ประชานิยมเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง รวมทั้งในฝรั่งเศส ออสเตรีย กรีซและอิตาลี นักการเมืองเหล่านี้อาศัยความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมากต่อความเป็นไปในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการอพยพเข้าไปในประเทศของพวกเขาอย่างผิกกฎหมาย หรือเพื่อลี้ภัยเศรษฐกิจและการเมืองของชาวตะวันออกกลางและแอฟริกา เมื่อได้อำนาจมา นักการเมืองเหล่านั้นมักไม่ทำทุกอย่างดังที่หาเสียงไว้เพราะมีปัจจัยต่างๆ เป็นข้อจำกัด หรือไม่ก็เพราะมิได้หาเสียงด้วยความจริงใจ

มองย้อนไป 200 ปี ถึงกรณีของอาร์เจนตินา ประชาชนส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะไม่พอใจที่นักการเมืองกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นเศรษฐีที่ดินคุมอำนาจมานานและดำเนินนโยบายมุ่งเน้นการเอื้อผลประโยชน์ให้เฉพาะพวกตน เมื่อมีนักการเมืองใจกล้าเสนอว่าจะเปลี่ยนแนวนโยบายเพื่อเอื้อให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์บ้าง เขาก็ชนะการเลือกตั้งครั้งต่อมา 

หลังจากนั้น นักการเมืองอาร์เจนตินาก็หาทางเอื้อประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่โดยวิธีให้เปล่าเพราะชาวอาร์เจนตินาเสพติดประชานิยมแบบนั้นอย่างรวดเร็ว นโยบายนั้นนำไปสู่การใช้จ่ายมหาศาลและความฉ้อฉลจนในที่สุดก็พาอาร์เจนตินาไปสู่ความล้มละลายหลายครั้งและการเข่นฆ่าประชนนับหมื่นคนโดยรัฐบาลทหาร

ส่วนในเวเนซุเอลา การมีรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียม นำไปสู่การดำเนินนโยบายแนวให้เปล่าแก่ประชาชน โดยทั้งรัฐบาลทหารและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นโยบายแนวนี้มีผลหลายอย่างรวมทั้งการละทิ้งเกษตรกรรม การใช้จ่ายไม่รัดกุมและความฉ้อฉลจนนำไปสู่ความหายนะ ซึ่งเวเนซุเอลากำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน

นโยบายประชานิยมในเมืองไทยเริ่มในแนวของอาร์เจนตินา โดยการเสนอของนักการเมืองใจกล้าคนหนึ่งซึ่งต่อมาชนะการเลือกตั้ง นโยบายแนวให้เปล่าของเขาหลายอย่างยังคงอยู่ในปัจจุบัน มันจะพาเมืองไทยไปตามอาร์เจนตินาหรือไม่ ยังยากที่จะคาดเดา ทั้งนี้เพราะจริงอยู่นโยบายได้ทำให้คนไทยเสพติดแล้วและเกิดความฉ้อฉล แต่ยังมีนิมิตรหมายดีในแนวที่โครงการรับจำนำข้าวถูกระงับ