อย่าใช้เงินล้างคอร์รัปชัน

อย่าใช้เงินล้างคอร์รัปชัน

เมื่อปี ค.ศ. 2010 รัฐบาลประเทศกานา ตัดสินใจปรับโครงสร้างเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชัน การสำรวจ

ขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติพบว่า ชาวกานา 91% เชื่อว่าตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่คอร์รัปชันสูงสุด ทำให้ตำรวจเป็นกลุ่มแรกที่ได้ขึ้นเงินเดือน โดยได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัว รัฐบาลประเทศกานาเชื่อว่า เมื่อตำรวจได้เงินเดือนอย่างสมน้ำสมเนื้อแล้วก็จะ “ลด ละ เลิก” การโกงกิน แต่ผลการวิจัยที่ของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน 2 คน คือ เจเรมีและคเวคู พบว่า หลังจากขึ้นเงินเดือน ตำรวจกลับเรียกเก็บส่วยจากรถบรรทุกมากขึ้นกว่าเดิมอีก

เมื่อราว 50 ปีก่อน ไต้หวันเจอกับปัญหาคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนกับกานา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ศุลกากร ปัญหาคอร์รัปชันในวงการศุลกากรของไต้หวันเกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่มีรายได้ไม่พอเลี้ยงตัวเอง เลยต้องหารายได้เสริมโดยมิชอบ แต่หลังจากรัฐบาลตัดสินใจขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้สูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยของเจ้าหน้าที่รัฐประมาณเท่าตัว ควบคู่ไปกับการปราบปรามเจ้าหน้าที่แตกแถวแบบไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม ก็ทำให้การคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ศุลกากรลดลงไปอย่างมาก แถมเงินเดือนที่สูงขึ้น และบรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้น ทำให้มีคนเก่งสนใจมาสมัครงานในหน่วยงานนี้มากขึ้นตามไปด้วย

ทำไมการขึ้นเงินเดือนถึงได้ผลที่ไต้หวันแต่กลับล้มเหลวในประเทศกานา?

งานวิจัยด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในหลายประเทศให้ผลตรงกันว่า สมการการเกิดคอร์รัปชันมีตัวแปร 3 ตัว คือ คอร์รัปชัน = เงินเดือน x โอกาส x การลงโทษ

หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาซึ่งมีปัญหานี้รุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะมีรายได้น้อยกว่าคนทำงานในภาคเอกชน เช่น เมื่อกว่า 30 ปีก่อน เจ้าหน้าที่รัฐในเกาหลีใต้ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าคนทำงานในภาคเอกชนถึง 30% เมื่อราว 40 ปีที่แล้ว เงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลของฮ่องกง มีค่าต่ำกว่าเงินเดือนของผู้บริหารบริษัทประมาณ 5 ถึง 20 เท่า 

ช่วง 30-40 ปี ก่อนหน้านี้ เงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มีระดับต่ำและเพิ่มช้ากว่าค่าครองชีพ ทำให้เจ้าหน้ารัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ถ้าไม่หางานทำเสริมนอกเวลา ก็ต้องหาลำไพ่ด้วยการคอร์รัปชัน เพื่อให้มีเงินพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและครอบครัว

ข้อเท็จจริงเหล่านี้เลยทำให้เชื่อกันว่า การเพิ่มเงินเดือนให้เพียงพอจะทำให้ปัญหาคอร์รัปชันหมดไปได้ แต่หากดูตัวแปรในสมการคอร์รัปชันที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าแนวคิดนี้มองโลกสวยงามเกินความจริง เงินเพียงอย่างเดียวล้างคอร์รัปชันไม่ได้

แม้ว่าเงินเดือนจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้ายังอยู่ในตำแหน่งที่มีโอกาสคอร์รัปชันเพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้นมาอีก ก็จะมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ยังตั้งหน้าตั้งตาคอร์รัปชันต่อไป ยกตัวอย่างเช่น กรณีของตำรวจที่คอยตั้งด่านตรวจในประเทศกานา แม้ว่าจะมีการขึ้นเงินเดือน แต่การไปตั้งด่านบนถนนเพื่อตรวจรถบรรทุก ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ตำรวจเหล่านี้ใช้อำนาจในการตรวจค้นหรือถ่วงเวลาขนส่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้า คนขับรถจึงยอมจ่ายส่วยเพื่อให้ผ่านด่านได้เร็วขึ้น ว่ากันว่าตำแหน่งไหนที่ใกล้เงินของประชาชนหรือสามารถเรียกเงินจากประชาชนได้ ถือว่าเป็นตำแหน่งที่สามารถคอร์รัปชันได้สะดวกที่สุดแล้ว

ถ้าจะตัดทอนโอกาสในการใช้ตำแหน่งคอร์รัปชัน ก็ควรมีการจัดทำรายชื่อตำแหน่งที่ต้องจับตามองและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ระดับล่างสุดถึงระดับบนสุดว่า โดยลักษณะงานและของเขตอำนาจแล้ว ตำแหน่งเหล่านี้มีโอกาสคอร์รัปชันมากน้อยแค่ไหน ตำแหน่งไหนเสี่ยงมาก ก็ควรถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เมื่อผู้อยู่ในตำแหน่งรู้ตัวอย่างตนเองถูกจับตาดูอยู่ ย่อมระมัดระวังตัว ไม่แตกแถวออกมาง่ายๆ 

หากมองข้ามโอกาสคอร์รัปชันซึ่งเกิดจากอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ก็จะเหมือนกรณีของการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ในบ้านเราที่ส่งผลสะเทือนไปถึงผู้บริหารระดับบนของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

ตัวแปรสุดท้ายในสมการคอร์รัปชัน คือ การลงโทษ เรื่องนี้เป็นเรื่องรู้กันดีอยู่แล้วว่าประเทศไหนกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ คนรวยคนจน คนใหญ่คนเล็ก คนมีสีคนไม่มีสี อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายมีบทลงโทษรุนแรงเพียงพอ ประเทศนั้นก็จะมีปัญหาคอร์รัปชันน้อย เพราะการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาจนเป็นตัวอย่างให้สังคมได้รับรู้ว่า คนที่ทำผิดจะใหญ่แค่ไหนก็ไม่รอด ย่อมทำให้คนในสังคมเชื่อมั่นในกฎหมาย 

คนที่คิดจะคอร์รัปชันเองก็รู้ว่าหากโดนจับได้จะเดือนร้อนหนัก จึงระวังตัวไม่ให้ทำผิด ส่วนสังคมเอง เมื่อเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ก็พร้อมจะร่วมมือกับภาครัฐสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการคอร์รัปชันขึ้นมา ถ้ารัฐกับประชาชนช่วยกันจับตาเป็นตาข่ายฟ้าแบบนี้ ถึงผลประโยชน์จะหอมหวลแค่ไหน ก็ไม่มีใครใจถึงกล้าทำไม่ดีแน่นอน

ได้แต่หวังว่า การขึ้นเงินเดือนตำรวจรอบนี้จะมาพร้อมกับสมการปราบคอร์รัปชันที่ครบสูตร จะได้ไม่ซ้ำรอยสิ่งที่เกิดขึ้นในกานาเมื่อ 8 ปีก่อน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เงินก้อนโตที่ลงไปก็ไม่ต่างอะไรกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ