ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐผันผวน

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐผันผวน

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่คนส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่า สาเหตุที่นักลงทุนทั่วโลกต่างก็สนใจติดตามความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของทิศทางนโยบายการเงิน

ในสหรัฐอย่างใกล้ชิด ก็เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงของทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นของสหรัฐเองโดยตรงแล้ว ยังสามารถส่งผลกระทบไปยังตลาดหุ้นทั่วโลกและส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศในระยะสั้นได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยเครือข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ที่เชื่อมต่อถึงกันทั่วโลก

ที่น่าจะแปลกใจกันมากกว่า ก็คือเรื่องที่ว่าการปรับตัวของตลาดหุ้นในสหรัฐนั้น จะส่งผลโดยตรงต่อทิศทางทางการดำเนินนโยบายทางการเงินให้สหรัฐด้วยหรือไม่อย่างไร อุปมาอุปไมย เหมือนกับกรณีหลักการทางฟิสิกส์เรื่อง "แรง” ที่กล่าวไว้ว่า “เมื่อมีแรงที่กระทำต่อวัตถุใดๆ แล้ว ก็ย่อมจะมีแรงปฏิกิริยาโต้กลับในขนาดเดียวกันแต่ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับแรงกระทำต่อวัตถุนั้นเสมอ” เป็นต้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ กรณีที่เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ ตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เขาเห็นว่าการปรับตัวลดลงอย่างมากถึง 4.6% ของดัชนีหุ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา นั้นถือเป็นการปรับตัวลดลงของดัชนีหุ้นตามความปกติของตลาดเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงนี้ 

ขณะเดียวกัน เขาก็คาดว่าระบบเศรษฐกิจสหรัฐนั้น ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นยังไม่ก่อให้เกิดแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างไปยังอัตราเงินเฟ้อแต่อย่างไร และล่าสุดนี้ รายงานเงินเฟ้อของเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ก็พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือน ก.พ.ได้ปรับตัวสูงขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 

ซึ่งขนาดของการปรับเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภคนี้ ได้ลดลงจากตัวเลขของเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จึงมีผลทำให้ตลาดคลายความกังวลต่อเรื่องที่ธนาคารกลางสหรัฐอาจเพิ่มจำนวนครั้งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ด้วย

การที่เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐยึดแนวทางการกำหนดนโยบายการเงินตามเป้าหมายเงินเฟ้อและมีแนวโน้มในการมองการปรับตัวที่สูงขึ้นของราคาหุ้นในตลาดที่ผ่านมาว่า มีสาเหตุมาจากการปรับตัวทางด้านปัจจัยพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจสหรัฐในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าจะมีความผัวผวนของราคาหุ้นที่เพิ่มมากขึ้นก็ตามนั้น ก็เป็นเรื่องที่นักลงทุนทั่วโลกต้องจับตาดูกันต่อไปอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นบวกนั้นเป็นผลมาจากนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีที่ผ่านมามากน้อยเพียงไร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาคธุรกิจเอกชนนั้นจะได้นำผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการที่อัตราภาษีถูกปรับลดลงไป เพื่อไปลงทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว การปรับภาษีนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อด้านปัจจัยพื้นฐานแล้ว มันยังจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีสูงมากขึ้นไปอีก ซึ่งก็จะสอดคล้องกับผลการประมาณการของคณะกรรมาธิการด้านภาษีที่พบว่า การลดภาษีจะมีผลทำให้ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยคือ 0.8% เท่านั้น

ประการที่ ผลจากนโยบายการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ อาจจะเป็นผลเสียต่อปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐเอง เพราะการคุ้มครองดังกล่าวนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และยังอาจก่อให้เกิดสงครามทางการค้าตามมาในที่สุด

ประการที่ 3 การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาของสหรัฐอาจไม่ได้มาจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐานซึ่งเป็นปัจจัยทางด้านอุปทานเท่านั้น แต่อาจเป็นผลมาจากความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากการขยายตัวของปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้สหรัฐต้องพึ่งพาเงินออมจากต่างประเทศในการผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่อไปได้ โดยมีการขาดดุลทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในแง่มุมนี้แล้ว ก็เป็นการยากที่จะสรุปได้ว่า การปรับตัวสูงขึ้นของราคาหุ้นในตลาดเป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้น ไม่ได้เป็นผลมาจากปัญหาฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว การดำเนินนโยบายการเงินของประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ที่ต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึงปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเป็นหลัก แต่ไม่ให้น้ำหนักเท่าไรนักกับปัญหาเรื่องราคาฟองสบู่ในตลาดหุ้น เพราะมองว่าเป็นเรื่องของปัจจัยพื้นฐานเป็นหลักแล้ว ก็ย่อมจะทำให้สูญเสียโอกาสที่จะได้สกัดกั้นปัญหาราคาฟองสบู่นี้ได้ทันต่อเหตุการณ์นั่นเอง

นักลงทุนทั่วโลกจึงคงต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตา ในความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของทิศทางนโยบายการเงินในสหรัฐว่า จะมีผลต่อความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐไป ในทิศทางที่จะช่วยให้สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่อไปได้ หรือว่าจะมีการปรับฐานครั้งใหญ่อย่างที่หลายคนคาดไว้หรือไม่ อย่างไร และเมื่อไร