บ้านหญิง โอกาสร้านอาหารไทยต่างแดน

บ้านหญิง โอกาสร้านอาหารไทยต่างแดน

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปร่วมในพิธีเปิดร้านอาหาร “บ้านหญิง” ที่ประเทศสิงคโปร์

เป็นการปักธงในต่างประเทศเป็นครั้งแรกของร้านอาหารไทยที่ดำเนินกิจการมานานถึง 20 ปี ในประเทศไทย ร้านอาหารบ้านหญิง เปิดอาหารร้านแรกเมื่อปี 2540 ที่สยามสแควร์ แทนธุรกิจเดิมคือร้านตัดสูทที่ดำเนินกิจการโดยคุณอรนุช ธารีฤกษ์ ที่ทำมาตั้งแต่อายุ 20 ปี 

เมื่อเจอวิกฤตเศรษฐกิจจึงตัดสินใจหันมาเปิดร้านอาหาร คุณอรนุชฯ จบด้านบรรณารักษ์ ไม่ได้ลงมือทำอาหารเอง แต่เป็นคนที่ดูแลทุกรายละเอียดด้วยตนเอง เริ่มต้นจากทำร้านอาหารเน้นกลุ่มเด็กนักเรียนที่มาเรียนพิเศษ จึงเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จนเปิดสาขาตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพแล้ว 7 สาขา มีรายได้ปีหนึ่ง ทะลุหลักร้อยล้านแล้ว

การขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศครั้งนี้ เป็นการร่วมทุนระหว่างบ้านหญิง กรุ๊ป ภายใต้บริษัทย่อยบริษัท บางกอก วูดเด้น สพูนจำกัด กับบริษัท สยามพูน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่ม Raimon Land

เปิดร้านบ้านหญิงที่ตึก Royal Square@Novena บนถนน Irrawanddy ใกล้สถานีรถไฟใต้ดิน Novena MRT และสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น Church of saint Alphonsus ,Tan Tock Seng Hospital และ Reevenue House โดยภายในไตรมาส 1 ปีนี้ จะเปิดร้านที่มี 2 แบรนด์ ในชั้น 1 คือร้าน Dink Dink ที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว เมนูก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้ง และเครื่องดื่มไทยโบราณ และชั้น 2 เป็นร้าน “บ้านหญิง” ที่มี 70 เมนู ในไตรมาส 3 จะเปิดร้านที่ 3 ภายใต้คอนเซ็ปท์สไตล์ ฮอตพอท ภายใน 5 ปี จะขยายเป็น 20 สาขา  เป้าหมายในประเทศสิงคโปร์ 6 สาขา ไต้หวัน 2 สาขา และจีน 12 สาขา

การเปิดสาขาที่ประเทศสิงคโปร์ครั้งนี้เพราะชาวสิงคโปร์เป็นนักชิมที่เข้าใจในรสชาติของอาหารไทย นิยมอาหารไทยที่มีความโดดเด่นเป็นอาหารที่เหมาะต่อสุขภาพเพราะมีผักเป็นส่วนประกอบมาก มีเอกลักษณ์เฉพาะในด้านความกลมกล่อมและความหลากหลายของอาหาร การบริการที่เป็นมิตร สุภาพอ่อนหวาน

บ้านหญิง เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบความสำเร็จ เป็นแบบอย่างของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และผมมั่นใจว่ายังมีผู้ประกอบการร้านอาหารไทยอีกเป็นจำนวนมากที่มีโอกาสจะเปิดร้านอาหารในต่างประเทศได้ 

ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยกระจายตัวอยู่ทั่วโลกกว่า 15,000 ร้าน เป็นร้านที่ได้ตราสัญลักษณ์ Thai Select ทั้งสิ้น 1,301 ร้าน ร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีบทบาทเผยแพร่วัฒนธรรมไทย นำมาซึ่งการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เครื่องปรุงรส ซอส กระทิ สมุนไพร เครื่องเทศ และกลุ่มอาหารพร้อมปรุง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัว ร้อยละ 6 ต่อปี มูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในซัพพลายเชน ในปี 2561 ประมาณการว่าจะสูงกว่า 133,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น พ่อครัว เฟรนไชส์ร้านอาหาร โรงเรียนสอนการทำอาหาร บริการออกแบบและตกแต่งอาหาร(Food Stylist) คาดว่ามูลค่าซัพพลายเชนอาหารไทยในต่างประเทศขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมร้านอาหารไทยในต่างประเทศจัดกิจกรรมให้ความรู้ เพิ่มพูนทักษะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ โดยมีวิทยากรผู้ประสบความสำเร็จจากร้านอาหารไทยทั่วโลก ซึ่งท่านผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ยังมีบริการสนับสนุนทางการเงินแก่นักลงทุนไทยในการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ให้เงินกู้เป็นสกุลบาท ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร หรือเยน ผู้กู้จะต้องมีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลในประเทศไทย มีประสบการณ์ร้านอาหารไทยในต่างประเทศอย่างน้อย 1 ปี หรือในประเทศไทยอย่างน้อย 3 ปี

ในช่วงที่เศรษฐกิจบ้านเรายังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกนาน กำลังซื้อภายในประเทศยังไม่ดีขึ้น การออกไปทำมาหากินในประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีกำลังซื้อสูง เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ควรพลาดครับ..