CTO จำเป็นหรือไม่?

CTO จำเป็นหรือไม่?

ปัจจุบันคำว่า Transform หรือ Transformation กลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและค่อนข้างเกร่อ ทั้งในหน่วยงานราชการและเอกชน

 และจากกระแสของการ Transform นั้น ก็จะเริ่มเห็นตำแหน่งของผู้บริหารระดับสูงเพิ่มขึ้นมาอีกตำแหน่งหนึ่ง นั่นคือ CTO หรือ Chief Transformation Officer ทำให้เริ่มได้รับคำถามมากขึ้นว่า CTO มีไว้ทำไมและจำเป็นหรือไม่?

เริ่มต้นจากความสำคัญและจำเป็นก่อน ในปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงตลอดเวลา ทำให้องค์กรไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ การบริหารองค์กรในปัจจุบันต้องอาศัยการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้บริหารที่เป็นระดับ C-Level ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น COO หรือ CFO หรือ CIO ต่างก็มีงานของตัวเองที่ต้องดูแลรับผิดชอบในแต่ละด้านอยู่แล้ว ดังนั้นใครจะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายในองค์กร? จะหวังพึ่ง CEO ท่านเดียวหรือ?

ดังนั้นองค์กรหลายๆ แห่ง จึงเริ่มที่จะมีตำแหน่ง CTO ขึ้นมาอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่ง CTO นั้นจะมีบทบาทที่ค่อนข้างครอบจักรวาล ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้องค์กรสามารถก้าวไปข้างหน้า บทบาทของ CTO จึงไม่ใช่เรื่องงานประจำ จะต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการประสานและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสำคัญ

การจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้นั้น CTO จะต้องสามารถกระตุ้นให้ทั้งผู้บริหารและบุคลากรเกิดความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นในการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ทั้งการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น การทำตัวเป็นต้นแบบและตัวอย่างให้กับบุคคลอื่น ที่สำคัญ CTO จะต้องสามารถทำหน้าที่ในการประสาน เชื่อมโยง ร่วมมือ กับผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

สรุปง่ายๆ ว่างานสำคัญประการหนึ่งของ CTO คือการสื่อสารให้ทุกคนเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง และในองค์กรบางแห่งนอกจากสื่อสารภายในแล้วยังต้องสื่อสารออกไปภายนอกด้วย

อีกบทบาทหนึ่งที่น่าสนใจของ CTO คือการทำตัวเป็นผู้ท้าทายต่อแนวคิดและสิ่งเดิมๆ ที่เคยปฏิบัติมา เชื่อกันว่า CTO ไม่ควรจะมาจากคนภายในองค์กรหรือผู้บริหารที่เติบโตมาตามสายงานปกติ เนื่องจากจะมีอดีตและความคุ้นเคยในสิ่งที่ปฏิบัติกันมาก่อน จนอาจจะไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง CTO จะต้องท้าทายต่อความเชื่อและแนวปฏิบัติเดิมๆ ที่มีมาแต่อดีต ดังนั้น CTO จะต้องไม่เกรงกลัวที่จะเผชิญหน้ากับผู้บริหารเดิมๆ ที่มีอยู่ อีกทั้ง CTO จะต้องทำให้ผู้บริหารและบุคลากรเดิมๆ ไม่สามารถที่จะทำงานในรูปแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป

กล่าวได้ว่าความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดของ CTO คือการรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง

เมื่อดูจากบทบาทหน้าที่ของ CTO แล้วจะพบว่างานของ CTO นั้นไม่ใช่งานง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะต้องรับผิดชอบต่อการบริหารและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ดังนั้นคนที่จะมาเป็น CTO ได้ ก็จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการมีประสบการณ์ที่หลากหลาย มีความรู้ในแบบ cross-functional มาก่อน อีกทั้งจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างสุดกำลังทั้งจากผู้บริหารสูงสุดและบรรดาผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ 

CTO จะต้องเป็นคนที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นและทำงานเป็นทีมได้ดี (การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นจากคนเพียงคนเดียว) อีกทั้งต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจและสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาศัยข้อมูลและการวิเคราะห์เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ สำคัญสุดคือ CTO จะต้องเป็นผู้มีความฉลาดทางอารมณ์ เพราะจะต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาจากเรื่องของคน

ลองสังเกต CTO ในองค์กรของท่านหรือในองค์กรใหญ่ๆ ดูนะครับว่ามีบทบาทและคุณสมบัติแตกต่างไปบ้างไหม เราพอจะเริ่มเห็นตำแหน่ง CTO ในองค์กรต่างๆ มากขึ้น แล้วประเทศไทยในยุคของการปฏิรูปใครคือ CTO ของเรา?