การส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม

การส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม

การเพิ่มคำว่า “นวัตกรรม” ไว้ในค่านิยมขององค์กร หมายถึงการสื่อสารกับพนักงานทั่วไปว่าทุกคนจะต้อง “กล้า” มากกว่า “กลัว”

ฉบับนี้ขออนุญาตแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม หรือองค์กรทั่วไปแบบธรรมดาแต่ต้องการจะทำอะไรให้มากกว่าการปรับปรุงงานเล็กๆน้อยๆ โดยนำประสบการณ์จากโครงการ Managing for Innovation ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติคัดเลือกองค์กรต่างๆที่สมัครเข้ามาเหลือ 30 องค์กร เข้ารับการถ่ายทอดความรู้การจัดการนวัตกรรม


แน่นอนสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำลังความสามารถ มีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และมีความพร้อมด้านงบประมาณ แค่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและแผนงานที่ละเอียดรอบคอบ ที่เหลือก็คงเป็นเพียงการลงมือปฏิบัติให้เป็นไปตามแผน
แต่สำหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางที่อาจจะขาดหลายๆอย่างไปพร้อมๆกัน อาทิ ทรัพยากรบุคคลที่มีจำนวนจำกัด ความรู้ความสามารถก็อาจไม่มากพอในการที่จะไปทดลองอะไรที่ออกไปนอกกรอบการทำงานประจำวัน งบประมาณที่จะไปลงทุนอะไรใหม่ๆก็มีไม่มาก


อีกทั้งอาจไม่มีความกล้ามากพอที่จะสูญเสียเงินไปกับลองคิดค้นทดลองอะไรใหม่ๆที่ไม่แน่ใจในผลสำเร็จของมัน


ทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสเจอกับผู้บริหารระดับสูง หรือทีมผู้บริหารองค์กร คำถามพื้นๆเดิมๆก็คือ


“ถึงเวลาที่องค์กรต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างหรือยัง” แล้วถ้าคำตอบคือ “ใช่” เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรด้วยเหตุผลหรือแรงผลักดันจากสิ่งไหนระหว่าง “วิสัยทัศน์” กับ “วิกฤต”

แน่นอนทั้งสองเหตุปัจจัยนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงองค์กรแต่กระบวนการและผลของการเปลี่ยนแปลงต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ “วิสัยทัศน์”
เกิดจากการคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคต และกำหนดสิ่งที่เราต้องการจะเป็นด้วยตัวเราเอง ที่สำคัญมันมีเวลาให้เราเตรียมการ จัดทำแผน และจัดสรรทรัพยากรให้สอดรับกับแผนดังกล่าว

ในขณะที่ “วิกฤต” คือการรอให้เหตุปัจจัยนั้นมันเกิดขึ้นและชัดเจน แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเราอาจจะคาดคิดมาก่อนล่วงหน้าว่ามันจะเกิดและกระทบกับการดำเนินธุรกิจของเราแน่ แต่เราไม่ได้ตื่นตัวที่จะรับมือกับมัน อันอาจเนื่องมาจากเรายังทำมาค้าขายได้ ยังมีรายได้เข้ามา และยังไม่มีทีท่าว่าจะไปต่อไม่ได้ อันนั้นก็คงเนื่องมาจากความประมาทและความชะล่าใจที่คิดว่าแค่ปรับปรุงเล็กๆน้อยๆไปเรื่อยก็คงไม่เป็นอะไรมั้ง

แต่อย่างที่รู้เงื่อนไขการแข่งขันทางธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างมากโดยเฉพาะทศวรรษนี้ที่เทคโนโลยีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง อาทิ
การเปลี่ยนจากยุคไมโครเทคโนโลยี(ไมครอนหรือ หนึ่งส่วนในล้านส่วน) สู่ยุคนาโนเทคโนโลยี(หนึ่งในพันของไมครอน) เกิดการสังเคราะห์วัสดุที่มีโครงสร้างเล็กลงอย่างมากมาย เทคโนโลยีการสื่อสารจากมีสายไปสู่ไร้สายการปรับปรุงพันธ์ไปสู่การตัดต่อพันธุกรรม เป็นต้น


โจทย์ที่น่าสนใจอยู่ที่การนำวิธีการจัดการนวัตกรรมเข้ามาใช้ใน SMEs อย่างเป็นระบบ โดยขอหยิบยกแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญจาก Innovation Lab คือ Langdon Morris ที่เรียกว่า “การจัดทำแผนแม่บทนวัตกรรม” หรือ Innovation Master Plan ซึ่งประกอบด้วย (1)การจัดทำ
Business Strategy (2)การกำหนด Innovation Portfolio (3)การสร้าง Innovation Process (4)การส่งเสริม Innovation Culture และ (5)การวางรากฐาน Innovation Infrastructure


ซึ่งเมื่อใดที่เป้าหมายใหญ่(วิสัยทัศน์)เปลี่ยน นโยบายและทิศทางก็ต้องถูกกำหนดขึ้นใหม่


จะเห็นว่าหลายองค์กรเริ่มนำคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรม” เข้าไปแทรกไว้ในที่ใดที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ พันธกิจ หรือค่านิยมขององค์กร นัยความสำคัญมีความแตกต่างกันไปในที่ที่กำหนดไว้ แน่นอนถ้ามีคำว่า “นวัตกรรม” อยู่ในวิสัยทัศน์มักจะบ่งบอกว่าธุรกิจขององค์กรกำลังก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจนวัตกรรม


ถ้ากำหนดไว้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของพันธกิจ ก็กำลังบ่งบอกว่ากระบวนการภายในจะมุ่งใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมเข้ามายกระดับการดำเนินงาน

ในขณะที่มีการเพิ่มคำว่า “นวัตกรรม” ไว้ในค่านิยมขององค์กร ก็กำลังสื่อสารกับพนักงานทั่วไปว่า ต่อไปนี้วัฒนธรรมการทำงาน รวมไปถึงทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนทักษะความสามารถจะต้องเป็นไปสู่บริบทใหม่ที่ทุกคนจะต้อง “กล้า” มากกว่า “กลัว”


สำหรับองค์กรหรือโรงงานอุตสาหกรรมใดที่มีพื้นฐานแนวคิด “การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง Kaizen” มาใช้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะมาในรูปแบบการดำเนินการหรือกิจกรรมใดๆ อาทิ 5ส QCC หรือระบบข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงงาน (Kaizen Suggestion System) อยู่แล้ว ก็เพียงแต่ต่อยอดความคิดของพนักงานจากระบบเดิม โดยคิดโจทย์ใหม่ที่มันท้าทายมากขึ้นและมีทางออกของการแก้ไขที่ใช้ความรู้มากขึ้น

จากการคิดปรับปรุงงานเป็นจุดเล็กๆง่ายๆรอบตัวเรา (Kaizen idea) ไปสู่การคิดแบบหลายหัว รวมกลุ่มในแผนกเดียวกัน หรือการทำงานข้ามแผนกข้ามฝ่ายโดยเป็นการคิดใหม่ในเชิงกระบวนการ (System kaizen) หรือการประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ที่มีอยู่ในโลกนี้มาใช้ (Engineering kaizen) เพื่อให้กระบวนการหรือผลิตภัณฑ์มีความก้าวหน้าทันสมัย ให้ผลลัพธ์ที่ก้าวกระโดดจากเดิมหลายเท่า


การดำเนินการในรูปแบบโครงงาน (Project based) แน่นอนต้องใช้ความคิดที่ใหม่ (new Idea) ต้องใช้ความทุ่มเทและความพยายามที่มากกว่าเดิม และหลายครั้งที่ต้องใช้ทักษะความสามารถหลายด้านจากหลายคนและหลายแผนก (Implementation effort) โดยหวังผลของการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าเดิมหลายเท่า (Impact) การดำเนินโครงการในลักษณะนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรม “กล้าคิด กล้าฝัน
และกล้าที่จะลงมือทำให้เกิดความแตกต่างไปจากเดิม”

ทั้งนี้กลไก กระบวนการและแผนงานรณรงค์ส่งเสริมจนนำไปสู่บรรยากาศและสภาพแวดล้อมใหม่ต้องติดตามต่อไปครั้งหน้าครับ