“มองการเมืองไทย มองนิวซีแลนด์”

“มองการเมืองไทย มองนิวซีแลนด์”

อาทิตย์ที่แล้ว มีข่าวการจดแจ้งของกลุ่มการเมือง เพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ซึ่งล่าสุด มีจำนวนมากถึง 50 พรรค และบางพรรคก็ประกาศชัดเจนว่าตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนตัวบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ประชาชนที่ต้องลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองเมื่อการเลือกตั้งมาถึง ยังไม่สามารถทราบได้ว่า พรรคการเมืองเหล่านี้จะเข้ามาเพื่อทำอะไร มีนโยบายอย่างไร และจะเป็นตัวเลือกในการแก้ไขปัญหาของประเทศหรือไม่ 

สะท้อนถึงปัญหาของการเมืองไทยที่มีมานาน นั่นคือ ช่องว่างระหว่างการเข้ามาเล่นการเมืองของนักการเมืองเพื่อการเมือง กับสิ่งที่ประชาชนหวังจากนักการเมืองที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนหรือรัฐบาลไหนสามารถทำได้

ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ถ้าจะให้เดา สิ่งที่ทุกพรรคการเมืองจะพูดถึงในนโยบายของตนก็คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องแก้ไข เป็นปัญหาที่สะท้อนข้อเท็จจริงของสังคมและกลไกของระบบทุนนิยมที่ประเทศไทยมี ที่เป็นระบบทุนนิยมภายใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ คือ ทุนนิยมที่ไม่มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม แต่เป็นทุนนิยมที่ผู้ที่มีอำนาจจากระบบอุปถัมภ์ สามารถใช้อำนาจดังกล่าวสร้างความได้เปรียบ ที่นำมาสู่อำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจ 

นำไปสู่การสร้างสถานะของตนในสังคม เพื่อสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อไป จนไม่มีใครกล้าแตะต้อง แม้จะทำผิดกฎหมาย ผลคือ ประเทศเติบโตบนปัญหาของความไม่เป็นธรรม การเอารัดเอาเปรียบ และการทุจริตคอร์รัปชัน ขณะที่ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็ถูกตัดตอนหรือลดทอนลงโดยกลุ่มผู้มีอำนาจ จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ (policy capture) ปัญหาจึงเป็นปัญหาอยู่ต่อไป แก้ไขไม่ได้ 

แล้วเราจะทำอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร

วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงพันธกิจที่ประเทศมีขณะนี้ในปัญหาที่ต้องแก้ไข ก็คือ การดูว่าประเทศที่ไปได้ดีกว่าเรา มีปัญหาน้อยกว่าเรา แม้ประเทศจะเล็กกว่าเรา เขามีความเข้มแข็งอย่างไร และทำนโยบายอย่างไร ที่ทำให้ประเทศเขาเข้มแข็ง เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง ซึ่งประเทศที่จะเขียนถึงวันนี้ก็คือ นิวซีแลนด์

นิวซีแลนด์เป็นประเทศเล็ก มีประชากร 4.8 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย มีรายได้ประชาชาติ 215 พันล้านดอลลาร์ต่อปี น้อยกว่าไทยเกือบครึ่งหนึ่ง แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนนิวซีแลนด์ เท่ากับ 44,069 ดอลลาร์ต่อปี สูงกว่าประชากรไทยเกือบ 6 เท่า 

ที่สำคัญ นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันน้อยที่สุดในโลก เป็นอันดับหนึ่งใน 180 ประเทศ ได้ 89 คะแนนในการจัดอันดับล่าสุดขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ปี 2017 เทียบกับไทย ที่ได้ 37 คะแนน ซึ่งประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันน้อยมักจะมีความเข้มแข็งคล้ายๆ กัน คือ สื่อมวลชนมีเสรีภาพ ประเทศมีความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลงบประมาณและการใช้จ่ายของรัฐได้ คนที่อยู่ในอำนาจและอยู่ในตำแหน่งมีความซื่อตรงสูง (integrity) ระบบยุติธรรมมีมาตรฐานเดียว ไม่ว่าจะจนหรือรวย 

สำหรับนิวซีแลนด์ จุดที่เด่นมากคือ เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชน มีระบบราชการที่ทำงานบนพื้นฐานของความสามารถ (merit-based) มีระบบการตรวจสอบ (audit) ที่เข้มแข็ง มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และประชากรมีมาตรฐานการศึกษาดี สิ่งเหล่านี้คือ ลักษณะของสังคมที่ประเทศนิวซีแลนด์มี ที่มีผลไปสู่พฤติกรรมที่ดีของคนในสังคม และคุณภาพของระบบการเมืองของประเทศ

ระบบการเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ เป็นระบบที่ดีที่สุดระบบหนึ่งของโลก เป็นระบบประชาธิปไตยที่ประชาชนออกเสียงลงคะแนนเลือกทั้งผู้แทนหรือส.ส.เขต และเลือกพรรคที่ตนอยากให้เป็นรัฐบาลไปพร้อมๆกัน ทำให้ประชาชนจะเลือกได้ทั้ง ส.ส. ที่จะเป็นผู้แทนของตนในพื้นที่ และพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ตนเองสนับสนุน ระบบดังกล่าวทำให้ ส.ส. ที่เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนจะมีที่มา 2 แบบคือ เป็นส.ส.เขต หรือเป็น ส.ส. พรรค ไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว ไม่มีสภาสูงหรือวุฒิสภา ทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นศูนย์อำนาจเดียวของประเทศ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อนโยบายและการออกกฎหมายต่างๆ โดยไม่มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง เข้ามายุ่งเกี่ยว ที่จะทำให้การทำงานของสภาช้า ติดขัด หรือพลิกล็อค 

ที่สำคัญ การผสมผสานระหว่าง ส.ส.เขต และ ส.ส.พรรค ทำให้พรรคการเมืองที่มีนโยบายดี ที่ประชาชนชอบ สามารถมีที่นั่งในสภาได้ แม้จะไม่มีฐานเสียงที่จะช่วยเลือก ส.ส.เขต เราจึงเห็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายส่งเสริมเรื่องเฉพาะบางเรื่อง ที่ประชาชนเห็นว่าสำคัญ สามารถมีที่นั่งในสภา เพราะประชาชนลงคะแนนเลือกพรรค เช่น การเลือกตั้งเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พรรคกรีนที่สนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ 8 ที่นั่ง หรือ พรรคนิวซีแลนด์เฟิร์ส ที่สนับสนุนการลดจำนวนผู้อพยพเข้าประเทศได้ 9 ที่นั่ง

เทียบกับพรรคใหญ่ที่ฐานเสียงส่วนใหญ่เป็น ส.ส.เขต เช่น พรรคแห่งชาติ (National) หรือพรรคแรงงาน ได้ 56 และ 46 ที่นั่ง ตามลำดับ ที่สำคัญ เมื่อพรรคเล็กที่มีนโยบายดีสามารถมีที่นั่งในสภา โอกาสของการได้รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมจากการรวมตัวของพรรคการเมืองเล็ก ก็มีความเป็นไปได้ เช่น ปัจจุบัน ที่รัฐบาลนิวซีแลนด์มาจากการรวมตัวของพรรคการเมือง 3 พรรค ที่ไม่ใช่พรรคที่ได้จำนวนที่นั่งมากที่สุด คือ พรรคแรงงาน 46 ที่นั่ง พรรคกรีน 8 ที่นั่ง และพรรคนิวซีแลนด์เฟิร์ส 9 ที่นั่ง รวมแล้ว 63 ที่นั่ง มากกว่าพรรคแห่งชาติที่ได้ 56 ที่นั่ง เป็นรูปแบบของระบบการเมืองที่พรรคเล็กที่มีนโยบายที่ประชาชนสนับสนุน สามารถมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล และนำนโยบายของตนไปปฏิบัติ

คุณภาพของการทำนโยบายก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่ง รัฐบาลนิวซีแลนด์ ปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรีเป็นสุภาพสตรี เป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน อายุเพียง 37 ปี คือ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) มีนโยบายต้องการให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่นโยบายสาธารณะให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน (well-being) ไม่ใช่แต่การเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างที่เราทราบ ในระบบเศรษฐกิจที่มีความบกพร่องเชิงโครงสร้าง และมีความไม่ยุติธรรมมาก การเติบโตของเศรษฐกิจจะไม่นำไปสู่คุณภาพชีวิตหรือความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างทั่วถึง 

ในกรณีของนิวซีแลนด์เป้าหมายของความเป็นอยู่ที่ดีก็คือ ทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทำให้ประชาชนสามารถมีชีวิตได้อย่างที่ต้องการ โดยรัฐบาลช่วยสร้างโอกาส สร้างความสามารถ และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ของชีวิตได้ และมีส่วนร่วมที่จะทำให้ชีวิตคนอื่นๆ ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน เป็นเป้าหมายของการทำนโยบายที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ลึกซึ้งในบทบาทหน้าที่ของนักการเมือง

ภายใต้แนวคิดดังกล่าว นโยบายสาธารณะของรัฐบาลนิวซีแลนด์จึงมุ่งเน้นการสร้างทุน 4 ประเภทให้เป็นตัวขับเคลื่อนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทุนแรก คือ ทุนการเงิน (financial capital) ซึ่งรวมถึงความมั่งคั่ง บ้านที่อยู่อาศัย และคุณภาพของสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่จะเป็นฐานของการสร้างรายได้ การบริโภค และการเก็บออมของประชาชน

2.คือทุนมนุษย์ (human capital) ซึ่งรวมถึงทักษะความสามารถ และสุขภาพพลานามัย ที่จะนำไปสู่การมีงานทำ นวัตกรรม และคุณภาพชีวิต 3. คือ ทุนสังคม (social capital) ซึ่งหมายถึง ความเข้มแข็งของสถาบันสังคม ความไว้วางใจ อิสรภาพ และความปลอดภัย 

และ4. ทุนธรรมชาติ (natural capital) ซึ่งก็คือ คุณภาพของอากาศ น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชนและประเทศ นี่คือ ทุน 4 ด้านที่นโยบายสาธารณะของประเทศนิวซีแลนด์มุ่งสร้างและรักษาให้เติบโต เพื่อเป็นฐานให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนนิวซีแลนด์เพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่ความกินดีอยู่ดีของประชาชนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง​​​

อ่านแล้ว รับรู้แล้ว ก็ต้องทึ่งในวิธีคิดและความตั้งใจของผู้นำทางการเมืองของประเทศเล็กๆ อย่างนิวซีแลนด์ ที่มีการทำนโยบายที่มองยาว คิดไกล และเป็นระบบ เพื่อประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนของประเทศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ที่ผ่านมา พรรคใหญ่ๆ ในบ้านเราไม่เคยคิดและไม่เคยทำแบบนี้ ความหวังก็เลยอยู่ที่พรรคเล็ก ว่าจะมีไหม ใน 50 พรรคที่เสนอตัวเข้ามา ที่จะเป็นเพชรในตม มีนโยบายดี ที่ประชาชนชอบ จนเป็นตัวเปลี่ยนสถานการณ์การเมือง และการทำนโยบายของประเทศ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน จะมีไหมใน 50 พรรคนี้ หรือจะเป็นการเมืองแบบเดิมๆ