'โอกาส' หรือ 'ความเสี่ยง' ตลาดหุ้นเกิดใหม่

'โอกาส' หรือ 'ความเสี่ยง' ตลาดหุ้นเกิดใหม่

การขยายตัวของเศรษฐกิจของโลกที่เร่งตัวขึ้นมักจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่

ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงแกว่งตัวในกรอบจำกัด หลังจากมีแรงเทขายจาก 1) ความกังวลเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร และ 2) การประกาศมาตรกีดกัดการค้าของสหรัฐ

ตลาดหุ้นไทย และตลาดอาเซียน ยังคงให้อัตราผลตอบแทนที่ดีในรอบ 3 เดือนแรกของปี แม้ว่าจะมีความผันผวนที่เกิดจากการเทขายทำกำไรจากสองประเด็นดังกล่าว แต่หากประเมินพฤติกรรมนักลงทุนในอดีตที่ผ่านมาในทุกวัฐจักรเศรษฐกิจของโลก

การขยายตัวของเศรษฐกิจของโลกที่เร่งตัวขึ้นมักจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging market-EM) ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วยบริษัทที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ต้นน้ำ และ เป็นแหล่งผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่เป็นลักษณะ outsourcing จากบริษัทแม่ในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และสายการผลิตต่อเนื่องให้บริษัทจีน

การขยายตัวของเศรษฐกิจในซีกโลกตะวันออก คาดว่าจะมีความต่อเนื่องในปี 2561 หลังจากสัญญานการขยายตัวของมูลค่าสินค้าส่งออกขยายตัวได้ดีนับจากปลายปี 2559 ท่ามกลางสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ กำลังซื้อของคนในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น และกำไรบริษัทจดทะเบียนมีการขยายตัวได้ดีกว่าเดิม

จากสถิติข้อมูลในอดีต ภาวะการลงทุนท่ามกลางภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ อัตราผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียน และเอเซียมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นใหญ่อย่างยุโรป และ สหรัฐ อันเนื่องจากกำไรบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคนี้จะโตเร็วกว่า

อย่างไรก็ดี การลงนามของประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อให้มีการปรับอัตราภาษีนำเข้าเหล็ก และอลูมิเนียม ของสหรัฐเพื่อสร้างการจ้างงานเพิ่ม ล่าสุดทำให้นักลงทุนกังวลในเรื่องการโต้ตอบกำแพงภาษีระหว่างกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นและรุนแรง แน่นอนปริมาณการค้าของโลกจะหดตัวลง เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าจะแพงสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ และ กระทบต่อปริมาณการบริโภคในที่สุด

ปัจจุบัน ผลกระทบอาจยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนนัก ทั้งนี้ต้องรอดูมาตรการของสหภาพยุโรป และประเทศใหญ่อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนว่า จะมีท่าทีอย่างไร แต่แน่นอนว่า นักวิเคราะห์จะมุ่งจุดสนใจมายังกลุ่มประเทศเอเซียซึ่งได้เปรียบดุลการค้าของสหรัฐอยู่หลายประเทศด้วยกันใน 10 อันดับแรก

ในมุมมองของเรา เราประเมินว่า การตอบโต้ด้านกีดกันการค้ายังคงมีขอบเขตจำกัด โดยด้านสหภาพยุโรปจะนำประเด็นนี้หารือกับทาง World Trade Organization (WTO) เนื่องจากขัดต่อมติข้อตกลงของการค้าระหว่างประเทศซึ่งประเทศสหรัฐมีส่วนผลักดันในเกิดขึ้นในอดีต
เรายังคงมุมมองด้านบวกต่อการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน และเอเซีย ที่จะร่วมมือกันเพื่อต่อรองเจรจาการค้ากับประเทศสหรัฐได้เฉกเช่นเดียวกันกับกลุ่มสหภาพยุโรป และผลการเจรจาย่อมต้องการจำกัดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกไม่หายล้มระเนระนาดในรอบสอง หลังจากวิกฤตการเงินของสหรัฐเมื่อ 9 ปีก่อน โดยเรายังคงมุมมองว่า ตลาดหุ้นอาเซียนที่ปรับตัวลง น่าจะเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในรอบนี้ โดยตลาดหุ้นเหล่านี้ยังดึงดูดใจในเรื่องของอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และ อัตรากำไรที่ขยายตัวได้โดดเด่นเมื่อเทียบกับกลุ่มตลาดหุ้นเกิดใหม่ด้วยกัน

โดยนักลงทุนอาจสามารถทยอยสะสมกองทุนเมื่อดัชนีตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเหล่านี้อ่อนตัวลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนยังคงสนับสนุนว่าทิศทางของเงินยังคงไม่หนีออกจากตลาดหุ้นภูมิภาคนี้ เพียงแต่รอดูสถานะการณ์ให้แน่ใจก่อนไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในรอบใหม่เท่านั้น