ในที่สุดก็เห็นโลงศพ

ในที่สุดก็เห็นโลงศพ

เวเนซุเอลาเป็นข่าวบ่อยในช่วงนี้ เพราะกำลังประสบวิกฤติ รายงานมักนำข้อมูลจำนวนหนึ่งมาเสนอพร้อมกับการวิเคราะห์

โดยเฉพาะเกี่ยวกับการขาดแคลนแสนสาหัส ทั้งอาหารและยารักษาโรค ความขาดแคลนส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นรายวันและชาวเวเนซุเอลาพากันออกนอกประเทศหากทำได้ การวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิกฤติมักเน้นเรื่องราคาน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งตกลงมากว่าครึ่งหลังปี 2555 การเน้นเรื่องราคาน้ำมันเช่นนั้นไม่ผิด เพราะเวเนซุเอลา อาศัยรายได้จากการขายน้ำมันเพื่อนำเข้าเกือบทุกอย่าง รวมทั้งอาหารและยารักษาโรค แต่รากเหง้าของปัญหาลึกกว่านั้นและการตกของราคาน้ำมันเป็นเพียงตัวจุดชนวนวิกฤติ

อาจไม่เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางนักว่า ตามข้อมูลปัจจุบัน เวเนซุเอลามีทรัพยากรน้ำมันมากที่สุดในโลกและเคยส่งออกมากที่สุดด้วย แต่ตอนนี้มิใช่ผู้ส่งออกมากที่สุด เพราะน้ำมันของเวเนซุเอลาไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากเป็นจำพวกน้ำมันหนักซึ่งสูบขึ้นมาและกลั่นยากกว่าน้ำมันของผู้ส่งออกรายอื่น

ย้อนไปเมื่อสมัยที่เวเนซุเอลายังเป็นเสมือนราชาของโลกน้ำมัน รัฐมนตรีคนสำคัญของประเทศนั้นมีคำเตือนไว้ให้ระวังให้มากเนื่องจากน้ำมันเป็นเสมือน อุจจาระของปีศาจ” (devil’s excrement) ซึ่งอาจให้โทษสูง ต่อมานักวิชาการขยายคำเตือนและแนวคิดนั้นออกไปให้ครอบคลุมทรัพยากรชนิดอื่นและเรียกโทษที่อาจเกิดขึ้นจากการมีทรัพยากรจำนวนมหาศาลว่า คำสาปของทรัพยากร” (resource curse) ผู้นำของเวเนซุเอลาในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่เคยฟังคำเตือนดังกล่าว วันนี้ชาวเวเนซุเอลาจึงเสมือนตกอยู่ในสภาพหลั่งน้ำตาเมื่อต่อหน้ามีโลงศพปรากฏขึ้น

ทรัพยากรมีคำสาปแฝงมาเพราะรายได้จำนวนมากจากการขายทรัพยากรมักทำให้เกิดความย่ามใจ การเข้าใจผิดและความฉ้อฉลจนทำให้สังคมตกอยู่ในวังวนของนโยบายเลวร้ายที่ไม่สามารถตีฝ่าออกมาได้ ในกรณีของเวเนซุเอลาซึ่งผมอ้างถึงหลายครั้งแล้วในคอลัมน์นี้ รายได้จำนวนมหาศาลจากการขายน้ำมันทำให้ผู้นำย่ามใจส่งผลให้ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ดำเนินนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายและลงทุนในโครงการขนาดยักษ์ซึ่งประเทศขาดความสามารถที่จะดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จ ร้ายยิ่งกว่านั้น ชนชั้นผู้นำมีความฉ้อฉลสูงมาก เมื่อปี 2544 ผมนำเรื่องเวเนซุเอลามาเล่าไว้ในหนังสือชื่อ เล่าเรื่องเมืองน้ำมัน (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์วิทยาทาน www.bannareader.com) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้คำสาป

อย่างไรก็ตาม คำสาปของน้ำมันอาจไม่สร้างความเสียหาย หากชนชั้นผู้นำเข้าใจและไม่ฉ้อฉล ตัวอย่างน่าสนใจได้แก่ นอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้ส่งออกใหม่หลังการพบน้ำมันในย่านทะเลเหนือ รัฐบาลนอร์เวย์ไม่ใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่ายและไม่ขายน้ำมันให้ประชาชนด้วยราคาประชานิยมแบบแทบให้เปล่าเช่นเวเนซุเอลา ตรงข้าม เขาขายในราคาที่มักสูงกว่าทุกประเทศ รายได้จากการขายน้ำมันส่วนใหญ่เขานำมาเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังในรูปของกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติซึ่งขณะนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีทรัพสินเกินหนึ่งล้านล้านดอลลาร์

ความฉ้อฉลเป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ชนชั้นผู้นำไม่ฟังคำเตือน ร้ายยิ่งกว่านั้น ยังอาจปกปิด หากปิดไม่มิดอาจใช้การบิดเบือน หรือหลีกเลี่ยงด้วยวาทกรรมจำพวกงามหรู ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเมืองไทยได้แก่เรื่องหนังสือของผมชื่อ สู่จุดจบ ! (ดาวน์โหลดได้จากเว็บซต์ที่อ้างถึง) ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2549 และเตือนรัฐบาลในหลายด้านถูกห้ามขายโดยปริยายโดยมือที่มองไม่เห็น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเกิดจากพระอัจฉริยภาพของพ่อหลวง ร. 9 และชี้แนวผ่าทางตันในปัจจุบันให้สังคมโลก ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศหลังปี 2540 มักอ้างถึงแนวคิดนี้ตลอดเวลา แต่ผมยังมองไม่เห็นว่านโยบายหลักๆ ในด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไหนอยู่ในกรอบของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผมนำมาขยายหลายครั้ง รวมทั้งในหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน)

เวเนซุเอลา เป็นตัวอย่างล่าสุดของประเทศละตินอเมริกาที่ประชาชนต้องหลั่งน้ำตา เพราะรัฐบาลฉ้อฉลดำเนินนโยบายไม่เหมาะสมต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน นักวิชาการเตือนรัฐบาลไทยเป็นระยะๆ แต่ดูจะไม่มีใครฟัง ชาวไทยอาจจะไม่ถึงกับต้องหลั่งน้ำตาเช่นเดียวกับชาวเวเนซุเอลา แต่ก็ไม่น่าย่ามใจจนเกินไปนัก