จตุรภาคีคานอิทธิพลจีน

จตุรภาคีคานอิทธิพลจีน

ภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังเปลี่ยนไปด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนที่กุมหางเสือโดยความฝันของ Xi Jinping ที่คนเชื้อสายจีน 2 พันล้านคนทั่วโลก

พร้อมใจกันคล้อยตามและร่วมผลักดัน พี่ใหญ่มหาอำนาจเดิมจะทนอยู่ได้อย่างไร ในปี 2561 เราจะเห็นการแข่งขันเชิงคานอำนาจจีนมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก แน่นอนว่าการแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นมีอยู่ แต่ด้านความมั่นคงนั้นชัดเจนมากว่านี่คือการเป็นปฏิปักษ์กัน

รัฐบาลวอชิงตันไม่อ้อมค้อมกับการที่เพนตากอนออกยุทธศาสตร์ฉบับล่าสุดที่บอกโต้งๆ เลยว่านับแต่นี้ไปสหรัฐ จะให้ความสำคัญกับการแข่งขันทางยุทธศาสตร์กับประเทศมหาอำนาจใหม่ที่กำลังไต่ขึ้นมามากกว่าความสนใจด้านก่อการร้ายที่เป็นประเด็นลุ่มหลงมาประมาณ 20 ปีแล้ว 

ผู้นำรัฐบาลตั้งแต่ประธานาธิบดี รัฐมนตรีด้านความมั่นคง ยันผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นล้วนให้สัมภาษณ์เป็นแนวเดียวกันหมดว่าถ้าไม่พัฒนาแสนยานุภาพทางทหารให้เหนือกว่าจีนและรัสเซียต่อไป ไม่เพียงแต่สักวันหนึ่งชาติเหล่านี้จะแซงหน้าสหรัฐได้ ความมั่นคงของโลกในแต่ละภูมิภาคจะเป็นอันตรายด้วย ฝ่ายตรงข้ามอาจมองว่าสหรัฐ โอเวอร์รีแอ็ค คิดลบกับชาติคู่แข่ง แสดงตนเป็น "คนดี” แต่พวกเดียวหรือเปล่า แต่ผู้กุมชะตากรรมในสหรัฐ ยังเชื่อว่าตนเองมีพันธะที่ต้องทำเพื่ออเมริกันชนและโลกแบบนี้

ขณะที่ในด้านหนึ่งกลาโหมสหรัฐ เพิ่มงบทางทหารสูงที่สุดในรอบหลายปี จัดหายุทโธปกรณ์อานุภาพสูงมากขึ้น พวกเขาก็ตระหนักดีว่าพันธมิตรนั้นสำคัญมาก เดิมทีแยงกี้ไปไหนก็หนีบพันธมิตรไปช่วยรบเพื่อเพิ่มความชอบธรรมว่าไม่ได้ไปเปิดศึกนอกประเทศเพื่อผลประโยชน์ของตนชาติเดียวอยู่แล้ว

แต่นับจาก Donald Trump ก้าวขึ้นบริหารประเทศ ความกระตือรือล้นในความร่วมมือใดๆ กับสหรัฐ ในหมู่พันธมิตรดูจะหงอยไป ยุโรปที่จีนเข้าไปเจาะตลาดได้มากนั้นไม่ค่อยอยากเป็นคอหอยลูกกระเดือกกับรัฐบาลทรัมป์เท่าไหร่ เช่นเดียวกับอาเซียนที่รับประโยชน์จากจีนไม่น้อย กระนั้นก็ตาม ยังมีประเทศมหาอำนาจชั้นรองที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขยายอิทธิพลของจีนไปยังภูมิภาคที่พวกเขาเคยเป็นเต้ย

กลุ่มจตุรภาคี (Quadrilateral) ที่เคยตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ด้วยแนวคิดที่ประกาศว่าสหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดียและญี่ปุ่นจะสร้างทางเลือกอื่นในการพัฒนาจุดศูนย์ดุลต่างๆ ของภูมิภาค นอกเหนือจาก One Belt One Road Initiatives ของจีน 

พวกเขาบอกว่าไม่ต้องการแข่งกับจีนในด้านการค้า แถมยังร่วมมือกับจีนในหลายโครงการ ประเทศรายทางก็ได้ประโยชน์ไม่ว่าจะร่วมมือกับจีนกับจตุรภาคีหรือกับทั้ง 2 กลุ่ม แต่ในด้านความมั่นคงนั้นก็เท่ากับว่าไม่ไว้ใจจีน จีนจะสร้างเมืองท่าและการคมนาคมตามเส้นทางส่งกำลังบำรุงอย่างไร จตุรภาคีก็ขอสร้างแข่ง เปิดข้อเสนอเย้ายวนใจกว่าให้ประเทศต่างๆ ว่างั้นเถอะ

การที่จีนขยายอิทธิพลไปแอฟริกา ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่เอเชียกลางเหนือหัวอินเดียนั้นนับเป็นการท้าทายอิทธิพลอินเดียอย่างรุนแรง อินเดียถือเป็นพี่ใหญ่ย่านมหาสมุทรชื่อเดียวกับตนมานานแล้ว ในอดีตรัฐบาลนิวเดลีไม่สนใจการร่วมมือกับสหรัฐ เพราะพื้นที่อิทธิพล (area of interest) ของพวกเขาไม่ใช่ทั้งโลกอย่างอเมริกา 

แต่วันนี้ที่ 2 ฝั่งนทีอินโด-แปซิฟิกร้อยรัดกระชับแนบแน่น จีนสร้างเมืองท่าตั้งแต่ศรีลังกาไปจรดอ่าวเอเดน พร้อมทั้งนำเรือรบเข้ามาป้วนเปี้ยนสนับสนุนการค้าอย่างเปิดเผย อินเดียยอมไม่ได้ เมื่อจีนมีฐานทัพที่จีบูติ อินเดียก็ต้องมีฐานทัพที่เซเชลล์ คนอินเดียโพ้นทะเลที่มอริเชียสหรือแซมเบียที่ตั้งรกรากมานานแล้วก็ต้องกีดกันคนและเงินเป็นฟ่อนจากชานตุง

ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่จีนเข้าไปแย่งตลาดการค้าในพื้นที่อิทธิพลของตน การถดถอย 30 ปีแล้วของญี่ปุ่นทำให้ตนเป็นรองและดูจะถูกปิดล้อมจากจีน หนทางที่จะแข่งอิทธิพลด้านความมั่นคงกับจีนได้ ก็เป็นแนวทางเดียวกับอินเดียคือ เน้นนโยบายเชิงรุกด้านความมั่นคงออกไปนอกภูมิภาคที่คุ้นเคย ควบคู่กับการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารให้คุ้มครองพื้นที่รอบประเทศของตนให้ได้ 

 ญี่ปุ่นจึงไม่ได้เป็นแค่ผู้ตามกองทัพสหรัฐ อย่างในอดีต แต่ยังขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงกับชาติต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกเองในแนว “ใจถึงพึ่งได้” ด้วย

ออสเตรเลียนั้นไกลกว่าเพื่อนในแง่ภูมิศาสตร์และความขัดแย้งกับจีน แต่กองเรือจีนแผ่อิทธิพลถึงทะเลใต้แล้ว ออสเตรเลียเป็นผู้คุ้มครองเกาะเล็กเกาะน้อยเหล่านี้อยู่ พวกเขาจึงพร้อมสนับสนุนสหรัฐ มากกว่าการที่ให้สถานที่นาวิกโยธินจีไอฝึกซ้อม

แต่การโอบล้อมจีนโดยพันธมิตรทั้ง จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นต้องรอดูอนาคต ในยามที่จีนยังไม่ได้เป็นพันธมิตรแบบร่วมหัวจมท้ายกับรัสเซียได้ทุกเรื่องนั้น สหรัฐ อาจยังมีเปรียบอยู่ในแง่ของการใช้อินเดียสกัดกั้นจีนตามเส้นทางมุ่งตะวันตก เพราะอิทธิพลอินเดียในเอเชียกลางและตะวันออกมีพอสมควร 

ด้านแปซิฟิกนั้น จีนขยายอิทธิพลเร็วเหลือเกิน ญี่ปุ่นกับออสเตรเลียไม่น่าช่วยเหลือสหรัฐ ได้เพียงพอ ในอนาคตเราจะเห็นสหรัฐ ให้ความสำคัญกับเวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซียมากขึ้นเพื่อช่วยเสริมแกร่ง และต้องมีการยันจีนที่ทะเลจีนใต้ให้ได้ หากต้องการให้ฝันของสี่จิ้นผิงสะดุดลง