การลักลอบค้าเสือโคร่งในอาเซียน

การลักลอบค้าเสือโคร่งในอาเซียน

การลักลอบค้าสัตว์ป่าโดยเฉพาะเสือโคร่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอาเซียน ล่าสุดเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสัตว์ป่าของลาว พบซากเสือโคร่ง

 3 ตัว บริเวณเขื่อนน้ำเทิน 2 เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน คาดว่าซากเสือเหล่านี้มาจากฟาร์มเพาะพันธุ์เสือในลาว และกำลังจะถูกเคลื่อนย้ายไปตามแนวชายแดนเพื่อส่งไปขายที่เวียดนามและจีน 

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund: WWF) รายงานว่า ปัจจุบันลาวมีฟาร์มเพาะพันธุ์เสือ 3 แห่ง อยู่ที่เมืองท่าแขก ในแขวงคำม่วน แขวงบอลิคำไซ และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแขวงบ่อแก้ว

องค์กร TRAFFIC หรือ เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายรายงานว่า บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” เป็นเส้นทางลักลอบขนส่งเสือโคร่งตามธรรมชาติและเสือโคร่งจากฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ไทยเป็นฐานการลักลอบนำเข้าสัตว์ป่าโดยเฉพาะเสือจากเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียเข้ามาทาง จ.สตูล และจากตอนเหนือของมาเลเซียเข้าไทยทางตะเข็บชายแดนภาคใต้ตอนล่าง จากเมียนมาเข้ามาทาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งไปขาย เนื้อเสือโคร่งนิยมนำไปทำเป็นอาหารในภัตตาคาร ส่วนโครงกระดูกใช้ในการดองเหล้า หรือทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านและเครื่องรางของขลังที่ซื้อขายกันในราคาแพง นอกจากเสือโคร่งแล้ว ยังพบว่ามีการลักลอบซื้อขาย ช้าง หมี และตัวลิ่น ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ป่าหายาก

สำหรับฟาร์มเพาะพันธุ์เสือทั้ง 3 แห่งในลาวเป็นของภาคเอกชน ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการก่อนปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่รัฐบาลลาวจะลงนามเข้าร่วมในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ที่เรียกว่า “อนุสัญญาไซเตส” (Convention on International Trade in Endangered Species: CITES) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เริ่มมีขึ้นในปี 2518 ปัจจุบัน 10 ชาติอาเซียนได้ร่วมลงนามในอนุสัญญานี้แล้ว เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะให้ความสำคัญกับการควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศ ไม่ให้เกิดภัยคุกคามการอยู่รอดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์

ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีของลาว กำชับให้ภาคส่วนต่างๆ ช่วยกันปกป้องสัตว์ป่าอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในอนุสัญญาไซเตส ในเดือนก.ย. 2559 รัฐบาลลาวให้คำมั่นว่าจะเร่งดำเนินการยกเลิกใบอนุญาตกิจการฟาร์มเพาะพันธุ์เสือภายในประเทศโดยเร็ว แต่กลับพบว่าการเพาะพันธุ์เสือโคร่งในลาวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีจำนวนเสือไหลเวียนอยู่ในตลาดซื้อขายสัตว์ป่ากว่า 700 ตัว 

ล่าสุดเดือนม.ค.ที่ผ่านมาก็พบซากเสืออีก เช่นเดียวกับเมียนมา แม้ทางการจะเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาไซเตสแล้วในปี 2540 และออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (Protection of Wildlife and Conservation of Natural Areas Law) ในปี 2537 แต่ก็ยังพบว่ากิจกรรมการลักลอบค้าเสือโคร่งก็ยังคงดำเนินต่อไป

นอกจากฟาร์มเพาะพันธุ์เสือโคร่งในลาว ยังพบฟาร์มลักษณะเดียวกันในเวียดนามและไทย สำหรับเวียดนาม ในปี 2559 มีเสือโคร่งที่อยู่ในการดูแลของฟาร์มเพาะพันธุ์และสวนสัตว์เอกชนอยู่เป็นจำนวน 199 ตัว เอกชนเหล่านี้ได้รับซื้อพันธุ์เสือโคร่งด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว และไทย อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายจะกังวลว่าการเพาะพันธุ์เสือโคร่งภายในเวียดนามจะเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นการค้าเสือโคร่งกลับไม่ได้ถูกนำมาพูดถึงในฐานะการลักลอบค้าสินค้าผิดกฎหมายในเวียดนามเท่าใดนัก 

ส่วนไทย พบฟาร์มเพาะพันธุ์เสือโคร่งเกิดขึ้นในรูปแบบสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง เช่น วัดแห่งหนึ่งในจ.กาญจนบุรี โดยถ้าหากมีเสือตาย พ่อค้าสัตว์ป่าจะเดินทางมารับซื้อซากเสือเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านเพราะได้ราคาดีกว่าขายภายในประเทศประมาณ 4 เท่าตัว

ทั้งๆ ที่ชาติอาเซียนต่างให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาไซเตสแล้ว แต่ด้วยการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศยังไม่เข้มงวดมากพอทำให้ยังมีการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามพรมแดนในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง การแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยชาติสมาชิกได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด “เครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN-Wildlife Enforcement Network: ASEAN-WEN) ที่มุ่งเน้นให้ชาติสมาชิกทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอนุสัญญาไซเตส นัยหนึ่งก็เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ไซเตส (ASEAN-CITES) ในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพันธุ์พืชให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่าชาติสมาชิกควรยกระดับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการค้าสัตว์ป่าให้เป็นวาระเร่งด่วน ก่อนที่ผืนป่าของอาเซียนจะกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่าอันปราศจากสัตว์ป่าดังเช่น เสือโคร่ง ซึ่งเป็นผู้ล่าที่มีความสำคัญในการควบคุมปริมาณสัตว์อื่นในห่วงโซ่อาหาร กระทั่งนำไปสู่การล่มสลายของสมดุลระบบนิเวศของป่าในระยะยาว

โดย... 

กุลระวี สุขีโมกข์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” ฝ่าย 1 สกว.