หรือการลงทุนเงินคริปโตเคอเรนซีในประเทศไทยกำลังจะชะงักลง?***

หรือการลงทุนเงินคริปโตเคอเรนซีในประเทศไทยกำลังจะชะงักลง?***

เมื่อวันที่12 ก.พ.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน (เช่น ธนาคารพาณิชย์) ทุกแห่งเพื่อขอความร่วมมือ

จากสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเภทที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันตามมูลค่าหรือไม่มีสินทรัพย์อ้างอิง (ผู้เขียน – มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัล ขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานในตลาดเท่านั้น) เนื่องจากมูลค่าของเงินดิจิทัลดังกล่าวมีความผันผวนสูงมาก และส่งผลให้ผู้ทำธุรกรรมเสี่ยงที่จะขาดทุนได้สูง ธปท. จึงมีความกังวล เพราะขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ออกมาเพื่อกำกับดูแล และคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค และอาจเป็นช่องทางในการกระทำผิดได้ เช่น การฟอกเงิน

ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรม หรือมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล ได้แก่ การไม่เข้าไปลงทุนซื้อขายเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือลูกค้า การให้บริการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการทำธุรกรรม การให้ใช้บัตรเครดิตซื้อเงินดิจิทัล และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนหรือแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล พร้อมขอความร่วมมือเพิ่มเติมให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้บริการด้านเงินฝากและสินเชื่อ ที่อาจนำไปสู่การทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลด้วย

ข้อสังเกตแรกคือ ธปท. ไม่ได้วางข้อยกเว้นไว้เป็นการเฉพาะว่าสกุลเงินดิจิทัลประเภทใดที่สถาบันการเงินอาจทำธุรกรรมหรือลงทุนได้ ดังนั้น สถาบันการเงินต่าง ๆ จะต้องเริ่มให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามหนังสือเวียนของ ธปท. โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมหรือลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ไม่ว่าในกรณีใด ๆ แม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวจะสามารถระบุตัวตนผู้ออกได้อย่างชัดเจน หรือมีสินทรัพย์รองรับมูลค่าก็ตาม ทั้งนี้ หนังสือเวียนฉบับนี้ไม่มีสภาพบังคับอย่างกฎหมาย เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น แต่หลังจากที่ ธปท. ออกหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวมา ก็สร้างความตกใจให้นักลงทุนชาวไทยพอสมควร เนื่องจากในประเทศไทยเอง กระแสการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีนักลงทุนในไทยที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ ซึ่งผลของแนวทางตามหนังสือเวียนของ ธปท. ดังกล่าวก็อาจส่งผลให้การซื้อขายหรือลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเป็นไปได้ยากขึ้น เช่น นักลงทุนไม่สามารถใช้บัตรเครดิตเพื่อซื้อเงินดิจิทัลได้

ทั้งนี้ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ หนังสือเวียนดังกล่าวไม่ได้ออกมาขัดหรือแย้งกับนโยบายการระดมทุนโดยการเสนอขายเหรียญดิจิทัล (Initial Coin Offerings / ICOs) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) กำลังอยู่ในระหว่างการออกเกณฑ์การกำกับดูแลแต่อย่างใด เนื่องจากเหรียญดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องเป็นหลักทรัพย์ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์เท่านั้น (เช่น มีสิทธิได้รับผลตอบแทนจากการดำเนินงานของผู้ออกเหรียญเหมือนหุ้นปกติ)

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่มีหน่วยงานกำกับดูแลหรือผู้ประกอบธุรกิจออกมาประกาศชัดเจนว่า ไม่รองรับและไม่สนับสนุน เช่น หน่วยงานกำกับดูแลในจีนและเกาหลีใต้ที่สั่งห้ามการซื้อขายเงินดิจิทัลอย่างชัดเจน เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารในสหรัฐอเมริกา เช่น Bank of America, Citigroup, JP Morgan ก็ไม่อนุญาตให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารในการซื้อเงินดิจิทัล และย้อนไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Visa ก็ยุติการทำธุรกิจกับ Wave Crest ซึ่งเป็นผู้ให้บริการชำระเงินดิจิทัลเพราะ Wave Crest ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของ Visa ได้ Facebook ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ประกาศว่าจะไม่ให้มีการลงโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือบริการเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล (ท่ามกลางข่าวลือที่ว่าการที่ Facebook ประกาศนโยบายเช่นนี้ก็เพราะว่า Facebook วางแผนที่จะเข้ามาระดมทุนด้วยวิธี ICO เสียเอง)

อย่างไรก็ตาม การออกหนังสือเวียนฉบับดังกล่าว ก็ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานกำกับดูแลประเทศไทยจะห้ามการซื้อขายหรือลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลโดยถาวร (โดยกระแสตอบรับยังเป็นบวกมากกว่าในประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เช่น จีน หรือเกาหลีใต้ด้วยซ้ำ) และผู้เขียนเห็นว่าผู้ลงทุนควรมีสิทธิที่จะตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอยู่ในตลาดตามความเสี่ยงที่ตนรับได้ และภาคธุรกิจควรมีตัวเลือกในการระดมทุนที่ทำได้หลากหลาย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจระดับมหภาคต่อไปเช่นกัน หน่วยงานกำกับดูแลจึงควรพิจารณาแนวนโยบายการกำกับดูแลเพื่อให้การทำธุรกรรมมีความเท่าเทียมกันและป้องกันการอาศัยประโยชน์ของเทคโนโลยีในการกระทำความผิด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเตรียมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางกรอบกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมดิจิทัลในอนาคต ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐบาล กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเองก็เตรียมจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินแห่งชาติ ขึ้นมาภายในปี 2561 นี้ สำหรับทำหน้าที่เป็นหน่วยงานดูแลพัฒนาเกี่ยวกับผู้ประกอบการฟินเทค นับว่าหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทยมีการดำเนินการที่รวดเร็วทันสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคหรือภาคธุรกิจอาจจะต้องติดตามกันต่อไปว่า กฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมดิจิทัลใหม่ๆ ที่จะตามออกมาหลังจากนี้ จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และให้ความร่วมมือในการให้ความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายในช่วงการเปิดรับฟังความเห็น เพื่อให้กฎหมายที่ออกมาสามารถบังคับใช้ได้จริง

พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ

////

*** ชื่อเต็ม: หรือการลงทุนเงินคริปโตเคอเรนซีในประเทศไทยกำลังจะชะงักลง?

(Another hiccup for cryptocurrency trading in Thailand)

โดย... 

วิภาวัส ยิ่งศักดิ์มงคล

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด​

[email protected]