“หมอสงวน” รัฐบุรุษผู้สร้างหลักประกันสุขภาพ

“หมอสงวน” รัฐบุรุษผู้สร้างหลักประกันสุขภาพ

สำหรับ “งานกับอุดมคติของชีวิต” ที่ผ่านพ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นการรำลึกการจากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิมิตรภาพบำบัด

องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสานต่องานสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน และสนับสนุนงานจิตอาสา โดยมีแขกผู้มีเกียรติหลายท่าน หลากสาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุข ร่วมงานดังกล่าวที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีวิชาการมองไปข้างหน้าของระบบหลักประกันสุขภาพ มอบรางวัลแด่หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ และจิตอาสาที่มีผลงานดีเด่นด้านการดำเนินงานมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน และรำลึกถึงผลงานที่มีต่อประเทศโดยรวมของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

บทความนี้ จึงขอการกล่าวปาฐกถาบนเวทีของงานดังกล่าวของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสดุดีถึงบุคคลที่มีคุณูปการต่อสุขภาพของประชาชน และระบบสาธารณสุขของประเทศ ดังต่อไปนี้ 

ในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ปี 2534-2535) นอกจากผมไม่มีความรู้เรื่องทางแพทย์แล้ว ในอดีตผมยังไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องสาธารณสุขเท่าไร ครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับ นพ.สงวน นิติยารัมภ์พงศ์ หรือคุณหมอสงวน เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) คนแรก ในฐานะผู้ก่อตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่เคยพบและรู้จักท่านมาก่อน แต่วันหนึ่งผมได้รับโทรศัพท์จากคุณหมอสงวนมาขอเข้าพบผม วันมาพบท่านเล่าถึงแผนงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของท่าน จากฟังท่านพูดอธิบาย ทำให้รู้สึกว่าคุณหมอคนนี้ไม่ธรรมดา ทั้งยังเป็นหมอจิตใจบริสุทธิ์ที่คอยนึกถึงผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา

“หมอสงวน” รัฐบุรุษผู้สร้างหลักประกันสุขภาพ

วันนั้นคุณหมอสงวนบอกผมว่า กำลังจะมีการประชุมใหญ่ประจำปีของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือแต่ก่อนเรียกว่า รพ.เด็ก และขอเชิญให้ผมไปพูดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งท่านจะเป็นผู้ร่างเนื้อหาให้ นั่นเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของนโยบาย “30 บาท” นับเป็นเกียรติยศที่ให้ผมเป็นผู้นำความคิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่สาธารณชนครั้งแรกในประเทศไทย

หลังจากนั้น ได้ติดตามผลงานคุณหมอสงวนมาตลอด นอกจากท่านเป็นเลขาธิการ สปสช.คนแรกแล้ว ยังเป็นผู้ก่อตั้งและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยอุทศชีวิตทั้งกายทั้งใจ เป็นกำลังสำคัญ จนทำให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการเมื่อยามจำเป็นครัวเรือนไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคค่าใช้จ่ายสูง โดยรัฐเป็นผู้ใช้เงินภาษีของประชาชนในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยทุก โดยประชาชน 90% ต่างพึงพอใจ เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และได้ส่งทีมงานเข้ามาเรียนรู้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยอย่างมากมายในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

จากรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่คุณหมอสงวนได้สร้างไว้ ความท้าทายที่สำคัญจากนี้คือ “เราจะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างไร” ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงจากหลายปัจจัย ทั้งสังคมผู้สูงอายุ เทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ ๆ ที่ไม่เพียงแต่ทำให้คนอายุยืนขึ้น แต่ยังทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้ต้องช่วยกันหาแนวทางจัดการกับความท้าทายดังกล่าวได้ แนวทางหนึ่งคือการนำแนวทางตามพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ

นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ “การนำแนวคิดจิตอาสามิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย” มาใช้ คนที่เจ็บป่วยย่อมต้องการคนที่เข้าใจ ต้องการคำแนะนำปฏิบัติตัวจากประสบการณ์จริง ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถยืนหยัดสู้โรคได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งช่วงท้ายของชีวิตคุณหมอสงวนได้พัฒนางานนี้จนเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของไทย

แม้ว่าการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีอุปสรรคจากปัจจัยข้างต้น แต่ทุกรัฐบาลต้องสนับสนุนดำเนินต่อไป เพราะการลงทุนเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนถือเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ ทั้งยังเป็นกำลังรักษาความมั่นคงให้กับประเทศด้วย เพราะความเจริญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคม จะเติบโตได้ย่อมต้องเกิดจากประชาชนที่มีสุขภาพแข็งแรง ถือเป็นการสานต่องานของคุณหมอสงวนที่ล่วงลับไปแล้ว

คุณหมอสงวนล่วงลับจากไปเป็นปีที่ 10 แล้ว ผมถือว่าท่านเป็นรัฐบุรุษของประเทศไทย ท่านเป็นผู้ที่ปิดทองหลังพระมาตลอดทั้งชีวิตการทำงาน ไม่เคยแสวงหาเกียรติยศ ชื่อเสียงใดๆ ทั้งสิ้น ท่านเป็นมนุษย์คนไทยที่เพิ่มความสุขความสงบทางจิตใจให้กับเพื่อนร่วมประเทศด้วยกัน ผมเสียดายที่ท่านเสียชีวิตเร็วไป ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ผมแน่ใจว่าจะต้องมีผู้ที่เสนอให้ท่านได้รับรางวัลแมกไซไซ เพราะสิ่งที่คุณหมอสงวนทำมาเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยมีความภาคภูมิใจ เป็นการทำเพื่อคนไทยด้วยคน และเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการเชิดชูเกียรติจากต่างประเทศ

นยามนี้ที่สังคมมองแต่เรื่องเงิน อำนาจ และมีการเอาเปรียบผู้อื่น ผมเห็นว่าวันนี้เราควรช่วยกันเผยแพร่ความดีของคนไทยด้วยกัน ควรเชิดชูเกียรติคนที่เราควรเชิดชู ด้วยผลงานของคุณหมอสงวนที่ทำมาตลอดทั้งชีวิต เพื่อนร่วมงานทั้งหลายและลูกศิษย์ของท่านที่ได้ช่วยกันทำงาน ไม่เพียงแต่ช่วยบำบัดโรคเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตคนไทยด้วยกัน ... นับเป็นหนึ่งในบุคคลตัวอย่างที่อุทิศตนเพื่อคนไทย.

///////

ปาฐกถา “งานกับอุดมคติของชีวิต”

โดยอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี