ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ

ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ

ประสบการณ์แบบเดิมๆอาจใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน

หากย้อนเวลาไปในอดีต เราอาจยังพอจำได้เลือนรางถึงยุคที่ต้องตัดสินใจกันด้วยประสบการณ์ หรือดึงเอาสัญชาตญาณมาตัวช่วยตัดสินใจกันเป็นหลัก เพราะในยุคนั้น “ข้อมูล” เป็นสิ่งหายาก และไม่เคยมีใครที่มีข้อมูลเพียงพอ การดูสภาพแวดล้อมรอบตัว บวกกับความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว จึงเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

การตัดสินใจผิดพลาดจึงมักเป็นผลจากความเชี่ยวชาญที่ไม่มากพอ ประสบการณ์น้อยเกินไป และแน่นอนว่ามีข้อมูลไม่เพียงพอ ส่งผลให้ดำเนินธุรกิจผิดพลาดไม่เป็นไปตามทิศทางที่ควรจะเป็นซึ่งเป็นสิ่งที่นักธุรกิจในอดีตล้วนคุ้นเคยกันดี

แต่สถานการณ์ในทุกวันนี้ กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะข้อมูลที่เคยขาดแคลนในอดีตนั้นกลับมาอย่างเหลือล้น เพราะผู้อ่านทุกท่านคงเห็นด้วยว่าทุกวันนี้ เรามีข้อมูลมากเกินพอจนอาจมากเกินไปเสียด้วยซ้ำ จนปัญหาใหญ่ที่สุดคือไม่รู้จะเชื่อข้อมูลจากแหล่งไหน

ข้อมูลแทบทุกเรื่องเราสามารถสืบค้นได้ง่าย ๆ จากอินเทอร์เน็ต จนบางครั้งเราต้องการรู้ข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่กลับเจอเอกสารเป็นพัน ๆ หน้าพร้อมรายละเอียดปลีกย่อยเต็มไปหมด โดยที่ไม่รู้เลยว่าหน้าไหนตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด

ดังนั้น การหาคนสกัดเอาข้อมูลนับพัน ๆ หน้าเหล่านั้น ให้เหลือเพียงสิ่งที่เราต้องการนำไปใช้งานจริง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในทางกลับแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาเครื่องมือใด ๆ มาใช้เพื่อแยกประเภทข้อมูลว่าส่วนใดเป็นข้อมูลที่ดี ที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ได้ และส่วนไหนที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรนำไปใช้

ในอีกด้านหนึ่ง นอกจากข้อมูลที่มีมากจนเกินความต้องการแล้ว ประสบการณ์ที่นักธุรกิจ และเจ้าของกิจการเคยใช้เป็นรากฐานสร้างความสำเร็จมานับสิบ ๆ ปีก็กลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ไปแล้วเนื่องจากทุกวันนี้ เพราะประสบการณ์เดิม ๆ ที่เคยใช้ได้ผลกลับใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน เพราะวัฎจักรของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งผลกับอุตสาหกรรมได้ร่นระยะเวลาลงมาอย่างมหาศาล จากเดิมที่เคยกินเวลา 20-30 ปีกลายเป็น 2-3 ปีเท่านั้น ซึ่งประเมินดูแล้วอาจจะลดเหลือเพียง 6 เดือนในอนาคตอันใกล้เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกวันนี้

เวนเดอร์ในแวดวงธุรกิจไฮแทคและสินค้าไอทีที่เดิมที่คุ้นเคยกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นประจำทุกปี แต่ในทุกวันนี้มีรอบการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ 3-4 ครั้งต่อปี จนบ่อยครั้งที่เจ้าของธุรกิจที่ต้องลงทุนเครื่องมือไฮแทคและอุปกรณ์ด้านไอทีเป็นประจำยังปรับตัวตามไม่ทัน

การจับกระแสความต้องการของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และตัวเราต้องเข้าใจถึงความผันผวนในอุตสาหกรรมไอทีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงแม้เพียงน้อยนิดแต่อาจส่งผลมหาศาล จนผลกระทบที่เกิดขึ้นในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาอาจมีมูลค่าการเปลี่ยนแปลงมากเท่ากับที่บริษัทเคยทำมาตลอดทั้งปีที่ผ่านมาก็เป็นไปได้ เช่นเดียวกับบางบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งมาได้เพียง 10 ปีแต่กลับมาผลงานเทียบเท่ากับบริษัทที่มีความเป็นมานับร้อยปีได้ นี่คือความเป็นไปของธุรกิจในทุกวันนี้ที่เราต้องมองเห็นและเข้าใจในบริบทที่เปลี่ยนไป รวมถึงต้องมองหาเครื่องมือและแหล่งข้อมูลที่อาจช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นได้