กระดาษทิชชู่แผ่นเดียว

กระดาษทิชชู่แผ่นเดียว

คอลัมน์ “Leading For Future”

ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ดิฉันมีโอกาสร่วมงานกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่ง มีหน้าที่ดูแลโรงงานที่ตั้งอยู่ทั้งในและต่างประเทศ พนักงานส่วนใหญ่มาจากสายวิศวกรรม ซึ่งจะเน้นเรื่องงานเป็นหลัก อยู่มาวันหนึ่ง ดิฉันได้รับอีเมลฉบับหนึ่งที่มีชื่อหัวข้อว่า “กระดาษทิชชู่” ซึ่งดิฉันเป็นหนึ่งในรายชื่อพนักงานอีกร้อยกว่าคนที่ได้รับอีเมลก๊อปปี้นี้ เมื่อเหลือบไปเห็นข้อความหนึ่ง ทำให้ดิฉันตัดสินใจเปิดอีเมลฉบับนี้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ พอเปิดอีเมลและเลื่อนลงไปดูข้อความก่อนหน้านี้ พบว่าเลื่อนลงไปยาวมากกว่าจะเจอต้นเรื่องที่เขียนตอบกันไปตอบกันมายาวเหยียดกว่า 2 วัน

เรื่องเกิดจากมีพนักงานโรงงานที่ประจำสำนักงานแหลมฉบังท่านหนึ่งชื่อคุณเอ เป็นเลขาผู้จัดการฝ่ายขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในโรงงานนี้ เธอเขียนอีเมลถึงคุณแต้ม เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการสั้นๆ ว่า “กระดาษทิชชู่ในห้องน้ำหมด”

จากนั้นแต้มก็เขียนอีเมลตอบกลับ พร้อมก๊อปปี้ถึงหัวหน้าคุณเอว่า “คุณคงไม่ได้เข้าประชุมบริษัทเดือนที่ผ่านมา เราได้แจ้งให้พนักงานทราบแล้วว่าทางบริษัทกำลังเปลี่ยนบริษัททำความสะอาด ซึ่งระหว่างนี้พนักงานอาจได้รับผลกระทบ”

คุณเอจึงตอบกลับ พร้อมก๊อปปี้ถึงผู้จัดการโรงงานว่า “แล้วเมื่อไหร่จะดำเนินการเสร็จ”

คุณแต้มตอบกลับอีกรอบ พร้อมก๊อปปี้ผู้จัดการแผนกจัดซื้อว่า “เรื่องนี้ต้องถามทางจัดซื้อ”

จากนั้นผู้จัดการแผนกจัดซื้อหายไปครึ่งวัน จึงตอบอีเมลกลับ พร้อมก๊อปปี้พนักงานแผนกจัดซื้อทั้งทีมว่า “เรากำลังดำเนินการอยู่”

คุณเอตอบอีเมลกลับ รอบนี้ก๊อปปี้พนักงานทั้งบริษัทว่า “ตอนนี้จะให้พนักงานปฏิบัติตัวอย่างไร”

จากนั้นก็ยังเขียนตอบกันไปตอบกันมาแบบนี้ยาวเหยียด

ข้อความสุดท้าย ซึ่งเป็นข้อความที่ดิฉันตัดสินอ่านอีเมลฉบับนี้ เป็นของผู้จัดการโรงงานซึ่งเขียนตอบมาว่า “2 วันที่ผ่านมา ท่านใช้ชีวิตกันอย่างไรก็ขอให้ชีวิตตามปกติ!!”

ท่านเคยอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้บ้างไหมคะ ที่กระดาษทิชชู่แผ่นเดียวทำให้องค์กรทั้งองค์กรระส่ำระสาย ปัญหาง่ายๆ ที่สามารถแก้ไขเพียงไม่กี่นาที กลับใช้เวลาหลายวันก็ยังหาทางออกไม่ได้ ส่งผลให้สัมพันธภาพของคนในองค์กรถูกบั่นทอน

ความเจริญของเทคโนโลยีทำให้เราไม่พูดคุยกัน เราไม่พยามทำความเข้าใจและแสดงความเห็นอกเห็นใจอีกฝ่ายหนึ่ง ความรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้เราโต้ตอบกันได้อย่างรวดเร็ว จนเราด่วนตัดสินใจไปก่อนด้วยข้อมูลเพียงน้อยนิดที่เรามี เราขาด “ช่วงขณะแห่งความเป็นมนุษย์ หรือ Human Moment” อย่างแท้จริง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเรื่องราวความวุ่นวายในองค์กรที่เกิดจากอีเมล ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีรุ่นบุกเบิก ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่มนุษย์อย่างเรากำลังเผชิญความท้าทายอยู่ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้นำมาซึ่งโอกาส ความมีประสิทธิภาพ และผลผลิตที่ดีขึ้น แต่เราจะอยู่กับมันอย่างไรให้ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ โดยใช้จุดแข็งแห่งมนุษย์และประสิทธิภาพแห่งเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์สูงสุด

บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทั่วโลก ทำการศึกษาพบว่า ผู้นำแห่งอนาคต สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดการ “ประสานงาน” ระหว่างเทคโนโลยีและมนุษย์ ได้ดังนี้

1. ปลูกฝังพฤติกรรมในด้านการประสานความร่วมมือกับเทคโนโลยี ให้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร

2. ชื่นชม ยกย่องพนักงานที่มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมด้าน ความคิดสร้างสรรค์ ความกระหายใฝ่รู้ การคิดวิเคราะห์

3. สร้างความหลากหลายให้กับองค์กร โดยการจ้างคนที่มีความแตกต่างทางพื้นฐานและแนวคิด อันเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับในความไม่เหมือน นำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจในองค์กร

4. เริ่มระบบพี่เลี้ยงในองค์กร เพื่อสร้างโอกาสให้พนักงานที่มีประสบการณ์น้อยกว่า ได้เรียนรู้จากพี่ที่มีประสบการณ์มากกว่าภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี ได้มีโอกาสเป็นพี่เลี้ยงให้กับรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มากกว่าในด้านการใช้เทคโนโลยี