ทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เริ่มต้นด้วย “การจ่ายภาษี”

ทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เริ่มต้นด้วย “การจ่ายภาษี”

สวัสดีค่ะ จั่วหัวมาแบบนี้ ผู้ประกอบการและบริษัทน้อยใหญ่ทั้งหลายอย่าเพิ่งร้อนๆ หนาวๆ กันนะคะ

เพราะเรื่องที่ดิฉันจะนำมาเล่านี้ เป็นเรื่องราวนอกประเทศไม่ใช่ในบ้านเราค่ะ

เบนจามินแฟรงคลิน เคยกล่าวไว้ว่า โลกนี้ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอนเท่ากับ “ความตาย” และ “ภาษี”

เรื่องของความตายนั้นไม่มีใครปฏิเสธ แต่เรื่องของภาษีนั้นเป็นเรื่องที่มีหลากหลายธุรกิจที่มุ่งรับความท้าทายนี้ด้วยการ “เลี่ยงภาษี” ไม่มีธุรกิจไหนชอบจ่ายภาษีโดยเฉพาะภาษีเงินได้ ไม่มีใครอยากเห็นเงินที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของธุรกิจตนเองนั้นต้องถูกแบ่งไปที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภาษีที่เสียไปนั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง

สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ยอมรับได้ว่าภาษีคือสิ่งที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ในการทำธุรกิจ แม้จะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกบ้างก็ตาม โดยจากรายงานในเวบไซต์The Guardian ระบุว่า ธุรกิจเพื่อสังคมบางแห่งในอังกฤษ อาทิ บริษัทให้บริการฝึกอบรมด้านไอทีชื่อ Happy นั้น การเสียภาษีช่วยให้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างบริษัทและภาครัฐนั้นบรรลุผล และยังส่งผลให้บริษัทได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดหาบุคลากร รวมถึงการจัดหาสถานที่ และบริการขนส่งต่างๆ ให้แก่บริษัทอีกด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโตและก้าวหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม The Guardianยังบอกอีกด้วยว่า ปัจจุบันตัวเลขบริษัทที่ “เลี่ยงภาษี” นั้นเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในอังกฤษ โดยส่วนใหญ่อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายและตักตวงสิทธิประโยชน์ทางภาษี การเลี่ยงภาษี (หรือที่ใช้คำสวยๆ ว่า “การบริหารภาษี”) จึงขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ โดยบริษัทส่วนใหญ่หันมาทุ่มเงินจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อหาวิธีเล่นแร่แปรธาตุเพื่อเสียภาษีให้น้อยลง ยิ่งเมื่อตลาดโลกเปิดกว้างมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสของการเลี่ยงภาษีก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการเลี่ยงภาษีในอังกฤษอยู่ที่ประมาณ 12.8 พันล้านปอนด์ ราว 5.5 แสนล้านบาท ทั้งจากมหาเศรษฐีและจากบริษัทต่างๆ ที่หาทางหลบเลี่ยงภาษีหรือจ่ายภาษีให้น้อยที่สุด

มุมมองโดยทั่วไปที่กลุ่มบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทมหาชน มักมีมุมมองว่าภาษีนั้นเป็น “ต้นทุน” ที่ควรหาวิธี “จัดการ” ให้เหลือน้อยที่สุด เพราะเงินแต่ละก้อนที่ต้องเสียภาษีไปนั้นหมายความว่าผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนน้อยลงด้วย การเลี่ยงภาษีจึงเป็นสิ่งที่บริษัทใหญ่ๆ นั้นยอมรับและปฏิบัติกันเป็นเรื่องปกติ อาทิVodafone และ Alliance Boots ซึ่งทั้งสองบริษัทนั้นให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคมมาก โดยบริหารภาษีด้วยการเน้นการทำธุรกิจและสร้างผลกำไรในประเทศที่มีมาตรการทางภาษีที่ดีกว่า เป็นต้น

หรืออย่างกูเกิล ยักษ์ใหญ่ไอทีของโลกที่มี motto ว่า “อย่าใจร้าย” (Don’t be evil) ก็ยังมองว่าการบริหารภาษีนั้นไม่ใช่สิ่งที่ “เลวร้าย”อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีข้อถกเถียงมานานหลายปี ในปีที่ผ่านมากูเกิลก็ยอมจ่ายภาษีย้อนหลังจำนวน 36 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ให้แก่สำนักงานสรรพากรและศุลกากรอังกฤษ (HMRC) หลังจากที่พบว่าในปี 2016 กูเกิลในอังกฤษมีรายได้ถึง 1 พันล้านปอนด์ และมีกำไรสุทธิถึง 148 ล้านปอนด์

ดังนั้นจึงก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า มันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัทต่างๆ หรือไม่ ในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในชุมชนหรือประเทศต่างๆ อย่างรับผิดชอบ และไม่ลิดรอนสิทธิที่คนท้องถิ่นหรือคนในชุมชนนั้นๆ ควรได้รับจากเงินภาษีที่ภาครัฐจะนำมาพัฒนาชุมชนของพวกเขา ด้วยการทำธุรกิจโดยไม่เลี่ยงภาษี?

หลายธุรกิจลงทุนทั้งเงินและเวลาเพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กรที่ดีและความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อสังคม แต่คงไม่ยุติธรรมหากบริษัทเหล่านั้นเบียดบัง “สังคม” ที่ว่า ด้วยการเลี่ยงภาษีที่ควรต้องจ่ายเพื่อนำไปพัฒนาสังคม หรือคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น

อีกผลกระทบหนึ่งจากการเลี่ยงภาษีของนิติบุคคลในอังกฤษนั่นคือทำให้ความเชื่อมั่นในระบบภาษีลดลง ระบบภาษีเงินได้นิติบุคคลในอังกฤษใช้หลักการเดียวกันนั่นคือทุกบริษัทเสียภาษีในอัตราเดียวกัน ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว หากบริษัทใดทำกำไรได้มากก็ควรเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า แต่ความเป็นจริง (ที่น่าเศร้า) คือบริษัทที่สร้างกำไรได้มากกว่ามักเสียภาษีน้อยกว่าเพราะสามารถลงทุนหาบริษัทผู้เชี่ยวชาญทางภาษีมาให้คำแนะนำได้ ความเชื่อมั่นในความ “ยุติธรรม” ของระบบภาษีจึงถูกกัดกร่อนลงไปเรื่อยๆ

จะว่าไปก็ฟังดูแปลกๆไหมคะ ที่เราอยู่ในยุคที่บริษัทต่างๆ ออกมาประกาศให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคม หากแต่การเลี่ยงภาษีกลับเป็นสิ่งที่ทำกันแพร่หลายและได้รับการยอมรับ

ดังนั้น ต่อไปหากเราจะดูว่ามีบริษัทใดบ้างที่เชื่อได้ว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยแท้จริง เราคงต้องเริ่มต้นดูจาก ภาษีที่บริษัทนั้นๆ จ่ายก่อนนั่นเองค่ะ