สื่อในศตวรรษที่ 21 (14): “ข่าวปลอม” และ “ความรับผิดชอบ” ***

สื่อในศตวรรษที่ 21 (14): “ข่าวปลอม” และ “ความรับผิดชอบ” ***

ในคอลัมน์นี้กว่า 1 ปีที่แล้ว ผู้เขียนเคยเขียนถึงปัญหาจาก “ข่าวปลอม” หรือ fake news ซึ่งระบาดไปทั่วโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะค่ายใหญ่อย่างเฟซบุ๊ค

(ท่านที่สนใจสามารถค้นบทความชื่อ “วิธีจัดการกับ “ข่าวปลอม” :โค้ดคอมพิวเตอร์กับมาตรการทางสังคม” บนอินเทอร์เน็ต)

ในบทความนั้นผู้เขียนสรุปความคืบหน้า ณ ตอนนั้นของเฟซบุ๊คว่า หลังจากที่ “มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง ออกมายักไหล่พูดทำนองว่า “ฉันไม่แคร์” และอ้างอย่างไม่รับผิดชอบว่า “เราเป็นบริษัทเทคโนโลยี ไม่ใช่บริษัทสื่อ” อดัม มอสเซรี (Adam Mosseri) ผู้รับผิดชอบนิวส์ฟีด (newsfeed ฟีเจอร์แสดงข่าว) ของบริษัท ก็ออกมาประกาศต่อสาธารณะกลางเดือน ธ.ค. 2559 ว่า เฟซบุ๊คได้ออกมาตรการมาแล้ว 4 อย่าง เพื่อจัดการกับ ‘ปัญหา’ นี้”

มาตรการเหล่านั้นมีตั้งแต่ 1. ปรับฟีเจอร์ให้ผู้ใช้รายงานว่าเนื้อหาบนเฟสบุ๊คชิ้นไหนเป็น “ข่าวปลอม” 2. จับมือทำงานร่วมกับองค์กรที่มีชื่อเสียงด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น Snopes.com, Factcheck.org และ Politifact เพื่อตรวจสอบว่าเนื้อหาไหนที่อาจเข้าข่ายเป็น “ข่าวปลอม” 3. ปรับโค้ดของเฟซบุ๊คในการจัดอันดับข่าวในนิวส์ฟีดใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากชุมชนผู้ใช้เฟซบุ๊คเอง และ 4. บั่นทอนแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ (หลังจากที่พบว่าผู้ผลิตข่าวปลอมจำนวนมาก ทำไปเพราะอยากได้ค่าโฆษณาเยอะๆ เมื่อมีคนคลิกเข้าไปอ่านเป็นจำนวนมาก) โดยประกาศว่าเฟสบุ๊คไม่รับโฆษณา หากพบว่ามี “เนื้อหาที่หลอกลวงและทำให้คนเข้าใจผิด” และประกาศว่าจะติดตามตรวจสอบเนื้อหาต่างๆ ที่จะซื้อโฆษณามากขึ้น

1 ปีผ่านไป วิบากกรรมของเฟซบุ๊คยังไม่จบสิ้น หรือถ้าจะพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ เราได้เห็น “ทิฐิมานะ” ของผู้บริหารเฟซบุ๊คที่เชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป พยายามเข้าใจสังคมและผลกระทบจากเทคโนโลยีของตนน้อยเกินไป

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เฟซบุ๊คมองไม่เห็น หรือไม่ก็ไม่ยอมมองเห็น ผลกระทบอันเลวร้ายต่อสังคมและสื่อมวลชน จากการที่เฟซบุ๊ค ‘ปล่อย’ ให้มิจฉาชีพ (และขบวนการจัดตั้งจากรัสเซียในกรณีสหรัฐอเมริกา) บิดเบือนแพลตฟอร์มไปใช้ในทางมิชอบเป็นเวลานาน เพราะเฟซบุ๊คไม่เพียงแต่เป็นแหล่งปล่อยข่าวปลอมเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งหากินของมิจฉาชีพ และพื้นที่ปฏิบัติงานของทีม “ปฏิบัติการข่าวสาร” (Information Operations ย่อว่า IO) จากรัฐบาลที่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง

สื่อในศตวรรษที่ 21 (14): “ข่าวปลอม” และ “ความรับผิดชอบ” ***

บทความยาวกว่า 11,000 คำในวารสาร Wired ฉบับเดือน มี.ค. 2561 ชื่อ “Inside the Two Years That Shook Facebook—and the World” (“ล้วงลึกสองปีที่สั่นสะเทือนเฟซบุ๊ค-และโลก” อ่านฟรีออนไลน์ได้จาก https://www.wired.com/story/inside-facebook-mark-zuckerberg-2-years-of-hell/) โดยบรรณาธิการบริหารของ Wired เองนั้น นอกจากจะเป็นรายงาน “ข่าวเจาะ” ขนาดยาวที่พิสูจน์อย่างชัดเจนถึงคุณค่าของการทำข่าวเชิงลึกในโลกยุคสังคมก้มหน้าแล้ว ยังเป็นบทความที่ผู้เขียนเชื่อว่า จะขึ้นหิ้งเป็นงานเขียนคลาสสิกที่ทุกคนต้องอ่าน สื่อมวลชนและอาจารย์ที่สอนวิชาวารสารศาสตร์ยิ่งต้องอ่าน และสั่งเป็นการบ้านให้นักเรียนอ่าน!

บทความนี้เจ๋งอย่างไร? ผู้เขียนจะแปลบางตอนที่ชอบมากมาเล่าสู่กันฟัง ก่อนที่จะวกกลับมาดูประเด็น “ข่าวปลอม” และ IO ในบริบทของโซเชียลมีเดียไทย ในตอนต่อไป

“ซักเกอร์เบิร์กดูจะไม่ตระหนักว่า ...แพลตฟอร์มของเขาถูกใช้โดยศัตรูที่ช่ำชองกว่าวัยรุ่นจากมาเซโดเนีย [ผู้ผลิตข่าวปลอมพาดหัวเร้าใจในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ปี 2016 เพื่อกอบโกยเงินโฆษณา] และคนที่ชอบโกหกมดเท็จแบบคุณภาพต่ำ สุดท้ายเมื่อปี 2017 ดำเนินไป บริษัทก็เริ่มตระหนักว่าพวกเขาถูกโจมตีโดยปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อจากต่างแดน “ผมจะแยกแยะระหว่าง “ข่าวปลอม” กับ “ปฏิบัติการของรัสเซีย” นะ” ผู้บริหารรายหนึ่งซึ่งอยู่ในทีมรับมือกับทั้ง 2 ประเด็นบอก เรื่องหลังนี่คือแบบ ...มีจุดนึงที่ทุกคนอุทานว่า “เฮ้ย นี่มันเป็นประเด็นความมั่นคงของชาติแล้ว”

“อย่างไรก็ดี จังหวะ “เฮ้ย” ที่ว่านี้ก็ไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งการเลือกตั้งผ่านไปกว่า 6 เดือน ในช่วงแรกๆ ของฤดูหาเสียง เฟซบุ๊ครู้ดีว่า มีการโจมตีจากกลุ่มแฮ็กเกอร์รัสเซียที่บริษัทรู้จักดี เช่น กลุ่ม APT28 ซึ่งเชื่อกันว่าเกี่ยวโยงกับรัฐบาลรัสเซีย กลุ่มนี้แฮ็กบัญชีผู้ใช้นอกเฟซบุ๊ค ขโมยเอกสารต่างๆ เสร็จแล้วก็สร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมบนเฟซบุ๊คภายใต้ชื่อ “DCLeaks” เพื่อให้คนมาอภิปรายกันถึงเอกสารที่พวกเขาขโมย เฟซบุ๊กมองไม่เห็นสัญญาณใดๆ ของแคมเปญโฆษณาชวนเชื่อของต่างด้าว แต่บริษัทก็ไม่ได้พยายามมองหาเลย ...[หลังจากที่มี]ข่าวชิ้นหนึ่งในวารสาร Time อ้างแหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐ บอกว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานข่าวกรองของรัสเซียซื้อโฆษณาบนเฟสบุ๊คเพื่อยิงโฆษณาชวนเชื่อใส่คนอเมริกัน ...เฟสบุ๊คก็ตกใจที่ไม่รู้เรื่องนี้ และเริ่มขุดคุ้ยในข้อมูลผู้ลงโฆษณาของบริษัท จนพบว่ามีบัญชีผู้ใช้กลุ่มหนึ่งที่ได้เงินจากองค์กรชื่อ Internet Research Agency ซึ่งก่อตั้งมาเพื่อบิดเบือนและชี้นำความเห็นทางการเมืองในอเมริกา ...ผู้บริหารเฟซบุ๊คบอกว่า รู้สึกละอายที่ใช้เวลานานมากกว่าจะเจอบัญชีปลอมเหล่านี้”

“มีสัญญาณอื่นๆ ที่บอกว่า ซักเกอร์เบิร์กเริ่มยอมรับและปรับตัวตามเสียงวิพากษ์บริษัทของเขาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Facebook Journalism Project (https://media.fb.com/2017/01/11/facebook-journalism-project/) สะท้อนว่าบริษัทกำลังทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้พิมพ์” (publisher) ไม่ใช่ “แค่แพลตฟอร์ม” อย่างจริงจังมากขึ้น ...คนอย่าง อเล็กซ์ ฮาร์ดีแมน (Alex Hardiman) หัวหน้าทีมผลิตภัณฑ์ข่าวที่เฟซบุ๊ค และอดีตนักข่าว The New York Times เริ่มมองเห็นว่าเฟซบุ๊คสร้างระบอบเศรษฐกิจที่ตบรางวัลให้กับผู้พิมพ์ที่สร้าง “เนื้อหาดราม่า” (sensationalism) ไม่ใช่ความถูกต้องเที่ยงตรงหรือความลึก เธอบอกว่า “ถ้าเราแค่จ่ายค่าตอบแทนเนื้อหาโดยใช้ยอดคลิกและ engagement อย่างเดียว เราก็อาจจะได้เห็นเนื้อหาที่ดราม่า ล่อหลอกให้คนคลิก และแตกแยกแบ่งข้างมากขึ้นเรื่อยๆ”

“ซักเกอร์เบิร์กประกาศว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์บริษัทที่เฟซบุ๊คจะเริ่ม boost (ทำให้คนเห็นเนื้อหามากขึ้น) ผู้ผลิตเนื้อหาที่ “น่าเชื่อถือ ให้ข้อมูลที่ดี และรายงานเหตุการณ์ท้องถิ่น” มากกว่าเนื้อหาอื่น โดยเริ่มจากการถามคนอ่านว่าแหล่งข้อมูลแหล่งไหนที่น่าเชื่อถือ แน่นอนว่าระบบนี้จะต้องมีคนแทรกแซง และหลายคนจะบอกว่าพวกเขา “ไว้ใจ” อะไรสักอย่างเพียงเพราะว่ารู้จัก แต่อย่างน้อยประกาศนี้ก็เป็นข่าวดีในห้องข่าว – ราคาหุ้นของ The New York Times และ News Corp. ปรับตัวสูงขึ้นทันทีที่ซักเกอร์เบิร์กประกาศ”

ปี 2017 เป็นปีที่เฟซบุ๊ค “วิวัฒนาการ” ในความเห็นของผู้เขียนบทความ – “แน่นอนว่ามันเป็นแพลตฟอร์ม และจะยังเป็นแพลตฟอร์มตลอดไป แต่บริษัทก็ตระหนักแล้วว่า มันต้องมีความรับผิดชอบบางอย่างที่ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา (publisher) ต้องมี – เพื่อดูแลคนอ่าน และเพื่อดูแลความจริง

“คุณจะทำให้โลกนี้เปิดและเชื่อมโยงกันมากกว่าเดิมไม่ได้หรอก ถ้าคุณกำลังทำให้คนแตกแยก”

*** ชื่อเต็ม: สื่อในศตวรรษที่ 21 (14): “ข่าวปลอม”, IO และ “ความรับผิดชอบ” ของโซเชียลมีเดีย