ผลิตภาพ มาตรฐาน นวัตกรรม

ผลิตภาพ มาตรฐาน นวัตกรรม

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้โมเดลการขับเคลื่อนประเทศที่สอดรับกับบริบทและแนวโน้มใหม่ของโลก โดยมีความเจริญก้าวหน้าอย่างสมดุล

เพราะการยกระดับประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และยกระดับความสามารถการแข่งขันให้สูงขึ้น เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว  คงไม่ใช่แค่ Economic growth เท่านั้น แต่ต้องกำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายใหม่ในมิติอื่นๆด้วย อาทิ

Green growth – เพื่อลดผลกระทบที่ก่อให้เกิดมลพิษ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทุกคนมีจิตสำนึกในการช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

Inclusive growth – เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน และลดความเหลื่อมล้ำ จนทำให้เกิดช่องว่าง (gap) ที่นับวันจะห่างกันออกไปไกลมากขึ้น

Productivity growth – เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้า และการบริการ ด้วยบุคลากรที่มีความสามารถ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการจัดการที่ดี โดยอยู่บนฐานของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตัล ที่รวดเร็ว ไร้สาย และอัจฉริยะ

เพราะในอดีตทุกประเทศในโลกให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับมิติอื่นๆ ไม่มากเท่าที่ควร แต่เนื่องจากการเติบโตนั้นส่งผลให้เกิดผลกระทบภายนอก (Externalities) ทั้งด้านบวกและลบ เช่น คุณภาพของระบบสาธารณสุขอาจจะดีขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมอาจจะแย่ลง เมื่อการเติบโตสูงขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ความกินดีอยู่ดีของประชากรดีขึ้น พร้อมๆ กับผลภายนอกในมิติอื่นๆ ที่เข้าสู่ระดับวิกฤติ แนวทางการพัฒนาจึงหันมาให้ความสนใจกับมิติอื่นๆ มากขึ้น

ธนาคารโลกต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจึงเสนอแนะแนวทางที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น นั่นคือ “การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม” (Inclusive Growth) ซึ่งหมายถึงการเติบโตที่ก่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันและสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคม ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือของคนในสังคม มีความหวังกับอนาคตร่วมกัน

การสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจและการแข่งขันที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรไทย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ต้องอาศัยกลไกการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภาพ (Productivity Growth Engine) โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ กลไกนี้ประกอบด้วย การสร้างเครือข่ายความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม กิจกรรมความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี

ภูมิภาคเอเชียได้รับการจับตามมองว่าเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโลก ทั้งด้านการลงทุน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งอาเซียน เป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อน ด้วยประชากรรวมกว่าสามหมี่นห้าพันล้านคน และ GDP คิดเป็นสัดส่วน 32% ของ GDP โลก ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับกลุ่มเศรษฐกิจในทวีปเอเซีย จากเหนือสู่ใต้ ตั้งแต่จีนลงสู่อินโดนีเซีย จากตะวันออกมายังตะวันตกตั้งแต่เวียดนามข้ามไปจนถึงเมียนมา และเป็นจุดยุทธศาสตร์ของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในด้านการผลิต การค้า การส่งออกและการขนส่ง ทั้งยังอยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจึงเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดของการลงทุนในอาเซียน เพื่อเชื่อมเอเชียและเชื่อมโลก

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาใหม่ใน 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) ครั้งนี้ จะเป็น spring board ในการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-5 ปีถึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรมก็ตาม

การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน สอดรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลก และเป็นไปในทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และเพิ่มเติมด้วยอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนแม่บท 3 ด้านสำคัญคือ ผลิตภาพ (Productivity) มาตรฐาน (Standard) และนวัตกรรม (Innovation) เพื่อบูรณาการแผนงาน กลไก และความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงอย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะความสามารถสูง การยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 การสร้างนวัตกรรม การวิเคราะห์และใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ให้เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ และการเปลี่ยนผ่านองค์กรด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี โดยมีมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐทั้งในรูปแบบกองทุนสนับสนุน การฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำ ความร่วมมือทางวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญและสถาบันชั้นนำในประเทศและต่างประเทศ และการจัดทำดัชนีชี้วัด

เฉกเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านเราที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว สามารถผลักดันตัวเองจากประเทศกำลังพัฒนาจนกลายเป็นประเทศที่อยู่แถวหน้าของโลกอย่างสิงคโปร์ ที่มุ่งเน้นความสำคัญตามขั้นการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของโลกมากว่า 3 ทศวรรษ จากการส่งเสริมผลิตภาพจนคนในชาติเกิดความตระหนักที่จะทำงานให้ดีมีประสิทธิภาพ ผนวกด้วยมาตรฐานที่ไม่ใช่แค่ระดับชาติแต่ต้องระดับโลก จนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นี่คือเส้นทางที่ไทยไม่ไปไม่ได้แล้ว