คิดอะไรไม่ออก...ตั้งคณะกรรมการ(1)

คิดอะไรไม่ออก...ตั้งคณะกรรมการ(1)

สมัยที่เปลี่ยนไปเรียนด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ทั้งๆ ที่จบ ปริญญาตรี และ ปริญญาโท ด้านกฎหมาย ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะแยะมากมาย

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังติดใจตั้งแต่ชั่วโมงแรกๆ ที่เรียนก็คือ วิธีการบริหารงานภาครัฐหรือระบบราชการ ที่รู้สึกจะเหมือนกันทั่วโลกนั่นคือ ถ้าไม่แน่ใจในเรื่องที่ตัดสินใจ ให้ตั้งคณะกรรมการ (Anything can't be resolved, set the committee)

แล้วการตั้งคณะกรรมการก็กลายเป็นเรื่องกระจายอำนาจและความรับผิดชอบของผู้ที่รับผิดชอบไปในตัว เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องของคนหลายคนที่ประกอบกันเป็นคณะกรรมการ เป็นการเอาตัวรอดของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ต่างจากหัวหน้ารัฐบาลบางประเทศที่ไม่ต้องการรับผิดชอบในนโยบายใด ก็ให้ทำประชามติ เมื่อประชาชนลงประชามติไปในทางใด ก็เดินไปทางนั้น หากมีปัญหาหรืออุปสรรค ก็บอกกับประชาชนว่าพวกท่านลงมติเช่นนี้ ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล

สำหรับประเทศไทย ก็ไม่ต่างกับที่อื่น เมื่อนั่งดูคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐที่ตั้งขึ้นมาตามกฎหมายจัดตั้ง ก็พบว่ากรรมการก็จะวนเวียนกันอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูง ตั้งแต่ปลัดกระทรวง อธิบดี เลขาธิการ จนนับไม่ถ้วนว่าเป็นกรรมการกี่คณะ ไม่รวมคณะกรรมการที่จัดตั้งภายในกระทรวงของตนเองอีกไม่รู้กี่คณะ เห็นแล้วก็นึกไม่ออกว่าท่านเหล่านั้นจะเอาเวลาที่ไหนไปประชุม เอาข้อมูลที่ไหนไปพูดในที่ประชุม เอาเวลาที่ไหนไปบริหารงานกระทรวงทบวงกรมที่นั่งอยู่ ไม่นับการเป็นกรรมการเฉพาะกิจ ยิ่งนั่งกระทรวงใหญ่ องค์กรสำคัญเช่นสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใครๆ ก็อยากให้ไปนั่งเป็นกรรมการโดยคาดหวังว่า เสนออะไรๆ ก็จะผ่านได้ง่ายๆ นี่ยังไม่รวมการไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทเอกชน องค์กรภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และรัฐวิสาหกิจอีกมากมาย

มีข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นการประชุมภาคเอกชน มักไม่ค่อยขาดประชุมเมื่อเทียบกับกับประชุมองค์กรของรัฐ และไปด้วยตนเองซะเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งเลยเวลาเริ่มประชุมแล้วก็ยังไป เคยเป็นเลขานุการบริษัท ( Corporate Secretary) ของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีบริษัทในเครืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัท กรรมการที่มาจากข้าราชการภาครัฐที่มานั่งเป็นบอร์ดจะขาดประชุมน้อยมาก บริษัทจ่ายเบี้ยประชุม 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท ต่อครั้ง เรียกว่ารับเบี้ยประชุมครั้งเดียวเท่าเงินเดือนราชการของอธิบดีเลย บางครั้งมาประชุมสาย เลยเวลาประชุม จนถึงมาถึงที่ประชุมก็เลิกประชุมแล้ว บริษัทก็ต้องจ่ายเบี้ยประชุม สมัยทำงานใหม่ๆ ตรงไปตรงมา ถ้าไม่มาประชุม ก็ไม่จ่ายเบี้ยประชุม ส่งคนมาประชุมแทนก็ไม่จ่าย เพราะไม่ได้เป็นกรรมการ ไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุม เลยโดนตำหนิจากบริษัท ต้องจ่ายทุกคนที่มาประชุม ไม่ว่าจะมาสายแค่ไหน เพราะ...ท่านมาแล้ว...

ช่วงนี้ ช่วยงานในกรรมาธิการสาธารณสุขในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ก็พบว่าทั้งกระทรวงสาธารณสุขเพียงกระทรวงเดียวมีกฎหมายร่วม 46 ฉบับ หลายฉบับเป็น พระราชบัญญัติองค์การต่างๆในระบบสาธารณสุข และทุกองค์การก็ต้องมีคณะกรรมการชุดใหญ่เป็นหัวใจในการบริหารจัดการออกนโยบาย กรรมการชุดใหญ่ของทุกองค์การ หนีไม่พ้นกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากปลัดกระทรวงตั้งแต่ 2-3 กระทรวงถึงเกือบ 10 กระทรวง นอกเหนือจากอธิบดี และที่มักจะขาดไม่ได้คือเลขาธิการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เอาแค่ระบบสาธารณสุข ถ้าท่านกรรมการพวกนี้เข้าประชุมจริง ก็คงไม่มีเวลาไปทำงานบริหารจัดการกระทรวงของตัวเองแน่นอน จึงเป็นเรื่องปกติที่ท่านกรรมการเหล่านี้ลาประชุมเป็นประจำ ส่งคนมาประชุมแทน เรียกได้ว่าทั้งปีไม่เคยมาประชุมก็เป็นเรื่องปกติ อีกเรื่องที่อาจเป็นเหตุผลก็คือ เบี้ยประชุมกรรมการภาครัฐได้รับไม่กี่พันบาท จึงยิ่งไม่จูงใจให้เสียเวลามาประชุมคณะกรรมการเท่าไร

ที่จริงตอนนี้มีการขึ้นบัญชีผู้มีคุณสมบัติเป็นกรรมการองค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในทางปฏิบัติก็ดูจะไม่มีผลอะไรที่เป็นนัยสำคัญ นอกจากว่าทำให้การแต่งตั้งกรรมการจากรายชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีมานั่งเป็นบอร์ดดูมีความโปร่งใสมากขึ้นเท่านั้นรัฐบาลก็ดูเหมือนจะรู้เรื่องนี้ และพยายามออกกฎระเบียบเช่น ห้ามคนเดียวกันเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยเกิน 3 แห่ง หรือเป็นกรรมการเกินกี่แห่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือปรากฏการณ์เกาหลัง ผลัดกันเกา วนเวียน เวียนเทียนกันไปเรื่อยๆ มองเผินๆดูว่าจะดี แต่พอเข้าไปดูไส้ในก็จะพบว่าท่านนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภา มักจะวนเวียน เป็นศรีธนญชัยกันทั้งประเทศ รวมถึง คนดี มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่สามารถฝ่าด่านเข้าไปเป็นกรรมการได้

บางคณะกรรมการยังมีเรื่องความไม่สมดุลของจำนวนกรรมการที่มีส่วนได้เสียในกิจการขององค์กรอย่างน่าเกลียด ตัวอย่างเช่นในคณะกรรมการชุดใหญ่ของ กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมี 30 คน แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการมาจากผู้แทนฝ่ายผู้ใช้หรือผู้รับบริการนับสิบคน ตั้งแต่ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ผู้แทนองค์การปกครองท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้แทนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ นับสิบคน แต่ไม่มีผู้แทนองค์กรที่มาจากฝ่ายผู้ให้บริการเช่นโรงพยาบาลสุขภาพตำบลเกือบหมื่นแห่ง โรงพยาบาลชุมชนสามร้อยกว่าแห่ง โรงพยาบาลทั่วไปนับร้อยแห่ง โรงพยาบาลศูนย์และอื่นๆกว่าห้าสิบแห่ง ทั้งๆ ที่เป็นคู่สัญญาที่ต้องให้บริการด้านสุขภาพอนามัย ผู้รับบริการ องค์ประกอบคณะกรรมการเช่นนี้  จึงเท่ากับว่า ทุกมติ ฝ่ายผู้ใช้หรือรับบริการจะชนะตลอด เพราะไม่มีฝ่ายผู้ให้บริการในคณะกรรมการมีปากมีเสียงเสนอความเห็นอะไรเลย ถูกปิดปาก มัดมือชก ให้เขาต่อยข้างเดียว

แต่บางคณะกรรมการเช่นคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) มีการถ่วงดุลระหว่าง 3 ฝ่าย คือมีทั้งกรรมการจากภาครัฐ ภาคลูกจ้าง และภาคนายจ้างเท่าๆกัน โดยเฉพาะฝ่ายนายจ้าง กับฝ่ายลูกจ้าง ที่เป็น 7 ต่อ 7 คนเท่ากัน มติที่ออกมาจึงได้ข้อยุติ ไม่เป็นปัญหาเรื้อรังเหมือนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องหลักประกันสุขภาพเหมือนกัน

ขณะนี้กำลังจะมีการตั้ง คณะกรรมการในระบบสาธารณสุขชุดใหม่เรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบสาธารณสุขแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้ แม้มิได้ควบคุมและมีอำนาจเหนือคณะกรรมการชุดต่างๆที่มีอยู่แล้วในระบบสาธารณสุขโดยตรง แต่ด้วยความเป็นคณะกรรมการระดับชาติ จึงน่าจะมีอิทธิพลในระดับที่เหนือคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น สสส. สปสช. สพฉ. และอีกหลายๆคณะกรรมการในระบบสาธารณสุข คล้ายๆกับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. ที่มีบทบาทต่อการทำงานของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ กพ. แม้จะไม่ได้ควบคุมดูแล กพ. โดยตรง

ประเทศไทยมีการตั้งคณะกรรมการมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งๆที่เรามีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสื่อสารไปไกลมากแล้ว เราไม่จำเป็นต้องมีการประชุมต่อหน้า เราไม่ต้องอยู่ด้วยกันในที่ประชุม การสั่งการสามารถทำได้โดยตรงจากระดับสูงถึงระดับล่าง องค์กรน่าจะเป็นแนวราบมากขึ้น ไม่ต้องมีขั้นบังคับบัญชามากมายหลายขั้นเหมือนเมื่อก่อนที่ต้องมีการกลั่นกรองกัน ยิ่งขั้นตอนการสื่อสารสั้น โอกาสที่สารจะถูกบิดเบือนก็น้อยลง และเกิดประโยชน์มากมายในการลดค่าใช้จ่ายองค์กร

น่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลจะ ละ ลด เลิก คณะกรรมการ หรือลดขนาดให้เหลือเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เพราะคณะกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการที่ไม่ได้ทำอะไรมากกว่าไปรักษาผลประโยชน์ของตัวเองหรือแนวร่วมเครือข่าย ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับบ้านเมือง มีแต่จะไปแสวงหาผลประโยชน์เข้าพวกเข้ากลุ่มของตัวเองเป็นหลัก เป็นสิ่งที่ต้องกำจัด โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว รัฐบาลชุดนี้สามารถทำอะไรให้ประเทศได้มากกว่าการตั้งคณะกรรมการขยะๆ เพราะกรรมการที่มาจากขยะสิ่งที่ออกมาก็คงไม่ต่างกับขยะ แม้ว่าจะผ่านการรีไซเคิล