โภคภัณฑ์สำคัญไฉน

โภคภัณฑ์สำคัญไฉน

โภคภัณฑ์สำคัญไฉน

ธนาคารโลกคาดการณ์ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ว่าราคาโภคภัณฑ์ในปีนี้ น่าจะขึ้นจากปีที่แล้ว โดยราคาน้ำมันและพลังงานน่าจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ในปี 2561 หลังจากในปีที่แล้วขึ้นไปถึง 22% ส่วนราคาโลหะน่าจะยืนเท่าๆเดิม

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO แถลงว่าดัชนีราคาอาหารในเดือนกุมภาพันธ์ (FAO Food Price Index) ปรับเพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือนมกราคม โดยเป็นผลจากการที่ราคาธัญพืชและผลิตภัณฑ์นมปรับเพิ่มขึ้นในขณะที่ราคาน้ำมันพืชปรับลดลง

ดัชนีราคาอาหารของเอฟเอโอคำนวณจากราคาของอาหาร 5 กลุ่มใหญ่ คือ ดัชนีราคาธัญพืช ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นม ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ ดัชนีราคาน้ำมันพืช และ ดัชนีราคาน้ำตาล

โดยดัชนีราคาธัญพืช ซึ่งประกอบด้วยข้าวสาลี ข้าวและธัญพืชหยาบ ซึ่งรวมถึงแป้งข้าวโพดปรับเพิ่มขึ้น 2.5% เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวสาลีในฤดูหนาวของสหรัฐอเมริกา และการผลิตข้าวโพดในอาร์เจนติน่า

ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นมปรับเพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการเนย เนยแข็งและนมผงสูง ประกอบกับผลผลิตนมในนิวซีแลนด์ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์

ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ไม่เปลี่ยนแปลงมากโดยเนื้อไก่มีราคาลดลง  เป็นการลดต่อเนื่องสี่เดือนในขณะที่ดัชนีราคาเนื้อเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคาน้ำมันพืชลดลง 3.1% ไปอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 19 เดือน เนื่องจากคาดว่าผลผลิตในโลกปีนี้จะมีเกินความต้องการ โดยน้ำมันปาล์มมีราคาลดลงมากที่สุดเนื่องจากสต๊อกน้ำมันของมาเลเซียและอินโดนีเซียมีเพิ่มขึ้น ในขณะที่คาดว่าผลผลิตน้ำมันถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ราคาอ่อนตัวลง

ดัชนีราคาน้ำตาล ลดลง 3.4% ต่ำที่สุดในรอบสองปี เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ คือประเทศไทยและอินเดียมีการเพิ่มการผลิตและยุโรปมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการที่ บีท(ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาล)ให้ผลผลิตน้ำตาลที่สูงในปีนี้  ประกอบกับมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกหลังจากการยกเลิกโควตาการผลิตในอียู

เอฟเอโอ คาดว่าผลผลิตธัญพืชในโลกในปี 2560 ที่ผ่านมา สูงถึง 2,642 ล้านตัน โดยคาดว่าผลผลิตธัญพืชหยาบจากออสเตรเลีย และแอฟริกาทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก จะเพิ่มขึ้น  รวมถึงผลผลิตข้าวในปี 2560 มีสูงถึง 502.2 ล้านตันนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำนักวิจัย สตาติสตา (Statista) คาดว่า ในปี 2559/60 ประชากรในโลกบริโภคข้าวรวม 475.64 ล้านตัน

แม้ผลผลิตธัญพืชในโลกจะออกมามากในฤดูกาลที่ผ่านมา แต่เกษตรกรที่ผลิตข้าวหอมมะลิต่างก็ดีใจ เพราะราคาข้าวหอมมะลิพุ่งสูงที่สุดในรอบ 5 ปีเนื่องจากสามารถขยายตลาดไปได้เพิ่มให้กับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมในช่วงที่ผ่านมา และลูกค้ากลุ่มนี้ยินดีจ่ายเงินเพิ่มสำหรับข้าวคุณภาพสูง

อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 3 กลุ่มใหญ่ คือพลังงาน โลหะ และสินค้าเกษตร จากกราฟที่จัดทำโดยธนาคารโลกแล้ว จะพบว่าในรอบเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 ถึงปัจจุบันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แม้ว่าจะมีความผันผวนในแต่ละปีสูง(โดยเฉพาะในช่วงปี ค.ศ. 2000 ถึง 2008 ที่ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้พืชผลทางการเกษตรถูกนำไปผลิตเป็นพลังงานจำนวนมากจนมีราคาเพิ่มสูงขึ้นด้วย) แทบจะไม่มีการขยับไปจากเดิมเลย

หากพิจารณาดูแล้วราคาพืชผลเกษตร มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นทั่วโลก เพราะรายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรไม่ได้เพิ่มตาม แม้การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจะช่วยได้บ้าง แต่แต่ก็ไม่เหมือนโภคภัณฑ์อีกสองประเภท คือพลังงานและโลหะ ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ ขุดเจาะ กลั่น หรือในการถลุง และผลิต ได้มากกว่า

วิธีเดียวที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น คือการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากคุณภาพ จากความแตกต่าง อย่างที่เกษตรกรญี่ปุ่น เกาหลี เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล และหลายๆประเทศรวมถึงประเทศไทย กำลังทำกันค่ะ

ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่พร้อมจะบริโภคสินค้าเกษตรคุณภาพดีในราคาสูงค่ะ

โภคภัณฑ์สำคัญไฉน