ว่าด้วยเรื่องเยียวยา

ว่าด้วยเรื่องเยียวยา

ปัจจุบันเรามีกฎหมายหลายฉบับว่าด้วยเรื่องการเยียวยา เช่นกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กฎหมายการคุ้มครองผู้เอาประกันภัยรถยนต์

กฎหมายกองทุนยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม และล่าสุดคือกฎหมายประกันสังคม เป็นต้น การเยียวยาของกฎหมายทุกฉบับนั้นมีองค์ประกอบสำคัญคือเป็นเรื่องของผู้มีสิทธิได้รับการเยียวยา มีเหตุที่เกิดตามที่กฎหมายกำหนด และมีกองทุนช่วยเหลือ แต่ปัญหาก็คือนิยามของคำว่า เยียวยา ซึ่งควรตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน สอดคล้องกัน และเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างที่สุด จะต่างกันก็เฉพาะรายละเอียดตามวัตถุประสงค์ของการเยียวยาในเรื่องนั้นๆ

หลักการของการเยียวยาเบื้องต้น ควรมีการเรียงลำดับความสำคัญที่ทำให้ได้รับสิทธิ เช่นลำดับแรกเป็นเรื่องอุบัติเหตุอุบัติภัยที่เป็นภัยธรรมชาติ รองลงมาน่าจะเป็นเรื่องเหตุสุดวิสัย รองลงมาเป็นเรื่องบรรเทาความเสียหายเฉพาะหน้าในกรณีไม่ทราบชัดเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา และถ้าไม่เยียวยาความเสียหายจะลุกลามโดยเร็ว ยากต่อการควบคุม เช่นนี้เป็นต้น เพราะไม่เช่นนั้น จะเข้าลักษณะเมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็จ่ายไว้ก่อน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมประชาชนผู้เสียภาษี เงินทุกบาทควรใช้อย่างสมเหตุสมผล และทำให้สังคมดีขึ้น

มีกรณีที่เกิดเรื่องในกองทุนยุติธรรม มีการวางแผนให้เกิดปัญหาที่จะทำให้เกิดสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากกองทุน ซึ่งถ้าปล่อยให้การเยียวยาทำได้ง่ายๆ โดยดุลยพินิจของคณะบุคคลก็จะเกิดความลักลั่นมีปัญหามากขึ้น เกิดการสวมรอย แต่งเรื่อง ร่วมมือกันสร้างเรื่อง

การเยียวยาเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในสังคม และควรกำหนดความรับผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือคณะอนุกรรมการที่อนุมัติการเยียวยาที่ไม่ชอบ ไม่ว่า เจตนา ไม่เจตนา ประมาทเลินเล่อ เพราะเงินที่เยียวยาเป็นเงินของประชาชน

มีกฎหมายหลายฉบับที่กำหนดให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุอุบัติภัยโดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุที่ทำให้เกิดผลว่าเกิดจากใครหรือไม่ บางอย่างเป็นอุบัติภัย เป็นภัยธรรมชาติเช่นฟ้าผ่า น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ที่ทางกฎหมายเรียกว่าเหตุสุดวิสัย เรื่องเยียวยาเป็นเรื่องที่สมควร เพราะแน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ แต่อุบัติภัยบางอย่างเกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่นอุบัติเหตุรถยนต์ การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล การถูกทำร้าย การได้รับการต้องโทษโดยได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนต่างๆ ไม่ว่ากองทุนประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยรถยนต์ กองทุนผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ของ สปสช.กองทุนกระทรวงยุติธรรม เช่นนี้ไม่ควรให้เกิดการเยียวยาทันทีโดยไม่พิจารณาองค์ประกอบของคุณสมบัติผู้ได้รับการเยียวยา แม้เป็นการเยียวยาเบื้องต้น แต่ก็ต้องครบองค์ประกอบเบื้องต้น และถ้าหากภายหลังพบว่าขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการเยียวยา ก็ต้องมีมาตรการที่จะเรียกเงินคืน เรื่องแบบนี้ต้องชัดเจนว่าเข้าองค์ประกอบที่จะทำให้ได้รับการเยียวยา ห้ามใช้ดุลยพินิจ เพราะต่อไปจะเป็นบรรทัดฐาน เคยจ่ายแล้วต่อไปไม่จ่ายก็อาจถูกฟ้องได้

เคยยกตัวอย่างเรื่องข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายทางการแพทย์กับบุคคลากรทางการแพทย์ ที่ประเทศสวีเดนกำหนดให้ถือว่าไม่เป็นความผิด และไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด ผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยา เรียกว่า No-fault liability แต่กว่าจะได้รับการเยียวยา ต้องพิสูจน์ว่าเข้าองค์ประกอบทุกข้อหรือไม่ก่อน ไม่ใช่เยียวยาทั้งหมด ได้เขียนเป็นบทความเรื่องอนุญาโตตุลาการทางการแพทย์ลงหนังสือพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ ถ้าสนใจอาจไปหาอ่านในรายละเอียดได้

การชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสุขภาพโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด กำลังจะสร้างปัญหาใหญ่ในบ้านเราเพราะมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ค่อนข้างเปิดกว้างโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้กระทำความผิด หรือแม้มีผู้กระทำผิดก็ไม่ต้องรอพิสูจน์ความเสียหาย ขอเพียงเข้าเกณฑ์เป็นผู้มีสิทธิตาม พรบ.ที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ก็มีสิทธิได้รับการเยียวยาแล้ว เป็นลักษณะการชดเชยความเสียหายโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด

No-fault liability ที่ใช้ในประเทศสวีเดน และใช้กันในบางประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการมีเงินมากเช่น นิวซีแลนด์ แม้จะมีแม่แบบมาจากประเทศสวีเดน แต่หลายประเทศที่นำไปใช้ก็มีการจำกัดให้ใช้ No-fault กับบางลักษณะของความเสียหาย แต่ที่สำคัญคือทุกประเทศที่ใช้ เป็นประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น มีเงินเหลือเฟือ และเป็นรัฐสวัสดิการซึ่งต่างจากประเทศกำลังพัฒนาแบบประเทศไทย ที่ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องกู้เงินต่างประเทศมาพัฒนาบ้านเมือง

จุดอ่อนของมาตรา 41 ของ พ...หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้ไม่ใช่แค่เรื่องดุลยพินิจในเรื่องความผิดและการพิสูจน์ถูกผิด แต่เป็นดุลยพินิจในการเยียวยาที่จะไม่เกินกว่าเพดานที่กำหนดเท่านั้น โดยคำนึงถึงเศรษฐานะของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นคำกว้างๆ อีกเช่นกัน ฉะนั้นถ้าถามว่าชดเชยเพื่ออะไรก็คงไม่มีคำตอบ และคงไม่จำเป็นต้องตอบ เพราะกฎหมายฉบับนี้ปิดปากคนถามไปแล้ว เหลือเพียงจะชดเชยหรือเยียวยาเป็นจำนวนเงินเท่าไร เท่านั้น

ขนาดประเทศที่เจริญแล้ว มีเงินช่วยเหลือมากกว่าเราหลายสิบเท่า เขายังกำหนดว่าต้องเข้าองค์ประกอบทุกข้อ ถึงจะเข้าคุณสมบัติ ไม่เช่นนั้นก็จะเจอประเภทร้องขอก่อน อย่างอื่นว่ากันที่หลัง กลายเป็นเรื่องอ้อยเข้าปากช้างแล้ว ง้างเอาออกยากฉันใด เงินที่จ่ายเยียวยาก็ฉันนั้น แม้แต่การเยียวยาเบื้องต้น ก็ต้องมีข้อพิจารณาเบื้องต้นเช่นเดียวกัน ไม่ใช่พอเกิดเหตุ ร้องปุ๊บ จ่ายปั๊บ ไม่ต้องดูอะไรเลย ถ้าแบบนี้ก็จะเป็นการพิจารณาตามอำเภอใจ เป็นช่องทางให้ผู้แสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบย่ามใจ

ที่สำคัญ ควรกำหนดความรับผิดผู้อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาที่ผิดพลาดไว้ด้วย อย่างน้อยก็ต้องถูกไล่เบี้ย ในกรณีที่เรียกเงินคืนไม่ได้เพื่อป้องกันการรั่วไหลโดยประมาทเลินเล่อ คิดว่าเป็นเงินหลวง ทำอย่างไรก็ได้ เพราะเป็นภาษีของประชาชนทั้งนั้น