เหรียญสองด้านของการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวชาวจีน

เหรียญสองด้านของการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวชาวจีน

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า จีนเป็นประเทศที่สำคัญที่สุดในโลกในฐานะตลาดท่องเที่ยว โดยจีนส่งออกนักท่องเที่ยวกว่า 120 ล้านคนในปี พ.ศ. 2559

และใช้จ่ายเงินด้านการท่องเที่ยวนานาชาติสูงที่สุดในโลกเช่นกัน ปรากฏการณ์นี้จะยังคงดำเนินต่อไปแม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอตัวลง เพราะจีนก็ยังเป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตสูงและยังมีประชาชนที่เป็นชนชั้นกลาง 300 ล้านคนที่ยังต้องการเดินทางไปต่างประเทศ โดยในปี 2559 ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเที่ยวที่สุดในเอเชีย นำหน้าเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา เฉพาะไทยกับญี่ปุ่นสองประเทศมีนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนรวมกันถึง 88% ของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศ (ไม่รวมฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน)

การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งในมิติของการขยายตัวที่รวดเร็ว (Speed) และขนาด (Scale) ที่มหาศาล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงมอบหมายให้มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะศึกษาโครงการการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปสงค์ของตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยดูผลกระทบจากการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทย เพื่อนำมาตอบโจทย์ทางนโยบายด้านการรองรับตลาดใหม่และจัดการความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวของสองฝ่าย

การศึกษานี้พบว่า นอกจากจีนจะกลายเป็นประเทศที่ส่งออกนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก ยังมีแนวโน้มใหม่ที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากเที่ยวกับทัวร์ (Mass Tourists) และจากพฤติกรรมการ “ดู ดู ดู” “ช้อป ช้อป ช้อป” เป็นการแสวงหาประสบการณ์มากขึ้น และนิยมใช้อินเทอร์เน็ตหาข้อมูลและทำธุรกรรมผ่านมือถือ ธุรกิจท่องเที่ยวในจีนก็มีการปรับโครงสร้างตามการพัฒนาธุรกิจออนไลน์เป็นระบบธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์แบบครบวงจร ตั้งแต่การหาข้อมูล การจองที่พัก การค้นหาแผนที่ รับคำปรึกษา จองหรือสั่งซื้อสินค้า วิจารณ์ผล แนะนำต่อ และชำระเงินบนโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวทำธุรกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว

บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของจีนจึงหันมาสร้างระบบธุรกิจนิเวศแนวใหม่ที่ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ใช้บริการ โดยให้บริการจองและซื้อสินค้าบริการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร และมีระบบชำระเงินผ่านบุคคลที่ 3 เป็นกลไกสำคัญ ทำให้ผู้ใช้บริการเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มสมาชิก (ลูกค้า) ใหญ่ บนระบบสังคมออนไลน์เดียวกัน โดยมี 3 กลุ่มผู้นำ คือ Baidu, Alibaba และ Tencent เมื่อมีฐานลูกค้าใหญ่เพียงพอแล้วก็พัฒนาตัวแบบธุรกิจต่างๆ มารองรับในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy)

เมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนเคยชินกับความสะดวกจากบริการออนไลน์ครบวงจร จึงไม่อยากออกจากออนไลน์แพลทฟอร์มของจีน ทำให้ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจออนไลน์สามารถควบคุมข้อมูลตลาดในด้านดีมานด์ ทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่ฝ่ายไทยพยายามจัดทำเพื่อเสนอขายไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ หมดความสำคัญลง และการเข้าถึงตลาดนักท่องเที่ยวของผู้ประกอบการไทยยังเป็นไปได้ยาก เพราะต้องไปจดทะเบียนบริษัทในประเทศจีน ในด้านซัพพลาย ฝ่ายไทยได้มีการตอบสนองนักท่องเที่ยวจีนในด้าน (1) การให้ข้อมูลและการจองออนไลน์เป็นภาษาจีน (2) การชำระเงินออนไลน์ผ่านตัวแทนบุคคลที่ 3 ของจีน (3) การได้ข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์มาก่อนในโซเชียลมีเดีย เปรียบเสมือนการได้ข้อมูลจากปากของนักท่องเที่ยว (word of mouth) ที่มีรสนิยมและแบบแผนการท่องเที่ยวใกล้เคียงกับของตน

ระบบนิเวศธุรกิจท่องเที่ยว (Tourism Business Ecosystem) ที่เกิดขึ้นมาใหม่ซึ่งอาศัยเวทีการชำระเงินผ่านบุคคลที่ 3 และ 4 จึงเป็นระบบที่บริษัทท่องเที่ยวไทยมีความเสียเปรียบ ภายใต้ระบบนิเวศน์ธุรกิจใหม่นี้ ทั้งในด้านการควบคุมตลาด เทคโนโลยี และบุคลากร

นอกจากนี้ การพัฒนาที่เกิดขึ้นในจีน ทำให้เกิดช่องว่างที่บริษัทจีนเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยเป็นสตาร์ท-อัพในรูปแบบใหม่ คือ ผู้บริการชำระเงินออนไลน์บุคคลที่ 4 (ที่ไม่ใช่ธนาคารหรือตัวแทนการเงินที่ถูกกฎหมาย) โดยให้ธุรกิจร้านค้าในไทยใช้ QR Code ของตนในการรับชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแล้วผู้บริการชำระเงินบุคคลที่ 4 ก็จะโอนเงินให้แก่ร้านค้าในไทยอีกที แต่กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย บริษัทบุคคลที่ 4 จึงร่วมมือกับบริษัทไทยที่เป็นSettlement Provider ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็มีบางบริษัทที่ถึงแม้จะมี QR Code ที่ถูกกฎหมายแล้วก็ยังแอบใช้ QR Code ของตนที่ประเทศจีนอยู่ เป็นการใช้ QR Code ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายตามแต่โอกาสเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทไทยยังต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของทางการไทยที่เอื้อมไม่ถึง OTA จีนในหลายประเด็น ทำให้การแบ่งปันผลประโยชน์ในอนาคตจะตกในมือผู้ประกอบการจีนเป็นส่วนใหญ่ และต่อเนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านระบบนิเวศน์ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่ทั้งก่อนและระหว่างเดินทางดังที่กล่าวมาแล้ว ธุรกิจจีนยังขยายบทบาทไปยังการขนส่งสินค้าในประเทศให้กับนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมักซื้อสินค้ารายการใหญ่ๆ เช่น ที่นอน หมอนยางพารา เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการไทยยังต้องมีสเกลที่ใหญ่ (Large Scale) สามารถปรับเปลี่ยนบริการได้รวดเร็ว (Speedy Change) และยังต้องให้บริการในราคาประหยัด ทำให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวไม่ทัน ผู้ประกอบการจีน จึงใช้วิธีการหาตัวแทนและหาพันธมิตรในทุกห่วงโซ่การให้บริการจากประเทศจีนมาร่วมลงทุนในประเทศไทย ผลก็ทำให้ห่วงโซ่อุปทานที่รองรับนักท่องเที่ยวจีนกลายเป็นการลงทุนของจีนไปเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผลตอบแทนที่เราได้รับในรูปมูลค่าเพิ่มที่เก็บไว้ในประเทศไทยมีไม่มากเท่าที่ควร

การที่นักท่องเที่ยวจีนได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะ Smart Mobile มาชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศ การโอนย้ายรายได้กำไรจากการจัดการท่องเที่ยวข้ามประเทศ ทำให้รายจ่ายนักท่องเที่ยวบางส่วนไม่ได้ผ่านระบบภาษีและธนาคารพาณิชย์ของไทย ดังนั้นการที่ประเมินรายได้จากการท่องเที่ยวโดยเอาค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวจีนคูณด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจึงอาจจะไม่ใช่รายได้ที่ตกอยู่กับประเทศไทยทั้งหมด

ในระยะยาว ถ้าผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่นของไทยปรับตัวเข้ากับ Speed/ Scale ของธุรกิจจีนไม่ได้ ก็จะเข้าไม่ถึงตัวลูกค้า เพราะไม่สามารถเข้าสู่ช่องทางการตลาดออนไลน์ จึงไม่สามารถรับการชำระอิเล็กทรอนิกส์แบบโมบายนักท่องเที่ยวจีนได้ ซึ่งในอนาคตธุรกิจก็จะค่อยๆ ถดถอยลง นอกจากจะปรับตัวเตรียมรับสถานการณ์ด้วยการสร้างความแกร่งของตัวสินค้าให้มีความโดดเด่นไม่เหมือนใครหรือพยายามหาตลาดอื่นนอกจากตลาดจีนมาทดแทน

แต่ถ้าคิดจะทำธุรกิจท่องเที่ยวกับจีนก็ต้องสู้ไม่ถอยค่ะ!