“ดอกเบี้ยขาขึ้น กับ การลงทุนในตลาดหุ้น”

“ดอกเบี้ยขาขึ้น กับ การลงทุนในตลาดหุ้น”

“ดอกเบี้ยขาขึ้น กับ การลงทุนในตลาดหุ้น”

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

เรากำลังเข้าสู่เดือน มี.ค. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาส 1 กันแล้วนะคะ ในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก โดยตลาดหุ้นหลักๆ ต่างปรับฐานลง เนื่องจาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ Bond Yield อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี อยู่ที่ 2.95% หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับตัวเพิ่มขึ้น จากค่าจ้างแรงงานของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่ดิฉันเคยได้กล่าวถึงไว้ในฉบับต้นปี 2018 เกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนต้อนรับปีจอ โดยครั้งนั้น  ดิฉันได้เน้นย้ำว่า ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานลง เนื่องจาก Valuation ที่อยู่ในระดับสูง และ Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หากแรงกดดันของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จากค่าจ้างแรงงานที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ตามตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง

ดิฉันยังคงมีมุมมองว่า อัตราดอกเบี้ย และ Bond Yield ของสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อไป เห็นได้จากถ้อยแถลงของนาย Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คนใหม่ ที่มีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น จากการใช้มาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราภาษี และการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล สำหรับอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยจะมีเสถียรภาพที่ระดับ 2% ในระยะกลาง ซึ่งหลังจากถ้อยแถลงดังกล่าว ได้ส่งผลให้ความน่าจะเป็นที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 4 ครั้งปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง และค่าเงินดอลลาร์ สรอ.แข็งค่ามากขึ้น

หลายท่านอาจมีคำถามว่า ทำไมการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และ Bond Yield ของสหรัฐฯ จึงส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับลดลง? ดิฉันขอตอบเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ 1) อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงิน ของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริษัทฯ ที่มีอัตราส่วนของหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ในระดับค่อนข้างสูง  และ 2) อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้ความน่าสนใจต่อการลงทุนในหุ้นลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ สะท้อนจาก ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับของตราสารหนี้ (Coupon Rate)  กับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่มีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้น

 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ดิฉันยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ควรเลือกลงทุนแบบ Selective มากขึ้น โดยเฉพาะลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ของธนาคารต่างๆ เพิ่มขึ้น เนื่องจาก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ส่งผลให้สินเชื่อเติบโตเพิ่มมากขึ้น รายได้ของธนาคารจึงปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใต้นโยบายของ ปธน.ทรัมป์จะส่งผลให้อัตราภาษีของธนาคารลดลง เช่น อัตราภาษีของ Regional Bank ของสหรัฐฯ (ธนาคารขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งส่วนใหญ่มีการดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ เท่านั้น ไม่มีการดำเนินธุรกิจต่างประเทศ) ปรับลดลงจาก 31% เป็นเฉลี่ยประมาณ 21% ส่งผลให้กำไรของธนาคารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การปรับลดอัตราภาษีของบริษัทต่างๆ ยังทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้สูงขึ้นอีกด้วย ประการสุดท้าย การผ่อนคลายกฎระเบียบสถาบันการเงิน (Financial Deregulation) ยังส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มการเงินของสหรัฐฯ เช่น สนับสนุนให้การทำ M&A เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาคธนาคาร จากการลดหน่วยงานที่ซับซ้อนลง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไรให้สูงขึ้นได้

แม้ว่าการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร แต่สิ่งที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม คือ ส่วนต่างของผลตอบแทนฯ ระยะสั้นและระยะยาว โดย Bond Yield ระยะสั้น ที่ถูกกำหนดโดย Fed และ Bond Yield ระยะยาว จะถูกกำหนดจากหลายปัจจัย เช่น แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ปริมาณพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น จากการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ ซึ่ง หาก Bond Yield ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า Bond Yield ระยะสั้น จะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร เนื่องจาก ช่วยทำให้ NIM ปรับตัวดีขึ้น แต่หากเกิดกรณีตรงข้าม อาจส่งผลลบต่อหุ้นกลุ่มธนาคารได้

 สุดท้ายนี้ ดิฉันยังคงย้ำมุมมองการลงทุนต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ว่า นักลงทุนควรเลือกลงทุนแบบ Selective เนื่องจากแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น