จุดพลิกยุโรป: เลือกตั้งใหญ่ในอิตาลี?

จุดพลิกยุโรป: เลือกตั้งใหญ่ในอิตาลี?

และแล้วเวลาที่หลายคนเฝ้ารอสำหรับไฮไลต์การเมืองในยุโรปก็มาถึงในวันที่ 4 มีนาคม 2018 กับการเลือกตั้งใหญ่ในอิตาลีที่ทั้งเสือเฒ่า

อย่าง ซิลเวอร์ริโอ เบอร์เลสโคนี หรือ ดาวรุ่งหน้าใหม่ของฝั่งต่อต้านยูโร ลุยจิ ดิ มายโอ รวมถึง อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลาออกไปเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน อย่าง มาทิโอ เรนซิ มาร่วมชิงชัยในการเลือกตั้งที่จะถือว่ามีควาสำคัญที่สุดนับจากการเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว

ก่อนที่จะมาทำความรู้จักกับผู้ที่เป็นตัวเก็งในการเลือกตั้งหนนี้ ที่มีความเป็นเบี้ยหัวแตกสูงมาก ลองมาทำความรู้จักกับระบบการเลือกตั้งของอิตาลีหนนี้ ที่ว่ากันว่าซับซ้อนกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

โดย 61% ของที่นั่งทั้งหมด หรือ 386 เสียงจากสภาล่าง และ 193 เสียงจากสภาบน โดยจำนวนเสียงดังกล่าวคำนวณมาจากสัดส่วนของคะแนนเสียงทั้งหมดที่นับรวมจากคูหาเลือกตั้งต่างๆ ทั้งหมดทั่วประเทศ โดยขั้นต่ำที่จะได้เก้าอี้จากเสียงส่วนนี้ คืออย่างน้อย 3% ส่วนอีก 37% หรือ 232 เสียงจากสภาล่าง และ 116 เสียงจากสภาบน มาจากคะแนนเสียงตามเขตการเลือกตั้งต่างๆ ส่วนอีก 2% หรือ12 เสียงจากสภาล่าง และ 6 เสียงจากสภาบน มาจากผู้เลือกตั้งจากชาวอิตาลีนอกประเทศ

ทั้งนี้ กลุ่มใหญ่ๆ ของตัวเก็งผู้สมัคร แบ่งเป็น 3 ก๊วน ได้แก่

หนึ่ง ฟากพรรคฝ่ายค้านขวากลางหรือ Centre Right ที่มีหัวหอก คือ พรรค Forza Italia มหาเศรษฐี อดีตผู้นำอิตาลียุคสิบกว่าปีก่อน นายเบอร์เลสโคนี ที่ถูกห้ามลงเล่นการเมืองไปหลายปี จะได้กลับมาในเส้นทางการเมืองอีกครั้ง โดยมีนโยบายที่ถือว่าค่อนข้างยืดหยุ่นกว่าอีก 2 กลุ่มที่เหลือ คือ ไม่ปฏิเสธที่จะร่วมกับยูโร โดยเอาใจชาวเมืองที่ชอบร่วมสังคายนากับยูโร ด้วยการประกาศแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิตาลีที่ไปร่วมในคณะกรรมการยูโรให้เป็นผู้นำคนสำคัญในรัฐบาล หากพรรค Forza ชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำในรัฐบาลใหม่ ในขณะที่ก็ยังเอาใจคนที่มีกระแสรักชาติ เนื่องจากนายเบอร์เลสโคนี ถือเป็นนักธุรกิจและนักการเมืองเก่าแก่ ที่รู้จักวิธีเอาใจชนชั้นรากหญ้าได้เป็นอย่างดีมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยมีพรรค Northern League และ พรรค Brothers of Italy ที่มีโอกาสจะจับขั้วกับฝั่ง Forza ซึ่งทั้งสองพรรคเอียงไปทางรักชาติ แต่ก็ไม่สุดโต่งเหมือนกับพรรค Five Star Movement ที่จะกล่าวถึงต่อไป เข้ามาเป็นพันธมิตรในแง่ของ Positioning พรรค Forza ฉลาดในการวางตำแหน่งให้คนอิตาลีกลุ่มใหญ่และกว้างให้ลงคะแนนเลือกตั้งพรรคนี้

สอง พรรค Democratic Party (PD) ที่มีผู้นำเปาโล เจนทิโลนี นายกรัฐมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี มาทิโอ เรนซิ เป็นหัวหอก นโยบายคือค่อนข้างเอียงไปทางเอาใจยูโร แต่ก็มีแอบค้านนโยบายการรัดเข็มขัดของยูโรอยู่เหมือนกัน ว่ากันว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของอิตาลีอาจจะช่วยให้พรรค PD สามารถชนะเป็นที่หนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ แต่น่าจะไม่สามารถมีคะแนนเสียงเพียงพอที่จะเป็นรัฐบาลด้วยเพียงพรรคเดียว

สาม พรรค Five Star Movement (M5S) ที่การเลือกตั้งเมื่อปี 2013 กวาดที่นั่งไปหนึ่งในสี่ ทว่าช่วงหลังมีข่าวแตกแยกกันในพรรคบ่อย ประกอบกับกระแสรักชาติเริ่มแผ่วลง โดยมี อดีตดาวตลก เบปเป้ กิลโล และ นักการเมืองรุ่นใหม่ ลุยจิ ดิ มายโอ เป็นผู้นำ โดยนโยบายคือ ’อิตาลีต้องมาก่อน’ แต่ไม่สุดโต่งเหมือนเมื่อ 4 ปีก่อน มีโอกาสจะได้คะแนนน้อยกว่าครั้งที่แล้วสูง

สิ่งที่ต้องจับตาในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือผลการเลือกตั้งจะสามารถนำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้หรือไม่ โดยมีโอกาสสูงถึง 50% ที่จะเกิดภาวะที่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เหมือนกับเยอรมันในตอนนี้ ที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ลงตัว แม้การเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นมาหลายเดือนแล้วก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวของผม หากสามารถจัดรัฐบาลได้ ผมว่าฟากของนายเบเลสโคนี มีโอกาสสูงที่จะมีโอกาสเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด เนื่องจากดูจะมีความยืดหยุ่นที่สามารถร่วมกับ Five Star Movement ได้ เนื่องจากเขาไม่ค้านซะทีเดียวในการไม่ร่วมมือกับยุโรปอย่างจริงจัง หรือกระทั่งร่วมกับพรรค PD ก็เป็นไปได้แม้โอกาสจะไม่เยอะ

ผมเชื่อว่าผลการเลือกตั้งของอิตาลีในสัปดาห์หน้า น่าจะไม่เป็นผลดีเท่าไหร่นักต่อเสถียรภาพของยูโรโซน แต่สิ่งที่จะเป็นเซอร์ไพรส์ของตลาด คือพรรค Five Star Movement ที่ไม่ค่อยเอายูโร เกิดได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งหรือสองขึ้นมา ตรงนี้ ถือว่าการเมืองในทวีปยุโรปได้มีหนาวกัน สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป