โครงการปันน้ำใจให้น้องผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา

โครงการปันน้ำใจให้น้องผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา

มื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมโครงการปันน้ำใจให้น้อง ครั้งที่ 5 ของบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

โดย His & Her เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับผู้สนับสนุนจากสินค้าอุปโภค-บริโภคอีกหลากหลายยี่ห้อ ที่โรงเรียนบ้านเด็กป่า หมู่ที่ 3 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดการการศึกษาให้กับเด็กพลัดถิ่นที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา เนื่องด้วยการสำรวจเบื้องต้นพบว่า โรงเรียนยังมีความต้องการเครื่องเขียน และอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่น ฟิวเจอร์บอร์ด กระดาษ A4 กระดาษเขียนรายาน กระดาษปกรายงาน ปากกาเขียนไวท์บอร์ด ปากกามาร์คเกอร์สองหัว แฟ้มใส่เอกสารแบบห่วง สมุดวาดรูป เป็นต้น

ประเด็นน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า การทำกิจกรรมของเอกชนรายนี้ ถือว่ามีรูปแบบที่มีหลากหลายมิติ น่าสนใจ ไม่ว่ากิจกรรมการอบรมปฏิบัติธรรมะ การฝึกอาชีพ การบริจาคเพื่อการศึกษา เป็นต้น สำหรับลักษณะของโครงการซีเอสอาร์เชิงท่องเที่ยว ผ่านกิจกรรม พร้อมมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กผู้ด้อยโอกาส ซึ่งการทำซีเอสอาร์ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เดินทางไปบริจาคแล้วเดินทางกลับ แต่ยังนำสมาชิกเข้าร่วมทำกิจกรรม โดยให้สมาชิกสามารถใช้คะแนนที่สะสมแต้มนำมาแลกสิทธิ์เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ฟรี หากคะแนนสะสมไม่ถึงแต่อยากเข้าร่วมกิจกรรมก็สามารถชำระเงินโอนผ่านธนาคารมาได้ โดยกิจกรรมนี้จำกัดจำนวนผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ และดำเนินการมาเวลา 5 ปีแล้ว

ที่สำคัญ ในทุกโครงการที่ดำเนินงานมาสามารถจูงใจชักชวนสมาชิกที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทและสมาชิกเครือข่ายผู้ขาย ซึ่งในทุกครั้ง ไม่ว่าโครงการจะเป็นรูปแบบใด จะมีสมาชิกให้ความร่วมมือ โดยทุกคนยินดีที่จะร่วมกิจกรรมมากกว่าการเดินทางท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าโดยปกติพ่อค้าแม่ค้านักธุรกิจเหล่านี้มักไม่ค่อยมีเวลาในการเข้ามาร่วมกิจกรรม แต่ก็จะสลับผลัดเปลี่ยนกันมาร่วมมือร่วมใจกัน จนเกิดกลายเป็นความภักดีในตราสินค้า (Brand Loyalty) ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ก่อให้เกิดสายโซ่แห่งความร่วมมือกัน

นอกจากนี้ ทุกคนสามารถสานต่อมิตรภาพและธุรกิจต่อกันได้ผ่านกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้ทุกคนที่มาร่วมทำกิจกรรมได้รู้จักกันทลายกำแพงแห่งความไม่รู้จักกันออก ก่อให้เกิดความสนุกสนาน ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเกมส์ภายหลังรับประทานอาหารเย็น การบรรจุสิ่งของใส่ถุงส่งมอบให้เด็กนักเรียน เป็นต้น

อนึ่ง การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: ซีเอสอาร์) หมายถึงการดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี โดยรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสามารถกระทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การดูแลสวัสดิการพนักงาน,การผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม,ความรับผิดชอบต่อลูกค้า, การปลูกป่า, การบริจาคทุนการศึกษา,การรณรงค์สร้างจิตสำนึก, การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จะมีความแตกต่างจากกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตรงที่กิจการเพื่อสังคมนั้น มีเป้าหมายทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ในขณะที่การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมักจะเป็นกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสังคมขององค์กร แต่ก็ยังคงแสวงหากำไรตามปกติ

สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจรูปแบบใหม่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ให้คุณค่าของการแบ่งปันสู่สังคมมากกว่าผลกำไรที่เป็นเงินเพียงอย่างเดียว บางบริษัทจะใช้วิธีการเกณฑ์คนมาทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพ แต่หากมีการทำซีเอสอาร์อย่างแท้จริงจะทำให้เกิดความยั่งยืนทางธุรกิจ สังคม ชุมชน ที่มีแต่รอยยิ้มให้กัน ลดความขัดแย้ง ความเห็นแก่ตัว รู้จักการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ สร้างวัฒนธรรมการให้ที่สังคมเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง โดยจะเป็นแนวทางสร้างการยอมรับจากสังคม อันนำไปสู่สร้างแบรนด์ของธุรกิจได้อย่างยั่งยืน (Sustainable Brands) เพราะในอนาคตประเด็นทางจริยธรรมจะสำคัญอยู่เหนือกว่าข้อกฎหมาย

โดย... 

ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง

มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี