ความยากจน-ขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน ของโรงพยาบาล***

ความยากจน-ขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน ของโรงพยาบาล***

ไม่ว่าจะมีการสำรวจเมื่อไร ผลการสำรวจก็จะออกมาว่า ประชาชนต่างก็มีความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามัญสำนึกก็บอกเราได้เช่นกันว่า

ใครล่ะจะไม่พอใจ เมื่อได้รับการรักษาความเจ็บป่วยของตนเอง โดยไม่ต้องจ่ายเงินของตนเองเลย 

ทั้งนี้ประชาชน 48 ล้านคน เมื่อเจ็บป่วยและไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง(และโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนบางแห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาท)ได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาความเจ็บป่วยให้แก่โรงพยาบาลเลยแม้แต่บาทเดียว แต่จะมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทำหน้าที่จ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยในระบบนี้ให้แก่โรงพยาบาลที่ได้รักษาผู้ป่วยไปแล้ว (ทำงานไปก่อน เรียกเก็บเงินทีหลัง) แต่ปัญหาเกิดขึ้นมาก 

เนื่องจากสปสช.จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยไม่เท่าทุนที่โรงพยาบาลได้ใช้ไปในการรักษาผู้ป่วยไปแล้ว เนื่องจากหลังจากการมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใน พ.ศ. 2545 แล้ว ทางราชการไม่ได้ให้งบประมาณแก่โรงพยาบาลในการจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและจำเป็นในการรักษาผู้ป่วย แต่กฎหมายกำหนดให้โรงพยาบาลไปเรียกเก็บเงิน(ต้นทุน) ในการรักษาผู้ป่วยบัตรทองจากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่รัฐบาลจ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน

โดยสปสช.จะได้รับงบประมาณสำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยบัตรทองจากรัฐบาลโดยตรง และกฎหมายกำหนดให้สปสช.จ่ายเงินงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลอีกทีหนึ่ง จึงนับว่าส่วนราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดินเพียงกระทรวงเดียวในประเทศไทย ที่ไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากสำนักงบประมาณ เพื่อมาทำภารกิจให้บริการประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข

แต่รัฐบาลกลับตั้งหน่วยงานใหม่ คือสปสช.มาเป็นองค์กรกลาง เพื่อทำหน้าที่รับงบประมาณแผ่นดิน มาจ่ายให้แก่กระทรวงสาธารณสุขอีกทีหนึ่ง

สปสช.จึงเป็นหน่วยบริหารเงิน โดย มีลักษณะเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะแบบองค์การมหาชน และบริหารงานตามมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสปสช.เป็นสำนักงานรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นหน่วยงานที่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุขให้แก่โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยบัตรทอง 

โดยรัฐบาลต้องจ่ายค่าบริหารสปสช.อีกปีละเกือบ 2 พันล้านบาท 

เรื่องก็คงจะไม่ยุ่งยากอะไร ถ้าสปสช.จ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยตามต้นทุนที่โรงพยาบาลได้จ่ายไปจริง แต่สปสช.จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยในราคาต่ำกว่าราคาจริงและต่ำกว่าราคากลางที่ได้ตกลงกันไว้ในตอนต้นปีงบประมาณ กล่าวคือ สปสช.จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยนอก (ไม่ต้องนอนค้างคืนในโรงพยาบาล)ครั้งละ 700 บาทเท่านั้นสำหรับโรงพยาบาลศูนย์ ส่วนโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนก็จะได้รับค่ารักษาผู้ป่วยนอกครั้งละไม่ถึง 700 บาท 

 ในขณะที่โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยนอกมากกว่าจำนวนที่สปสช.กำหนดไว้ ส่วนผู้ป่วยใน(นอนค้างคืนในโรงพยาบาล) สปสช.ก็จะตกลงราคากลางสำหรับแต่ละโรคไว้กับโรงพยาบาลและออกระเบียบไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ตามที่ได้ตกลงราคากลางที่จะจ่ายให้แก่โรงพยาบาล แต่พอถึงเวลาจ่ายจริง สปสช.ก็จะจ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยในไม่เท่ากับราคากลางที่ตกลงกันไว้ ตลอดทั้งปี 

กล่าวคือตอนต้นปี งบประมาณยังมี สปสช.ก็จ่ายตามราคาที่ตกลงกันไว้ แต่พอกลางปีจนถึงปลายปี สปสช.ก็จะจ่ายเงินลดลงเกือบครึ่งของราคากลางที่ตกลงกันไว้ อ้างว่าเงินมีแค่นั้นแหละ (ต้องเอามาหารแบ่งเพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข) และสปสช.ยังมีวิธีการที่จะ “ลดราคา” การรักษาผู้ป่วยลง โดยการออกระเบียบการบันทึกข้อมูลตามที่สปสช.กำหนดเท่านั้น  ถ้าแพทย์บันทึกข้อมูลไม่ตรงกับระเบียบของสปสช. ก็จะเบิกเงินค่ารักษาไม่ได้ตรงกับความเป็นจริง และสปสช.ยังมีการออกระเบียบ “จำกัดยาและวิธีการรักษาผู้ป่วย” เพื่อประหยัดงบประมาณ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพมาตรฐานการรักษาผู้ป่วย 

สรุปก็คือ โรงพยาบาลของราชการกระทรวงสาธารณสุข มีภาระงานในการรักษาผู้ป่วยที่มีสิทธิในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะจ่ายเงินเอง หรือผู้ป่วยที่มีสิทธิจากระบบสวัสดิการรักษษพยาบาลข้าราชการ ผู้ป่วยที่มีสิทธิในระบบประกันสังคม หรือผู้ป่วยที่จ่ายเงินรักษาตัวด้วยตนเอง แต่การรักษาผู้ป่วยในระบบบัตรทอง เป็นระบบเดียวที่จ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลไม่เท่ากับต้นทุนค่ารักษาผู้ป่วย 

คำถามที่ว่าทำไมโรงพยาบาลจึงขาดทุน 

เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้แล้ว ท่านผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่าทำไมโรงพยาบาลจึงขาดทุนจากการรักษาผู้ป่วยในระบบบัตรทอง ต้นเหตุการขาดทุนก็เพราะได้รับเงินต่ำกว่าทุนที่ต้องจ่าย เนื่องจากสปสช.อ้างว่าเป็นผู้ซื้อบริการสาธารณสุขแทนประชาชน โดยโรงพยาบาลเป็นผู้ “ขายบริการ”(การแพทย์และสาธารณสุข) แต่ผู้ซื้อจ่ายเงินน้อยกว่าต้นทุน โรงพยาบาลก็ตกอยู่ในสภาพยากจน ทำงานได้เงินไม่พอใช้ โรงพยาบาลจึงขาดแคลนงบประมาณที่จะเอาไปซื้อเครื่องมือแพทย์ ไม่มีเงินพัฒนาอาคารสถานที่ให้มีเตียงพอรับผู้ป่วย 

พี่ตูน อาทิห์วรา คงมาลัย รับทราบความจริงนี้ จึงพยายามที่จะช่วยระดมทุนมาช่วยซื้อเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล 11 แห่ง นับว่าช่วยต่อลมหายใจของโรงพยาบาล และต่อลมหายใจของผู้ป่วยได้ไม่น้อย 

แต่โรงพยาบาลที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนและขาดสภาพคล่องในการทำงานมิได้มีเพียง 11 แห่ง แต่ยังมีอีกหลายร้อยแห่ง หรือเกือบทุกแห่งของรพ.ราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับโรงพยาบาล 11 แห่งนั้น แต่ยังไม่เห็นว่าผู้รับผิดชอบในการบริหารกระทรวงสาธารณสุข และบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะสามารถแก้ไขการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิผล(ใช้เงินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย) และไม่มีประสิทธิภาพ(ใช้เงินอย่างไม่ประหยัด ไม่คุ้มค่า และผลลัพธ์การรักษาไม่มีคุณภาพ) รวมทั้งการบริหารที่ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลของสปสช.ได้เลย

โดย... พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

*** ชื่อเต็มเรื่อง: ความยากจนและขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน

ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข