กำลังซื้อ'ฐานราก'เริ่มฟื้น?

กำลังซื้อ'ฐานราก'เริ่มฟื้น?

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) รายงานออกมาเมื่อเร็วๆ นี้

ยังไม่สามารถสลัดภาพเศรษฐกิจที่มีลักษณะ “แข็งนอก อ่อนใน แข็งบน อ่อนล่าง” ไปได้

ข้อมูลเศรษฐกิจแต่ละตัว บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่เติบโตดีจาก “ภายนอก” ประเทศ ขณะที่ “ภายใน” ประเทศ ยังฟื้นตัวไม่เข้มแข็ง และเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโต ก็มาจาก “กลุ่มคนระดับบน” เป็นหลัก ...ส่วน “กลุ่มคนระดับล่าง” ยังอ่อนแอ

เครื่องบ่งชี้ชัดๆ คือ ตัวเลข “การส่งออก” ในไตรมาส 4 ปี 2560 ขยายตัวสูงถึง 11.6% สูงกว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ที่เติบโต 4%

ส่วนตัวเลข “การลงทุน” และ “การบริโภค” ที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจในประเทศ ขยายตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเติบโต “ต่ำกว่า” การขยายตัวของ “จีดีพี” ในไตรมาสดังกล่าวด้วย

สำหรับ “การลงทุนรวม” ขยายตัวเพียง 0.3% เป็นการขยายตัวจาก การลงทุนภาคเอกชน ที่เติบโต 2.4% ส่วนการลงทุนภาครัฐ หดตัว 6% ขณะที่ “การบริโภคภาคเอกชน” ขยายตัว 3.5%

การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปี 2560 ที่ขยายตัว 3.5% แม้เป็นการขยายตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.4% แต่การขยายตัวส่วนใหญ่เกิดจากกำลังซื้อของ “คนกลุ่มบน” ในขณะที่กำลังซื้อ “คนกลุ่มระดับกลาง-ล่าง” ยังไม่ดีนัก

เครื่องบ่งชี้ที่เห็นชัดๆ คือ “การบริโภคสินค้าคงทน” ช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ขยายตัวสูงถึง 21.8% ส่วนใหญ่เกิดจากการ “ซื้อรถยนต์” ซึ่งยอดขายรถยนต์ในช่วงเวลาเดียวกันเติบโตถึง 33.9% เป็นระดับ “สูงสุด” ในรอบ “4 ปี” หรือ “16 ไตรมาส”

ขณะที่ การบริโภค “สินค้ากึ่งคงทน” เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง นาฬิกา รองเท้า ในไตรมาสดังกล่าว ขยายตัวเพียง 0.5% และ การบริโภค “สินค้าไม่คงทน” เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ต่างๆ ขยายตัวเพียง 1.8% ..ภาพเหล่านี้ บ่งบอกว่า กำลังซื้อของคนทั่วไปยังไม่ดีนัก

ที่น่าห่วงสุด คือ “ดัชนีรายได้ภาคเกษตร” ในไตรมาสดังกล่าว ยัง “หดตัว” ต่อเนื่องอีก 7% โดยภาคเกษตร มีการจ้างงานราว 12 ล้านคน คิดเป็น 32% ของการจ้างงานทั้งหมด ดังนั้นแล้วหากราคาสินค้าเกษตรยัง “ย่ำแย่” โอกาสที่เศรษฐกิจระดับกลางและฐานรากจะดีขึ้น ก็คงยากตามไปด้วย

มองไปข้างหน้า “ประเมินกันว่า” เศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้น่าจะ “เริ่มดีขึ้นบ้าง” โดยเฉพาะราคา “ข้าว” ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนใหญ่สุดในบรรดาสินค้าเกษตรทั้งหมด ราคาเริ่มปรับเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ “รัฐบาล” ยังจัดสรรงบกลางปีอีก 1 แสนล้านบาท เพื่อมาดูแลคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งการปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” เมื่อไม่นานมานี้ ก็น่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของคนกลุ่มดังกล่าวได้บ้าง

ที่สำคัญ ธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ “เอสเอ็มอี” ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานของคนจำนวนมาก เริ่มมีสัญญาณการ “ฟื้นตัว” ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยข้อมูลหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ “เอ็นพีแอล” ช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 “เริ่มลดลง” ในขณะที่ สินเชื่อเริ่มขยายตัวชัดเจนขึ้น บ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจเริ่มไปได้

หากเศรษฐกิจคนกลุ่มนี้ “ฟื้นตัวจริง” ความรู้สึกที่มีต่อการขยายตัวของ “จีดีพี” ก็คงไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลข... เอาใจช่วยครับ!