วัฏจักรการเงิน...เครื่องชี้วัดเสถียรภาพระบบการเงินไทย

วัฏจักรการเงิน...เครื่องชี้วัดเสถียรภาพระบบการเงินไทย

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

 โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกที่ดีเป็นประวัติการณ์ แต่บทเรียนที่เราได้รับจากวิกฤตการเงินในอดีต ทำให้เราต้องให้ความใส่ใจกับประเด็นด้าน “เสถียรภาพระบบการเงิน (financial stability)”มากยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบการเงินถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจ การที่ให้ความสำคัญกับขยายตัวของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยขาดการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดีอาจนำไปสู่การเติบโตที่ไม่ยั่งยืน เพราะทุกครั้งที่ระบบการเงินมีปัญหาขึ้น ระบบเศรษฐกิจจะถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวแรง หรือหยุดชะงักไปเป็นปี ๆ กว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้

ดังเช่นเหตุการณ์วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่สถาบันการเงินในสหรัฐฯ มีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ลดต่ำลง ส่งผลทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เกินกำลังความสามารถที่ผู้กู้จริงที่จะชำระหนี้ได้ จนนำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินโลกที่รุนแรงและยาวนานในที่สุด

ฉะนั้น ในการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเงิน รวมถึงการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่กันไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศด้วย ซึ่งหากเราสามารถที่จะวัดระดับเสถียรภาพระบบการเงินเพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงโอกาสที่จะเกิดวิกฤตการเงินได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ จะทำให้เราสามารถลดทอนความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งยับยั้งการเกิดวิกฤตการเงินขึ้นได้

คำถามคือ เราจะใช้เครื่องชี้ใดเป็นตัวหลักในการบอกถึงระดับเสถียรภาพระบบการเงินไทยในภาพรวม งานศึกษาของต่างประเทศได้พยายามสร้างเครื่องชี้ที่เรียกว่า “วัฏจักรการเงิน (financial cycles)” ที่วัดระดับการขึ้นลงของตัวแปรทางการเงินโดยเปรียบเทียบกับเส้นค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งวัฏจักรการเงินนี้จะช่วยสะท้อนแรงกดดันทางการเงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในระบบได้เป็นอย่างดี

สำหรับตัวแปรทางการเงินที่นิยมนำมาใช้สร้างวัฏจักรการเงิน โดยมากแล้วจะมาจากข้อมูลด้านสินเชื่อและข้อมูลราคาสินทรัพย์เป็นหลัก เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อนั้นย่อมส่งผลต่อการเพิ่มของระดับราคาสินทรัพย์ในตลาดด้วย ในทางกลับกัน การเพิ่มขึ้นของระดับราคาก็ช่วยเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ ทำให้สินเชื่อขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากระดับการเติบโตของสินเชื่อและระดับราคานั้นเร่งเร็วเกินกว่าระดับการเติบโตของศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศมาก ย่อมเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อระบบการเงินด้วยเช่นกัน

วัฏจักรการเงิน...เครื่องชี้วัดเสถียรภาพระบบการเงินไทย

เมื่อเราทำการเปรียบเทียบเส้นวัฏจักรการเงิน (เส้นสีแดง) ในรูป เทียบกับเส้นวัฏจักรเศรษฐกิจของไทย (เส้นสีน้ำเงิน) จะพบว่า วัฏจักรการเงินไทยมีรอบที่ค่อนข้างยาวและมีขนาดของการแกว่งตัว (amplitude) ที่มากกว่าวัฏจักรเศรษฐกิจ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า การแกว่งตัวของวัฏจักรการเงินนั้นเกิดจากการสะสมความเปราะบางที่เกิดขึ้นในระบบการเงินอย่างช้า ๆ ซึ่งจะไม่ผันผวนหรือถูกกระทบจากปัจจัยระยะสั้นเช่นเดียวกับวัฏจักรเศรษฐกิจ นอกจากนั้น วัฏจักรเศรษฐกิจในช่วงถดถอย (recession) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากเกิดในช่วงเวลาเดียวกับช่วงวิกฤตการเงิน เนื่องจาก ในช่วงนั้นสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะประสบกับปัญหาและมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น จึงยิ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยากขึ้น ต่างจากช่วงปี 2551 ที่ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำ แต่ก็ไม่ได้รุนแรงเท่ากับช่วงวิกฤตปี 2540 และเศรษฐกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่า เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ประสบปัญหาวิกฤตการเงินในครั้งนั้นด้วย

จากภาพจะเห็นได้ว่า ในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 วัฏจักรการเงินไทยเคยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง จากการที่สินเชื่อในระบบเติบโตเร็วเกินกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ส่งผลทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงมากเกิน และเป็นหลักประกันทำให้มูลค่าสินเชื่อสูงขึ้นไปด้วย จนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ขึ้น นั่นคือ จุดสูงสุดของวัฏจักรการเงินที่เป็นบวกสูงจะสะท้อนแรงกดดันในระบบการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งช่วยทำนายการเกิดวิกฤตการเงินในอดีตได้ดีพอสมควร

อย่างไรก็ดี จุดสูงสุดของวัฏจักรการเงินอาจไม่บ่งชี้การเกิดวิกฤตการเงินเสมอไป แต่อาจจะต้องคำนึงถึงขนาดที่เป็นบวกของวัฏจักรนั้นประกอบด้วย เช่นในปัจจุบัน วัฏจักรการเงินของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดในช่วงปี 2559 มาแล้ว แต่ระดับจุดสูงสุดนั้นยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 2540 และยังไม่มีสัญญาณอื่นบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าจะเกิดวิกฤตการเงินขึ้นดังเช่นในอดีต นอกจากนั้นเราเริ่มเห็นวัฏจักรการเงินปรับทิศทางเป็นขาลง เนื่องจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อและราคาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันลดต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนหน้ามาก ทั้งนี้อาจเป็นผลจากประสบการณ์ในอดีต ที่ทำให้ธนาคารต่าง ๆ มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้นด้วย

จากเส้นวัฏจักรการเงินข้างต้น พอสรุปได้ว่าเสถียรภาพระบบการเงินไทยในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องติดตามความเสี่ยงเฉพาะจุดที่วัฏจักรการเงินนี้ไม่สามารถชี้วัดได้ เช่น ปัญหาหนี้สินในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย หรือความเสี่ยงที่เกิดจากสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งอาจพิจารณาวัฏจักรการเงินนี้ร่วมกับเครื่องชี้วัดความเสี่ยงเฉพาะด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านต่างประเทศ ธุรกิจ ครัวเรือน อสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงิน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย ซึ่งจัดทำโดย ธปท.) เพื่อช่วยให้การประเมินความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินเป็นไปอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าแม้เครื่องชี้วัฏจักรการเงินนี้สามารถสะท้อนระดับเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งบ่งชี้การเกิดวิกฤตการเงินในอดีตได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะกำหนดระดับ (threshold) ของวัฏจักรการเงินเพื่อทำนายการเกิดวิกฤตการเงินในอนาคตนั้นยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากวิกฤตการเงินในอดีตของไทยเกิดขึ้นไม่บ่อย ทำให้เรามีข้อมูลของรอบวัฏจักรการเงินที่น้อยและยากต่อการวิเคราะห์

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันการเงิน หน่วยงานที่กำกับดูแล รวมทั้งรัฐบาล จะต้องช่วยกันกำกับดูแลให้ระบบการเงินไทยมีความเข้มแข็ง สามารถที่จะรับแรงกดดันต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาได้ เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนต่อไป

โดย... 

โสภณ ธัญญาเวชกิจ

บวรวิชญ์ จินดารักษ์

ธนาคารแห่งประเทศไทย