นวัตกรรม สำคัญที่คน

นวัตกรรม สำคัญที่คน

นยุคประเทศไทย 4.0 นี้ คำว่า “นวัตกรรม” กลายเป็นคำยอดฮิตที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กร ผู้นำในระดับต่างๆ

ล้วนแต่อยากจะเห็นองค์กรของตนเองเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมกันทั้งสิ้น ได้มีโอกาสฟังผู้บริหารทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กรต่างพูดถึงความสำคัญของนวัตกรรมและอยากจะเห็นหน่วยงานของตนมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการพูดของผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น การที่จะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมได้ จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญอีกหลายประการนอกเหนือจากเพียงแค่ความมุ่งมั่นหรือตั้งใจของผู้บริหารเท่านั้น

สิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากการที่บุคลากรกล้าและพร้อมที่จะทดลองในสิ่งใหม่ๆ และการที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ได้นั้น ก็จะต้องมาจากความกล้าที่จะลองผิดลองถูก พร้อมกันนี้ระบบขององค์กรก็ต้องพร้อมและเปิดโอกาสให้บุคลกรได้ลองผิดลองถูก เพราะกว่าที่นวัตกรรมเจ๋งๆ จะเกิดขึ้นได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าทำครั้งเดียวแล้วจะถูกและสำเร็จ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรใหญ่ๆ ที่มีระบบที่ดี หรือ หน่วยราชการต่างๆ ก็คือ ระบบนั้นไม่ได้เอื้อต่อให้บุคลากรลองผิดลองถูกแต่อย่างใด

เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีระบบต่างๆ เข้ามาจับมากขึ้น กระบวนการในการตรวจสอบและกำกับก็มากขึ้นไปด้วย การตรวจสอบและกำกับนั้นก็เป็นสิ่งที่ดีในเชิงของการป้องกันต่อความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็กลายเป็นอุปสรรคที่ไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และการสนับสนุนให้บุคลการได้ลองผิดลองถูก ในหลายองค์กรระบบที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นให้เกิดความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ แต่เป็นการสร้างระบบขึ้นมาเพื่อคอยกำกับ ตรวจสอบ ติดตาม เนื่องจากเกรงว่าบุคลากรจะทำผิดพลาด

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องของระบบที่ไม่เกื้อหนุนแล้ว ผู้บริหารจำนวนหนึ่งมักจะชอบคิดว่า เพียงแค่การพูดเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของนวัตกรรม หรือการนำดิจิทัลเทคโนโลยีหรือแอพใหม่ๆ เข้ามาใช้ภายในองค์กร หรือ การมีระบบที่ทำให้มีอภิมหาข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ จะช่วยทำให้เกิดนวัตกรรมได้แต่นวัตกรรมจะต้องมาจากบุคลากรภายในองค์กรเป็นสำคัญ

การที่ผู้บริหารและองค์กรเน้นในเรื่องนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าบุคลากรภายในองค์กรไม่ได้มีความเห็นหรือความรู้สึกร่วม ก็ยากที่จะทำให้บุคลากรสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาได้ สาเหตุที่บุคลากรยังขาดอารมณ์ร่วมในเรื่องนวัตกรรมก็อาจจะมาจากพื้นฐานของการบริหารคนภายในองค์กรเลย เช่น บุคลากรขาดแรงจูงใจในเรื่องนวัตกรรม ในบางองค์กรบุคลากรอาจจะมีความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากองค์กรหรือผู้บริหารอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นต่อให้ผู้บริหารให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพียงใด ความสำคัญของนวัตกรรมในมุมมองของบุคลากรก็อาจจะอยู่ในลำดับที่ต่ำได้

ตัวอย่างของการทำให้บุคลากรเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งใหม่ๆ นั้นสามารถดูตัวอย่างได้จากแนวคิดเรื่องของ Blue Ocean นั้น ซึ่งได้ระบุไว้เลยว่าการจะสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้เรื่องของคนหรือ humanness เป็นเรื่องที่สำคัญและภายใต้ humanness นั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือเรื่องของ fair process โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมมองของบุคลากร ซึ่งการจะทำให้เกิด fair process ได้นั้น ก็มีองค์ประกอบที่สำคัญสามประการ ได้แก่ Engagement ที่ทำให้บุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ Explanation หรือการอธิบายให้ชัดเจนว่าถึงเบื้องหลังและสาเหตุของการตัดสินใจเลือกในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และ Clear Expectation ที่ทำให้บุคลากรเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนว่าตนเองจะต้องเผชิญกับสิ่งใด และองค์กรคาดหวังสิ่งใดจากตนบ้าง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่เพียงนโยบายจากผู้บริหารระดับสูง หรือ การใส่งบประมาณ หรือ การลงทุนด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการที่จะทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้น และองค์ประกอบเหล่านั้นสุดท้ายก็กลับมาที่เรื่องของคน